ทะเลหมอกหยุนไหล เวลาความสุขที่เมืองปาย
ภาพทะเลหมอกสีขาว ให้ความรู้สึกราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ คงเป็นสิ่งที่ใครๆ อยากจะพบ “นายรอบรู้” เองก็เหมือนกัน
เสียงซึง สะล้อ บรรเลงดังแว่วหวานอยู่ตั้งแต่เรามาถึงหน้าวัด มองเข้าไปถึงเห็นตูบ หรือกระท่อมเล็กๆ ที่มีพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยหลายคนเล่นดนตรีบรรเลงอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ มองเห็นวิหารไทลื้อขนาดใหญ่ อยู่ด้านหลัง นั่นหมายความว่า เราเดินทางมาถึงถิ่นไทลื้อวัดหนองบัวแล้ว
วัดหนองบัวเป็นวัดไทลื้อเก่าแก่ เดิมอยู่ริมหนองบัวท้ายหมู่บ้าน ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2145 จึงย้ายมาอยู่บริเวณนี้ กรมศิลปากรประกาศให้เป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2538 เนื่องจากมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมไทลื้อ และภายในยังมีจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว
บริเวณภายนอกที่ร่มรื่นไปด้วยต้นลำไยอายุกว่าร้อยปี ปรากฏมอส เฟิน กล้วยไม้ปกคลุมลำต้นอย่างสวยงาม จะมองเห็นสิงห์ปูนปั้นสองตัวยืนอยู่หน้าวิหาร ซึ่งเป็นวิหารปูน หลังคาทรงจั่วลดสองชั้น แต่ละชั้นมีผืนหลังคาสองตับ บริเวณหน้าบันหรือหน้าแหนบ ซึ่งเป็นแผ่นไม้กรุปิดโครงหลังคา ด้านล่างตกแต่งด้วยไม้แกะสลักรูปดอกลอย ลวดลายดั้งเดิมของไทลื้อ ส่วนด้านบนเป็นปะกนลูกฟัก ตกแต่งลายดอกประจำยามติดกระจกสี
บริเวณหลังคาประดับปูนปั้นรูปสัตว์ บนสุดมีรูปปูนปั้นตัวนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีหัวเป็นช้างหางเป็นหงส์ เป็นพาหนะของผู้มีบุญ แทนช่อฟ้าของภาคกลาง ต่ำลงมาเป็นรูปนาคแต่ทรงปากงุ้มคล้ายนก บริเวณหางหงส์ทำเป็นรูปเศียรนาคมีลำตัวทอดยาวขึ้นไปจนถึงสันหลังคา น่าชม
ลักษณะนี้ยังปรากฏอยู่บนช่อฟ้า หลังคา และหน้าบันโบสถ์ขนาดเล็กๆ ที่อยู่ด้านข้าง บริเวณหน้าบันเป็นลวดลายพรรณพฤกษาแกะจากไม้อย่างสวยงาม โดยปกติแล้วโบสถ์ในภาคเหนือจะเปิดใช้เฉพาะทำการอุปสมบท และไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไป บางแห่งไม่อนุญาตให้ฆราวาสเข้าไปด้วย (เหตุใดจึงห้ามผู้หญิงเข้าศาสนสถาน..อ่านได้ที่นี่)
ส่วนวิหารนั้นเปิดให้ใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนาได้ตลอด
ภายในวิหารวัดหนองบัว ประดิษฐานพระประธานศิลปะล้านนา สีทองอร่าม ด้านข้างซ้ายมีธรรมมาสน์ไม้เก่าแก่ บริเวณด้านหลังมีภาพวาดอดีตพระพุทธเจ้า ส่วนผนังอีกสามด้านนั้นมีภาพจิตรกรรมเขียนอยู่เต็มโดยรอบ นักวิชาการสันนิษฐานว่าเขียนโดย “หนานบัวผัน” ซึ่งเมื่อเขียนภาพที่วัดนี้สำเร็จแล้ว ต่อมาจึงได้ไปเขียนภาพ “ปู่ม่านย่าม่าน” และภาพ จิตรกรรมอื่นๆ ที่วัดภูมินทร์ในตัวจังหวัด
การชมจิตรกรรมฝาผนังให้สนุกนั้น ต้องรู้จัก “เรื่องราว” และแง่มุมที่แอบแฝงอยู่ในภาพเขียน ซึ่งจะสะท้อนทั้งภาพวิถีชีวิต ภูมิปัญญา สังคม วัฒนธรรมในขณะนั้นๆ
สำหรับภาพในวัดหนองบัวนั้น จะวาดเป็นพุทธประวัติและชาดก แต่พระพุทธประวัติมีที่โดดเด่นงดงามมาก อยู่บริเวณด้านบนของผนังด้านตะวันออกเหนือประตูทางเข้า เป็นภาพพระอินทร์มาดีดพิณสามสายถวายพระพุทธเจ้า สื่อว่าสายที่ตึงเกินไปย่อมขาด หย่อนเกินไปย่อมไร้เสียง สายที่ขึงตึงพอดีเท่านั้นจึงบรรเลงเพลงได้ไพเราะ พระพุทธองค์สดับดังนั้นจึงเกิดพระโพธิญาณ ตระหนักถึงทางสายกลาง ยุติการบำเพ็ญทุกรกิริยา และตรัสรู้ในกาลต่อมา
