จิตรกรรมฝาผนังเอกลักษณ์น่าน วัดหนองบัว

เสียงซึง สะล้อ บรรเลงดังแว่วหวานอยู่ตั้งแต่เรามาถึงหน้าวัด มองเข้าไปถึงเห็นตูบ หรือกระท่อมเล็กๆ ที่มีพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยหลายคนเล่นดนตรีบรรเลงอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่  มองเห็นวิหารไทลื้อขนาดใหญ่ อยู่ด้านหลัง นั่นหมายความว่า เราเดินทางมาถึงถิ่นไทลื้อวัดหนองบัวแล้ว

วัดหนองบัวเป็นวัดไทลื้อเก่าแก่ เดิมอยู่ริมหนองบัวท้ายหมู่บ้าน  ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2145 จึงย้ายมาอยู่บริเวณนี้  กรมศิลปากรประกาศให้เป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2538  เนื่องจากมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมไทลื้อ และภายในยังมีจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว

วัดหนองบัว-A
พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย คณะหนองบัวบาน บรรเลงดนตรีพื้นเมือง
ด้านหน้าวิหารมีสิงห์สองตัวยืนเฝ้า หน้าบันเป็นลวดลายแกะสลักแบบไทลื้อ
ด้านช้างวิหารวัดหนองบัว สถาปัตยกรรมแบบไทลื้อ

บริเวณภายนอกที่ร่มรื่นไปด้วยต้นลำไยอายุกว่าร้อยปี ปรากฏมอส เฟิน กล้วยไม้ปกคลุมลำต้นอย่างสวยงาม จะมองเห็นสิงห์ปูนปั้นสองตัวยืนอยู่หน้าวิหาร  ซึ่งเป็นวิหารปูน หลังคาทรงจั่วลดสองชั้น แต่ละชั้นมีผืนหลังคาสองตับ บริเวณหน้าบันหรือหน้าแหนบ ซึ่งเป็นแผ่นไม้กรุปิดโครงหลังคา ด้านล่างตกแต่งด้วยไม้แกะสลักรูปดอกลอย ลวดลายดั้งเดิมของไทลื้อ ส่วนด้านบนเป็นปะกนลูกฟัก ตกแต่งลายดอกประจำยามติดกระจกสี

บริเวณช่อฟ้าด้านหน้าเป็นรุปนาคที่ปากเหมือนครุฑ บริเวณหางหงส์แบบภาคกลางทำเป็นหัวนาค ลำตัวเป็นสันขึ้นไปถึงช่อฟ้า
ช่อฟ้าเป็นปูนปั้นรูปนกหัสดีลิงค์ นกยักษ์ที่มีหัวเป็นช้าง หางเป็นหงส์

บริเวณหลังคาประดับปูนปั้นรูปสัตว์  บนสุดมีรูปปูนปั้นตัวนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีหัวเป็นช้างหางเป็นหงส์ เป็นพาหนะของผู้มีบุญ แทนช่อฟ้าของภาคกลาง ต่ำลงมาเป็นรูปนาคแต่ทรงปากงุ้มคล้ายนก  บริเวณหางหงส์ทำเป็นรูปเศียรนาคมีลำตัวทอดยาวขึ้นไปจนถึงสันหลังคา  น่าชม

วัดหนองบัว-B1
โบสถ์มีขนาดเล็ก หน้าบันเป็นรูปลายเครือเถา
โบสถ์มีขนาดเล็ก หน้าบันเป็นรูปลายเครือเถา
หน้าประตูโบถส์ มีลายปูนปั้นพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย ล้อมรอบด้วยลวดลายระบายสีแบบพื้นบ้าน ดูสวยงาม

ลักษณะนี้ยังปรากฏอยู่บนช่อฟ้า หลังคา และหน้าบันโบสถ์ขนาดเล็กๆ  ที่อยู่ด้านข้าง บริเวณหน้าบันเป็นลวดลายพรรณพฤกษาแกะจากไม้อย่างสวยงาม  โดยปกติแล้วโบสถ์ในภาคเหนือจะเปิดใช้เฉพาะทำการอุปสมบท และไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไป บางแห่งไม่อนุญาตให้ฆราวาสเข้าไปด้วย  (เหตุใดจึงห้ามผู้หญิงเข้าศาสนสถาน..อ่านได้ที่นี่)

