ประเพณีวิถีพวน บ้านหาดเสี้ยว

บรรพบุรุษชาวชุมชนบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย นั้น  สืบเชื้อสายมาจากชาวไทยพวน ซึ่งเป็นกลุ่มคนชาวลาวที่อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศชนลาว เข้ามาประเทศไทยทางจังหวัดน่าน ผ่านจังหวัดแพร่และอุตรดิตถ์ มุ่งหน้าสู่เมืองสวรรคโลก

แต่เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณบ้านหาดเสี้ยว ชาวไทยพวนได้เล็งเห็นความเหมาะสมทางด้านภูมิประเทศบริเวณบ้านหาดเสี้ยว จึงตัดสินใจปลูกบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำยม สร้างวัดและหาที่ดินประกอบอาชีพกสิกรรม

ที่แห่งนี้จึงกลายเป็นชุมชนไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วิถีชีวิตของคนที่นี่ยังคงยึดถือปฏิบัติตามธรรมเนียมโบราณที่มีมาตั้งแต่ก่อนอพยพมายังบ้านหาดเสี้ยว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เมื่อว่างจากงานชาวชุมชนบ้านหาดเสี้ยวจะถือสโลแกนว่า “หญิงทอผ้า ชายตีเหล็ก” ทำกันเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ค้ำจุนครอบครัวอีกหนทางหนึ่ง

ส่วนประเพณีต่างๆ ในปัจจุบันยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวไว้อย่างดี ซึ่งบางประเพณีจะมีเฉพาะที่บ้านหาดเสี้ยวเท่านั้น

ประเพณีแห่ช้างบวชนาค

ประเพณีนาคขี่ช้างเป็นประเพณีการบวชหมู่ของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว จัดขึ้นในวันที่ 7 เมษายนของทุกปี

มีที่มาจากวันที่พระเวชสันดรประสูติ ทรงได้รับช้างเผือกสำคัญชื่อ “ปัจจัยนาเคนทร์” ซึ่งสามารถบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล  อีกทั้งก่อนที่พระองค์จะทรงออกผนวชยังได้ทำทานใหญ่ด้วยการให้ช้างปัจจัยนาเคนทร์นี้แก่ชาวเมืองอื่น ชาวไทยพวนเชื่อในเรื่องอานิสงส์แห่งบุญ จึงให้ลูกหลานที่จะบวชในปีเดียวกันมาบวชพร้อมกัน และให้ขี่ช้างเพื่อความเป็นมงคล

บวชเป็นพระเรียก “จ้าวหัว” บวชเป็นเณรเรียก “จั่วอ้าย”

ก่อนเข้าสู่พิธี ช้างที่มาร่วมขบวนจะตกแต่งด้วยผ้าลาดช้างและผ้าคลุมหัวช้างที่จกเป็นลายแตกต่างกัน และวาดลวดลายบริเวณลำตัวอย่างสวยงาม  

ส่วนนาคจะแต่งตัวนุ่งผ้าขาวหรือผ้าม่วงสีต่างๆ แล้วห่มสไบสีคลุมทับ แต่งหน้าทาแป้งให้เข้ม ใส่เครื่องประดับของมีค่าต่างๆ ได้แก่ สร้อยทอง เข็มขัดนาค แหวน บนศีรษะสวมเทริดประดับดอกไม้กระดาษ ทำเป็นหางนาคโค้งไปด้านหลัง พร้อมทั้งสวมแว่นตาดำ

เมื่อนาคเข้าทำพิธีและขึ้นนั่งบนคอช้างแล้วจะต้องพนมมือถือธูป เทียน ดอกไม้สด และไม้แกะสลักรูปหัวนาคกับแผ่นไม้หรือกระดาษลายเขียน เรียกว่า “สักกัจจัง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเคารพนบน้อม หรือขอขมาผู้หลักผู้ใหญ่นั่นเอง

การจัดขบวนแห่นั้นจะนำด้วยขบวนรำ ขบวนแตรวงหรือกลองยาว ตามด้วยขบวนถือเทียนเอก กรวยอุปัชฌาย์ ผ้าไตร อัฐบริขาร เครื่องไทยทาน และปิดด้วยขบวนช้าง เริ่มแห่ตั้งแต่วัดหาดเสี้ยวไปทางตลาดใต้ (ตลาดสดเทศบาลตำบลหาดเสี้ยว) แล้วอ้อมมายังตลาดเหนือ (ตลาดสินค้าทางการเกษตร) ก่อนจะนำช้างลงเล่นน้ำในแม่น้ำยม และพานาคไปพักผ่อนที่บ้านของนาค

ประเพณีนี้ถือเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาอย่างยาวนานและสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้คนในชุมชนบ้านหาดเสี้ยวเกิดความรักใคร่ สามัคคีกันในชุมชนอีกด้วย 

หากใครที่มีเวลาว่าง หรือยังไม่มีจุดหมายในวันก่อนวันสงกรานต์นี้ ก็อยากจะเชิญชวนให้มาลองสัมผัสถึงประเพณีที่งดงาม น่าประทับใจ ในประเพณีแห่ช้างบวชนาคบ้านหาดเสี้ยว สักครั้งหนึ่งในชีวิต