ส่วนชาดกนั้นเป็นเรื่อง “จันทคาธ” เป็นชาดกในหนังสือ ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค คนเหนือเรียกว่า ค่าวธรรมจันทคาธปูจี่ เป็นเรื่องยาว มีรัก โศก สนุกสนาน นิยมสอนให้ลูกหลานเอาแบบอย่าง มีทั้งความกตัญญูกตเวที ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์สุจริต จนถึงการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ภาพเริ่มจากบริเวณผนังด้านซ้ายพระประธาน ซึ่งลบเลือนพอสมควร เล่าเรื่องเมืองจัมปากนครที่เกิดทุพภิกขภัย ในเมืองมี เด็กชายสองคน หนึ่งเกิดในยามอาทิตย์ดับ หนึ่งเกิดยามราหูอมจันทร์ จึงได้ชื่อว่า สุริยคาธกับจันทคาธ สองพี่น้องยากจน วันหนึ่งจับปูมาได้สี่ตัว พี่ชายนำปูมาจี่ (ย่าง) ให้น้องกินไปตัวหนึ่ง น้องไม่อิ่ม จึงแอบกินปูหมดไปทั้งสี่ตัว พอพ่อแม่มาทราบเรื่อง เกิดโมโห จึงไล่ตี หนีระหกระเหินมาถึงกลางป่า
พระอินทร์กับวิษณุกรรมเทพบุตร จึงจำแลงร่างเป็น งูกัดกับพังพอน เมื่อฝ่ายหนึ่งตายก็นำสมุนไพรมาพ่นใส่ ก็ฟื้นขึ้นมาสู้กันต่อได้ สุริยคาธ เห็นดังนั้นจึงเก็บยาวิเศษไว้ จากนั้นได้รอนแรมมาถึงเมืองกาสี พระราชธิดาเมืองกาสีชื่อนางสุชาตดึงสาถูกงูกัดตาย สุริยคาธอาสาแก้ไขจนนางฟื้น และได้อภิเษกกับนางและครองเมืองกาสีสืบมา
ส่วนจันทคาธก็ได้เดินทางต่อและได้ช่วยเหลือผู้คนอีกมากมายจนไปถึงเมืองอินทปัตถ์ โดยปรากฏภาพอยู่ บริเวณผนังด้านทิศตะวันออกด้านล่างภาพเขียนพระพุทธเจ้าตรงข้ามกับพระประธาน เมื่อจันทคาธเดินทางไปถึงเมืองอินทปัตถ์ ได้รักษานางเทวธิสังกา พระราชธิดาซึ่งตายเพราะโดนเขี้ยวเสือ (ภาพบริเวณนี้ลบเลือนไปมากแล้ว) ต่อมาจันทคาธคิดถึงบิดามารดา จึงประทับเรือสำเภาพร้อมพระชายาจะไปยังเมืองกาสี แต่โดนพายุเรือแตกพัดพรากจากกัน
นางเทวธิสังกาถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง แล้วเดินผ่านป่าจนไปเจอกับนางปริสุทธิที่บ้านป่าแห่งหนึ่ง จึงได้ขออาศัยอยู่ด้วย
ฝ่ายจันทคาธ เมื่อขึ้นฝั่งแล้ว ก็พยายามตามหานางเทวธิสังกา ระหว่างทางได้ช่วยฟื้นชีวิตพญานาค และวิทยาธร ได้รับของวิเศษหลายอย่าง
ในผนังเดียวกันนี้ ยังมีภาพที่จันทคาธหลังจากรอนแรมไปหลายเมือง ก็ได้กลับมาพบกันนางเทวธิสังกาและอยู่ครองรักกันสืบมา
ซึ่งลักษณะของภาพเขียนนี้ จะสลับเรื่องไปมาไม่ได้เรียงรายเป็นเส้นตรง แต่หมุนวนกลับมาตามผนังด้านต่างๆ โดยผนังด้านทิศใต้ฝั่งขวาของพระประธาน จะต้องชมบริเวณกลางผนัง เป็นตอนต่อจากที่จันทคาธได้รับของวิเศษแล้ว ก็รอนแรมมาถึงแถบเมืองสังกัสนคร ได้ช่วยบุตรีเศรษฐี ๓ นางซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกัน คือ นางทิพโสดา ปทุมบุผผา และสุคันธเกศี โดยรอนแรมกลางป่ามาจนถึงในเมืองสังกัสนคร บิดาเศรษฐีก็ได้ยกลูกสาวทั้งสามให้อยู่ด้วยนางทั้งสามเพียงคนละเจ็ดวัน จันทคาธก็ขอออกไปตามหานางเทวธิสังกาต่อ จนได้พบกับนางพรหมจารี ที่ถูกพระสุทัสสนจักร สวามีลอยแพมา เนื่องจากพระสุทัสสนจักร ได้ยินถึงความงดงามของนางเทวธิสังกาจึงลอยแพนางพรหมจารีเสีย และเตรียมตัวไปนำนางเทวธิสังกามาเป็นมเหสี แต่นางออกบวชเป็นชี พระสุทัสสจักรจึงรอว่าหากนางสึกออกมาจะมารับตัวไป