วัดหนองบัว-C1
พระเจ้าหลวง หรือพระประธานในวิหารวัดหนองบัว ด้านหลังมีจิตรกรรมภาพอดีตพระพุทธเจ้าสี่พระองค์
พระเจ้าหลวง
กรวยดอกไม้ หรือสวยดอก ใช้บูชาพระ วางอยู่หน้าวิหาร ในรูปเป็นดอกพุ่มเงิน
วัดหนองบัว-C4
เสาวิหารทำด้วยไม้ ด้านบนเป็นหัวบัว บริเวณคอสองเคยมีภาพพระพุทธเจ้าแต่เลือนไปมากแล้ว

ส่วนวิหารนั้นเปิดให้ใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนาได้ตลอด

ภายในวิหารวัดหนองบัว  ประดิษฐานพระประธานศิลปะล้านนา สีทองอร่าม ด้านข้างซ้ายมีธรรมมาสน์ไม้เก่าแก่ บริเวณด้านหลังมีภาพวาดอดีตพระพุทธเจ้า ส่วนผนังอีกสามด้านนั้นมีภาพจิตรกรรมเขียนอยู่เต็มโดยรอบ นักวิชาการสันนิษฐานว่าเขียนโดย “หนานบัวผัน”  ซึ่งเมื่อเขียนภาพที่วัดนี้สำเร็จแล้ว ต่อมาจึงได้ไปเขียนภาพ “ปู่ม่านย่าม่าน” และภาพ จิตรกรรมอื่นๆ ที่วัดภูมินทร์ในตัวจังหวัด

วัดหนองบัว-C7
เดิมเสาไม้ด้านล่าง จะเขียนลายรดน้ำ หรือที่ทางเหนือเรียกว่า ลายคำ คั้นด้วยแก้วอังวะ หรือกระจกพม่า ด้านบนเสาทาสีแดงด้วยชาด
วัดหนองบัว-C8
ภาพจิตรกรรม นักวิชาการศิลปะบางท่านว่าเป็นภาพเทวดา แต่บางท่านว่าเป็นภาพพระพุทธเจ้าทรงเครื่องแบบกษัตริย์
พระสงฆ์ขนาดเท่าคนจริงและแม่ชีให้อาหารแมว ภาพที่คล้ายกันกับภาพนี้ปรากฏอยูในจิตกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ด้วย นักวิชาการจึงเชื่อว่า ภาพเขียนของทั้งสองวัดเป็นฝีมือของศิลปินคนเดียวกัน รวมถึงภาพอื่นๆ ที่มีลักษณะการวาดคล้ายคลึงกัน
ผนังตรงข้ามพระประธาน ด้านบนเป็นพุทธประวัติ ตอนพระอินทร์ดีดพิณถวายพระพุทธเจ้า ส่วนด้านล่างเป็นชาดกเรื่อง “จันทคาธ”
วัดหนองบัว-D
พ่ออุ๊ยสว่าง ภิมาลย์ วัย ๗๒ ปี มักประจำอยู่ในวิหาร ใครสนใจเรื่องราวแบบละเอียดสามารถให้พ่ออุ๊ยเล่าให้ฟังได้

จันทคาธปูจี่ กับสิ่งที่ซ่อนไว้ในจิตรกรรม

การชมจิตรกรรมฝาผนังให้สนุกนั้น  ต้องรู้จัก “เรื่องราว” และแง่มุมที่แอบแฝงอยู่ในภาพเขียน  ซึ่งจะสะท้อนทั้งภาพวิถีชีวิต ภูมิปัญญา สังคม วัฒนธรรมในขณะนั้นๆ