ประเพณีกำฟ้า และเล่น “นางกวัก”

ประเพณีกำฟ้าหมายถึง การหยุดทำงานใดๆ ในเดือน วัน และเวลากำฟ้า ซึ่งเป็นช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว (เดือนสาม)

เมื่อเสร็จจากการทำไร่ทำนาแล้ว ชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวจะมารวมตัวเพื่อชุมนุมพูดคุยกัน เด็กเล็กและหนุ่มสาวจะมาพบปะกัน เล่นหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน รวมทั้งมีการละเล่นท้องถิ่นต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะชาวไทยพวน และในตอนกลางคืนยังมีการละเล่นทรงเจ้าเข้าผีอีกด้วย

“นางกวัก” เป็นหนึ่งการละเล่นทรงเจ้าเข้าผีของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนจะทำหน้าที่จับตัวนางกวักไว้ และมีวัยรุ่นหนุ่มสาวในชุมชนนั่งล้อมรอบนางกวักเพื่อร้องเพลงนางกวักเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษ หรือเทวดา นางฟ้าองค์ต่างๆ ให้มาลงที่กวัก โดยมีของเซ่นไหว้เป็นเครื่องแต่งหน้า หรือเครื่องเสริมสวยวางไว้ใต้ต้นไม้บริเวณใกล้เคียงและพาดไม้ไผ่ไว้กับต้นไม้เพื่อเป็นสะพานให้วิญญาณลงมายังโลกมนุษย์

หากมีวิญญาณลงมาประทับแล้ว ตัวนางกวักที่ทำจากกวักพันด้าย เสียบไม้รวกไว้กลางลำตัวทำเป็นแขน จะแกว่งไปมาอย่างรุนแรง และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ผู้คนจะเปลี่ยนมาร้องเพลงจังหวะสนุกสนานให้นางกวักเต้นหรือรำวง

เมื่อร้องเพลงจบก็จะเริ่มพุดคุยกับนางกวักเพื่อถามไถ่เรื่องทั่วไป เช่น ชื่ออะไร มาจากที่ไหน สบายดีไหม

หากเป็นวัยรุ่นก็อาจจะถามหยอกล้อกันในวงว่าเนื้อคู่เป็นใคร หรือหวยงวดหน้าออกอะไร เป็นต้น

นางกวักจะใช้แขนเขียนคำตอบลงกับพื้น ซึ่งส่วนใหญ่นิยมเททรายบริเวณที่จะเล่นเพื่อให้อ่านข้อความได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ปัจจุบันการเล่นนางกวักมีแค่ที่เดียวเท่านั้นในจังหวัดสุโขทัย

สำหรับใครที่ชื่นชอบในเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติก็สามารถมาพิสูจน์ด้วยตาตนเองได้ที่ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เฉพาะช่วงเดือนกำฟ้าเท่านั้น

 

โครงการกล้าใหม่…ใฝ่รู้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เสริมสร้างเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Writer/ Photographer

นิตยสาร สินสวรรค์

นิตยสาร สินสวรรค์

โรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา จังหวัดสุโขทัย

Relate Place

Travel

5 อาหารเด็ดที่ห้ามพลาดในตลาดเช้าทับปุด จ. พังงา

เสียงไก่ขันในโทรศัพท์ปลุกให้ลุกขึ้นมาชื่นชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ หยิบ รองเท้ามาสวมให้กระชับ ผูกเชือกให้แน่นพร้อมที่จะออกไปสัมผัสอากาศสดชื่น และไม่พลาดที่จะแวะมา “ตลาดเช้าเทศบาลตำบลทับปุด” เพื่อเติมพลังด้วยมื้อเช้า

Travel

ขมิ้นดี เครื่องแกงดี ที่บ้านเขาตำหนอน ทับปุด พังงา

บ้านเขาตำหนอน ตำบลถ้ำทองหลาง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพังงาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีขมิ้นที่ขึ้นชื่อ เป็นที่ยอมรับถึงความมีคุณภาพและปลอดภัยไร้สารเคมี

Eat

คุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ เจ้าของร้านไอศกรีมรสไทยที่ลูกพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเสวย

ท่ามกลางความร้อนของอากาศในกรุงเทพมหานคร มีร้านไอศกรีมรสชาติไทยๆ ซ่อนอยู่ในตึกแถวเล็กๆ ในชุมชนแพร่งภูธร ที่นี่คือร้านไอศกรีมที่ทำให้เราได้รู้จักกับคุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแพร่งภูธร”

Travel

ศาสตร์ภูมินทร์ สินสุโขทัย โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย

หากท่านต้องการเดินทางมาเยือนสวรรคโลก แต่ไม่ต้องการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟ อย่าวิตกกังวลไปครับ เพราะสวรรคโลกมีสนามบินและเที่ยวบิน บินตรงจากบางกอกสู่เมืองสวรรค์แห่งนี้ ที่พร้อมให้บริการผู้ที่ต้องการมาเยือนอย่างสะดวกสบาย