จันทคาธจึงช่วยนางพรหมจารี ไปศึกษาวิชาการต่อสู้ และไตรเวท จากนางสุริยโยธาซึ่งเป็นมารดาเลี้ยงของนางพรหมจารี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะล้างแค้นพระสุทัสนนจักร จนสำเร็จและกลับมายังเมืองอนุราธะ ซึ่งขณะเดียวกันนั้นท้าววากาวินทะแห่งเมืองเวสาลี ได้ขอนางจากพระเจ้าธัมมขันตี พระบิดาของนางพรหมจารี แต่ทรงทราบเรื่องจากนางที่ถูกลอยแพและได้รับการช่วยเหลือจากจันทคาธ จึงจัดการอภิเษกสมรสให้
ต่อมาท้าวกาวิทนะจัดกองทัพมารบกับนางพรหมจารี โดยความช่วยเหลือจากจันทคาธ นางจึงแต่งกองทัพหญิงบริวารออกไปรบจนได้รับชัยชนะ
จันทคาธจึงขอเดินทางไปตามหานางเทวธิสังกา จนพบกันและเดินทางไปช่วยนางพรหมจารีรบกับ ท้าวสุทัสสนจักร ก็ได้รบแพ้นางพรหมจารี ถูกนางบังคับให้ตักน้ำล้างเท้า กับขนอุจจาระ ปัสสาวะ ของนาง และให้กราบเท้านางพรหมจารีทุกๆ วัน เพียงสามวัน สุทัสสนจักรก็ทนไม่ไหวตายไป
ต่อจากนี้ยังมีเรื่องราวอีกพอสมควร จนถึงชั้นลูกของจันทคาธ แต่ไม่ได้เขียนภาพไว้ ตัวละครเหล่านี้เมื่อกลับชาติมาเกิด ที่สำคัญคือ จันทคาธคือพระสมณโคดม นางเทวธิสังกา คือนางยโสธราพิมพา พระสุริยคาธคือพระสารีบุตร สุทัสสนจักรคือพระเทวทัตต์
ที่ตั้ง ต. ป่าคา อ. ท่าวังผา จ.น่าน
เปิด วิหารเปิดให้ชมทุกวัน ตั้งแต่ 07.00-17.00 น.
Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว
ภาพทะเลหมอกสีขาว ให้ความรู้สึกราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ คงเป็นสิ่งที่ใครๆ อยากจะพบ “นายรอบรู้” เองก็เหมือนกัน
เคยชมไหม ประเพณีอาบน้ำใต้แสงจันทร์?
ช่วงเทศกาลลอยกระทงที่ผ่าน “นายรอบรู้” มาเที่ยวงานลอยกระทงกันที่ชุมชนสามเรือน ต.สามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา กิจกรรมที่โดดเด่นมีทั้งล่องเรือสัมผัสวิถีชีวิตริมคลองโพธิ์ ลอยกระทงตาลปัตร และที่พลาดไม่ได้คือพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ถือเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิของชาวสามเรือน
เช้าวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2564) นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มอบตราสัญลักษณ์ SHA Plus ให้แก่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร (วัดโพธิ์) โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นผู้รับมอบ และ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร โดยมีนางสาวปุณณภา ปรีดีขนิษฐ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นผู้รับมอบ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร และศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ
หากต้องจินตนาการตัวเองเป็นองค์ประกอบในธรรมชาติ คุณจะเลือกเป็นอะไร ผมเคยอยากเป็นใบไม้ เป็นนก เคยอยากเป็นสายลม เพราะความอิสระที่ได้รับ แต่นั่นมันสมัยที่ตัวเองยังเด็ก เมื่อโตขึ้นจินตนาการเหล่านั้นกลับหลุดลอยไป “เราจะเป็นสิ่งอื่นได้อย่างไร ถ้าเรายังเป็นมนุษย์ที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำอยู่แบบนี้” ผมบอกกับตัวเองเช่นนั้น ก่อนที่ชีวิตจะรู้จักการอาบป่า
© 2018 All rights Reserved.