สำหรับภาพในวัดหนองบัวนั้น จะวาดเป็นพุทธประวัติและชาดก  แต่พระพุทธประวัติมีที่โดดเด่นงดงามมาก อยู่บริเวณด้านบนของผนังด้านตะวันออกเหนือประตูทางเข้า เป็นภาพพระอินทร์มาดีดพิณสามสายถวายพระพุทธเจ้า สื่อว่าสายที่ตึงเกินไปย่อมขาด หย่อนเกินไปย่อมไร้เสียง สายที่ขึงตึงพอดีเท่านั้นจึงบรรเลงเพลงได้ไพเราะ  พระพุทธองค์สดับดังนั้นจึงเกิดพระโพธิญาณ ตระหนักถึงทางสายกลาง ยุติการบำเพ็ญทุกรกิริยา และตรัสรู้ในกาลต่อมา

ส่วนชาดกนั้นเป็นเรื่อง  “จันทคาธ” เป็นชาดกในหนังสือ ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค คนเหนือเรียกว่า ค่าวธรรมจันทคาธปูจี่ เป็นเรื่องยาว มีรัก โศก สนุกสนาน นิยมสอนให้ลูกหลานเอาแบบอย่าง มีทั้งความกตัญญูกตเวที  ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์สุจริต จนถึงการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

จิตรกรรมวัดหนองบัว---จันทคาธชาดก-A
ภาพสุริยคาธและจันทคาธ ดูงูกับพังพอนกัดกัน และใช้ยาทำให้ฟื้นหลายรอบ อยู่บริเวณผนังด้านทิศเหนือ ซึ่งยังคงความคมชัด
สองพี่น้องผจญภัยไปตามเมืองต่างๆ จนได้ข่าวนางสุชาตดึงสา โดนงูกัดตาย
ภาพภายในวังของเมืองกาสี สภาพลบเลือนไปพอสมควร

ภาพเริ่มจากบริเวณผนังด้านซ้ายพระประธาน ซึ่งลบเลือนพอสมควร เล่าเรื่องเมืองจัมปากนครที่เกิดทุพภิกขภัย ในเมืองมี เด็กชายสองคน หนึ่งเกิดในยามอาทิตย์ดับ หนึ่งเกิดยามราหูอมจันทร์  จึงได้ชื่อว่า สุริยคาธกับจันทคาธ สองพี่น้องยากจน  วันหนึ่งจับปูมาได้สี่ตัว พี่ชายนำปูมาจี่ (ย่าง) ให้น้องกินไปตัวหนึ่ง น้องไม่อิ่ม จึงแอบกินปูหมดไปทั้งสี่ตัว  พอพ่อแม่มาทราบเรื่อง เกิดโมโห จึงไล่ตี หนีระหกระเหินมาถึงกลางป่า 

จิตรกรรมวัดหนองบัว---จันทคาธชาดก-B1
ที่น่าสนใจในภาพคือวงปี่พาทย์ จะเห็นว่ามีทั้งระนาดและฆ้องวง โดยปกติแล้วดนตรีทางเหนือจะไม่มีเครื่องดนตรีชิ้นนี้ นักวิชาการสันนิษฐานว่าช่างเขียนได้รับอิทธิพลจากภาคกลาง
ขบวนแห่ทางด้านล่าง จะเห็นว่าชุดแต่งกายเป้นการนุ่งผ้าม่วง สวมหมวก มีทหารฝรั่งใส่กางเกงขายาวถือปืน ตรงกลางเป็นการพักขบวนจัดวางปืน และอื่นๆ แลเห็นตัวเอกใส่ชุดแบบกษัตริย์ ซึ่งเป็น สุริยคาธ ที่ได้ครองเมืองกาสี โดยภาพบนเป็นตอนที่นางสุชาตดึงสาถูกงูกัดตาย
ภาพนี้นอกเหนือจากชุดแต่งกายที่งดงามแล้ว ช่างเขียนยังวาดอาการต่างๆ ของนางกำนัล บ้างก็ทำหน้าตกใจ บ้างก็แสดงอาการร้องไห้

พระอินทร์กับวิษณุกรรมเทพบุตร จึงจำแลงร่างเป็น งูกัดกับพังพอน เมื่อฝ่ายหนึ่งตายก็นำสมุนไพรมาพ่นใส่ ก็ฟื้นขึ้นมาสู้กันต่อได้  สุริยคาธ เห็นดังนั้นจึงเก็บยาวิเศษไว้ จากนั้นได้รอนแรมมาถึงเมืองกาสี  พระราชธิดาเมืองกาสีชื่อนางสุชาตดึงสาถูกงูกัดตาย  สุริยคาธอาสาแก้ไขจนนางฟื้น และได้อภิเษกกับนางและครองเมืองกาสีสืบมา

จิตรกรรมวัดหนองบัว---จันทคาธชาดก-C
หลังจากที่จันทคาธช่วยนางเทวธิสังกาแล้ว จึงได้ครองรักกับนาง ภาพเขียนนี้อยู่ใต้ภาพพระพุทธเจ้า ซึ่งเขียนพระราชวังอย่างสวยงาม โดยบอกเล่าเรื่องราวการคลอดลูกแบบสมัยก่อนสอดแทรกไว้
ภาพที่งามอีกหนึ่งภาพ คือจะเห็นนางเทวธิสังกา จับแขนจันทคาธพร้อมชม้ายชายตา ช่างเขียนวาดได้อย่างมีชีวิตชีวามาก
ทั้งคู่ลงเรือสำเภาเพื่อไปเยี่ยมพี่ชายและบิดามารดา แต่เรือโดนพายุ ต่างคนต่างพลัดพราก จุดที่น่าชมของภาพนี้คือ ภาพนางเทวธิสังกาผลัดผ้า จะเห็นลวดลายของผ้าทออย่างชัดเจน ซึ่งช่างเขียนได้เขียนจากลายผ้าที่ชาวบ้านนุ่งห่มกันในอดีต และปรากฏอยู่แทบทุกภาพ ส่วนจันทคาธนั้นตั้งแต่บริเวณเอวลงมาถึงขาจะเห็นเป็นลายสักสีดำ ซึ่งเป็นค่านิยมของคนแถบนี้ในสมัยก่อน ถ้าชายใดไม่สักเอวสักขา เปิ้นว่าเป็นคนขลาด จะหาเมียไมได้ ส่วนสาวๆ นั้นก็ต้องทอผ้านุ่งได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้แต่งงาน
จิตรกรรมวัดหนองบัว---จันทคาธชาดก-C5
ภาพจันทคาธ ช่วยรักษาพญานาคให้ฟื้น ในภาพจะเห็นครุฑ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากครุฑทางภาคกลาง สังเกตจงอยปากและชฎาที่สวมหัว ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับช่อฟ้าบนสันหลังคา ลองดูภาพเปรียบเทียบกัน

ส่วนจันทคาธก็ได้เดินทางต่อและได้ช่วยเหลือผู้คนอีกมากมายจนไปถึงเมืองอินทปัตถ์ โดยปรากฏภาพอยู่ บริเวณผนังด้านทิศตะวันออกด้านล่างภาพเขียนพระพุทธเจ้าตรงข้ามกับพระประธาน  เมื่อจันทคาธเดินทางไปถึงเมืองอินทปัตถ์ ได้รักษานางเทวธิสังกา  พระราชธิดาซึ่งตายเพราะโดนเขี้ยวเสือ (ภาพบริเวณนี้ลบเลือนไปมากแล้ว) ต่อมาจันทคาธคิดถึงบิดามารดา จึงประทับเรือสำเภาพร้อมพระชายาจะไปยังเมืองกาสี แต่โดนพายุเรือแตกพัดพรากจากกัน

จิตรกรรมวัดหนองบัว---จันทคาธชาดก-D1
ภาพนี้อยู่บริเวณผนังด้านทิศใต้ ค่อนไปทางท้าย เวลาชมภาพจะเริ่มจากาภาพด้านล่าง ไปทางขวา แล้ววนขึ้นไปด้านบนเวียนไปทางซ้าย
ในภาพจะมีสองเหตุการณ์คือ ด้านบนเป็นธิดาเศรษฐีสามนาง พากันไปเล่นน้ำ โดนน้ำดูดไปโผล่ในถ้ำ
และได้พบกับจันทคาธ ซึ่งได้ช่วยเหลือพาออกจากถ้ำ รอนแรมไปจนเจอพรานนำทางกลับเข้าสู่เมืองสังกัสนคร

นางเทวธิสังกาถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง แล้วเดินผ่านป่าจนไปเจอกับนางปริสุทธิที่บ้านป่าแห่งหนึ่ง จึงได้ขออาศัยอยู่ด้วย

ฝ่ายจันทคาธ เมื่อขึ้นฝั่งแล้ว ก็พยายามตามหานางเทวธิสังกา  ระหว่างทางได้ช่วยฟื้นชีวิตพญานาค และวิทยาธร ได้รับของวิเศษหลายอย่าง 

ในผนังเดียวกันนี้ ยังมีภาพที่จันทคาธหลังจากรอนแรมไปหลายเมือง ก็ได้กลับมาพบกันนางเทวธิสังกาและอยู่ครองรักกันสืบมา

ซึ่งลักษณะของภาพเขียนนี้ จะสลับเรื่องไปมาไม่ได้เรียงรายเป็นเส้นตรง แต่หมุนวนกลับมาตามผนังด้านต่างๆ  โดยผนังด้านทิศใต้ฝั่งขวาของพระประธาน จะต้องชมบริเวณกลางผนัง เป็นตอนต่อจากที่จันทคาธได้รับของวิเศษแล้ว ก็รอนแรมมาถึงแถบเมืองสังกัสนคร  ได้ช่วยบุตรีเศรษฐี ๓ นางซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกัน คือ นางทิพโสดา ปทุมบุผผา และสุคันธเกศี  โดยรอนแรมกลางป่ามาจนถึงในเมืองสังกัสนคร  บิดาเศรษฐีก็ได้ยกลูกสาวทั้งสามให้อยู่ด้วยนางทั้งสามเพียงคนละเจ็ดวัน จันทคาธก็ขอออกไปตามหานางเทวธิสังกาต่อ จนได้พบกับนางพรหมจารี ที่ถูกพระสุทัสสนจักร สวามีลอยแพมา เนื่องจากพระสุทัสสนจักร ได้ยินถึงความงดงามของนางเทวธิสังกาจึงลอยแพนางพรหมจารีเสีย และเตรียมตัวไปนำนางเทวธิสังกามาเป็นมเหสี  แต่นางออกบวชเป็นชี  พระสุทัสสจักรจึงรอว่าหากนางสึกออกมาจะมารับตัวไป

จิตรกรรมวัดหนองบัว---จันทคาธชาดก-E1
อีกเหตุการณ์คือ จันทคาธไปพบกับนางพรหมจารี ที่ถูกท้าวทัสสนจักรลอยแพมา จึ่งช่วยนางเดินทางไปเรียนการต่อสู้และไตรเวทกับนางสุริโยธา
จันทคาธไปพบกับนางพรหมจารี ที่ถูกท้าวทัสสนจักรลอยแพมา จึ่งช่วยนางเดินทางไปเรียนการต่อสู้และไตรเวทกับนางสุริโยธา โดยได้แต่งกองทัพใหญ่ไพรพลมากมาย
อีกภาพที่ถือเป็นงานชิ้นเยี่ยม คือภาพนางพรหมจารีรบกับท้าวกาวินทราช โดยแต่งกองทัพหญิงมารบกับกองทัพชาย ซึ่งนักมานุษยวิทยาหลายคนเชื่อว่าเป็นการแสดงถึงระบบผู้หญิงเป็นใหญ่ในอดีต ที่ทางเหนือหรืออีสานจะมีการแต่งผู้ชายเข้ามาอยุ่ในบ้าน ส่วนตัวภาพเองก็เขียนได้อย่างสนุกสนาน นางพรหมจารีกระโดดตัวลอยใช้ดาบฟัน เป็นภาพที่ดูเหนือจริง ถัดลงมาใต้ภาพนี้ จะเป็นตอนที่จับท้าวสุทัสนนจักรได้ แต่ภาพเลือนไปมากแล้ว

จันทคาธจึงช่วยนางพรหมจารี ไปศึกษาวิชาการต่อสู้ และไตรเวท จากนางสุริยโยธาซึ่งเป็นมารดาเลี้ยงของนางพรหมจารี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะล้างแค้นพระสุทัสนนจักร  จนสำเร็จและกลับมายังเมืองอนุราธะ  ซึ่งขณะเดียวกันนั้นท้าววากาวินทะแห่งเมืองเวสาลี  ได้ขอนางจากพระเจ้าธัมมขันตี พระบิดาของนางพรหมจารี แต่ทรงทราบเรื่องจากนางที่ถูกลอยแพและได้รับการช่วยเหลือจากจันทคาธ จึงจัดการอภิเษกสมรสให้

เป็นภาพรวมเหตุการณ์หลายตอนตั้งแต่นางเทวธิสังการอนแรมมาตามป่าจนมาอยู่กับนางปริสุทธิ บวชชีเพื่อหนีท้าวสุทัศนนจักร
ส่วนที่ขยายให้ชัดเจนขึ้นจะเห็นภาพนางเทวธิสังกาหาบน้ำ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนในสมัยก่อน

ต่อมาท้าวกาวิทนะจัดกองทัพมารบกับนางพรหมจารี โดยความช่วยเหลือจากจันทคาธ นางจึงแต่งกองทัพหญิงบริวารออกไปรบจนได้รับชัยชนะ

จันทคาธจึงขอเดินทางไปตามหานางเทวธิสังกา จนพบกันและเดินทางไปช่วยนางพรหมจารีรบกับ ท้าวสุทัสสนจักร ก็ได้รบแพ้นางพรหมจารี  ถูกนางบังคับให้ตักน้ำล้างเท้า กับขนอุจจาระ ปัสสาวะ ของนาง และให้กราบเท้านางพรหมจารีทุกๆ วัน เพียงสามวัน สุทัสสนจักรก็ทนไม่ไหวตายไป

ต่อจากนี้ยังมีเรื่องราวอีกพอสมควร จนถึงชั้นลูกของจันทคาธ แต่ไม่ได้เขียนภาพไว้  ตัวละครเหล่านี้เมื่อกลับชาติมาเกิด ที่สำคัญคือ  จันทคาธคือพระสมณโคดม  นางเทวธิสังกา คือนางยโสธราพิมพา พระสุริยคาธคือพระสารีบุตร สุทัสสนจักรคือพระเทวทัตต์

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest

Info

วัดหนองบัว

ที่ตั้ง ต. ป่าคา อ. ท่าวังผา  จ.น่าน 

เปิด วิหารเปิดให้ชมทุกวัน ตั้งแต่ 07.00-17.00 น.

Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

อนุรัตน์ วัฒนาวงศ์สว่าง

อนุรัตน์ วัฒนาวงศ์สว่าง

Relate Place

Travel

เที่ยวย้อนรอยกรุงธนบุรี พระราชวังเดิม

ปลายปีนี้หากใครยังไม่มีแพลนเที่ยวไหน “นายรอบรู้” อยากชวนไปสัมผัสสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทยกัน ณ พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิม ขอบอกว่าปกติแล้วไม่ได้เข้าชมกันง่ายๆ แต่เนื่องในโอกาสพิเศษฉลองครบรอบ 250 ปี กรุงธนบุรี จึงเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรีได้ตั้งแต่วันที่ 15 ถึง 28 ธันวาคมนี้เท่านั้น พลาดแล้วไม่รู้ว่าจะมีโอกาสหน้าอีกเมื่อไร

Travel

สตรีทอาร์ต ลำปาง ปลายทางฝัน

ภาพวาดแสนน่ารักที่หลายภาพซ่อนมุกให้เราสนุกกับการเข้าไปออกแอ็กชันเป็นส่วนหนึ่งของภาพได้อย่างกลมกลืน
ส่วนอีกหลายภาพก็สอดแทรกเอกลักษณ์ของเมืองลำปางไว้อย่างลงตัว

News

ลดโลกเลอะ X รักษ์ปันสุข เปิดตัวประติมากรรมจากขวดน้ำดื่ม PET รูป “เต่ามะเฟืองแม่ลูก”

ททท.-บางจากฯ-เมืองพัทยา เปิดตัวประติมากรรมจากขวดน้ำดื่ม PET รูป “เต่ามะเฟืองแม่ลูก” ริมชายหาดพัทยา ภายใต้โครงการ “ลดโลกเลอะ X รักษ์ปันสุข” เพื่อรณรงค์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และกระตุ้นจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ลดขยะพลาสติก และหมุนเวียนนำกลับมาใช้ซ้ำ