เปิดประตู สู่ตำนาน ถิ่นโบราณ “ไทลื้อ”

วันนี้เรามีโอกาสมาเที่ยวที่ชุมชนไทลื้อ บ้านดอนมูล อ. ท่าวังผา จ. น่าน ทำให้ได้รู้จักคุณยายคำหล้า อินปา หรือแม่อุ้ยหล้า ยายหล้าบอกเราว่า

“ตอนนี้ยายอายุ 85 ปี แล้ว อยู่ที่บ้านคนเดียว ลูก หลาน ไปทำงานที่ต่างอำเภอบ้างต่างจังหวัดบ้าง ถ้ามีโอกาสก็จะมาเที่ยวหา  ยายโชคดีไม่มีโรคประจำตัว ยังไปไหนมาไหนสะดวก แต่ก็จะปวดเอว หรือนั่งพื้นไม่ค่อยได้ตามอายุของคนแก่”

ระหว่างยายหล้าพาเราเดินไปที่วัด ยายเล่าให้เราฟังว่า

“ยายเป็นคนที่นี่ตั้งแต่เกิด ไม่ได้ย้ายไปไหนเลย  สมัยก่อนแม่ของยายใกล้ชิดกับเจ้าหลวงเมืองล้า (ผู้ปกครองชาติพันธุ์ไทลื้อ) เวลาเสร็จศึกสงคราม เจ้าหลวงเมืองล้าจะเรียกหาแม่ของยายให้ไปบีบไปนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาการปวดเมื่อย”

แม่ของยายยังเล่าถึงการอพยพเชื้อสายของชาติพันธุ์ไทลื้อ (ไตลื้อ) จากแคว้นสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีเมืองเชียงรุ่งเป็นเมืองหลวง  ชาวไทลื้อนิยมตั้งบ้านเรือนตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ เคยเคลื่อนย้ายไปรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เรียกชื่อตามเมืองที่อยู่อาศัย เช่น ลื้อเชียงตุง ลื้อเมืองยอง

ลื้นค้น-1
ลื้นค้น-3

การอพยพครั้งสำคัญของชาวไทลื้อสู่ล้านนาเกิดจากการกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนา เมืองเชียงตุง เมืองยอง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 มาฟื้นฟูบ้านเมืองในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เรียกว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า (ตะกร้า) เก็บข้าใส่เมือง”  ต่อมาก็มีการเคลื่อนย้ายผู้คนตามมาภายหลังเพื่อค้าขาย ติดตามญาติพี่น้อง หาแหล่งที่ทำกินใหม่

ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อกระจายอยู่ในจังหวัดแพร่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง พะเยา ลำพูน และภาคเหนือของประเทศลาว

ในจังหวัดน่าน กลุ่มชาติพันธุ์ “ไทลื้อ” มีชุมชนชาวไทลื้อประมาณ 63 ชุมชนกระจายอยู่ใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าวังผา ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง สันติสุข และสองแคว

ชาวไทลื้อนับถือพุทธศาสนาร่วมกับความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผี โดยเฉพาะผีบ้าน ผีเรือน ผีเจ้านาย ผีอารักษ์ เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในล้านนา ดังที่ปรากฏในประเพณีพิธีกรรมสำคัญในท้องถิ่น เช่น การบวงสรวงเจ้าหลวงเมืองล้า ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี

ผ้าซิ่นไทลื้อ

ชาวไทลื้อมีการแต่งกายที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์  หญิงไทลื้อจะต้องทอผ้า และเย็บปักเสื้อผ้าไว้ใช้เอง ผู้หญิงจะโพกผ้าขาว นุ่งซิ่น สวมเสื้อแขนยาวสีน้ำเงินเข้ม และใส่สไบ ส่วนชายนิยมเสื้อสีเปิด (สีอ่อน,สีขาว) หรือสีดำ ใส่กางเกงขาก๊วย

ผ้าทอของชาวไทลื้อที่โดดเด่น คือ ผ้าซิ่นทอไทลื้อโบราณ ซึ่งแบ่งโครงสร้างเป็นจำนวน 3 ส่วน ได้แก่

1. ส่วนหัวซิ่น นิยมใช้ผ้าฝ้าย โดยทั่วไปกว้างประมาณ 1 คืบ ชาวไทลื้อเชื่อว่า “ขวัญ” จะติดอยู่ที่หัวซิ่น เวลาเปลี่ยนซิ่นผืนใหม่จะถอดหัวซิ่นผืนเดิมมาเย็บต่อกับซิ่นผืนใหม่เพื่อให้ขวัญอยู่กับตัวเหมือนเดิม

2. ส่วนตัวซิ่น เปรียบเหมือนส่วนกลางของลำตัวของคน เป็นส่วนแสดงเทคนิคต่างๆ ในการออกแบบ

3. ส่วนตีนซิ่น นิยมนำผ้าฝ้ายสีเข้มมาต่อกันเป็นผ้าผืนหรือเป็นตีนซิ่นรูปแบบต่างๆ

ลายของผ้าซิ่นเล่าถึงเรื่องราวการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวไทลื้อสิบสองปันนามาอาศัยอยู่บริเวณจังหวัดน่าน สิ่งที่พบเจอระหว่างการเดินทาง เกิดเป็นจินตนาการบนผืนผ้า

ลายเถาวัลย์ ลายผักกูด บ่งบอกถึงอาหารที่เก็บกินตามทางเพื่อประทังชีวิต  ลายเขี้ยวหมาป่า เป็นสัตว์ที่พบเจอ ลายจันทร์ดาว เปรียบเสมือนดวงจันทร์ และดวงดาวที่คอยให้แสงสว่างในยามค่ำคืน หรือลายตาแหลว และลายสักของผู้ชายสื่อถึงการคุ้มภัยอันตราย จากสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นต้น

ส่วนของตีนซิ่นมีลายบัวลอย คือดอกบัวที่ใช้ถวายพระ  แม้ความเชื่อเดิมจะนับถือผี แต่เมื่อรับพุทธศาสนาเข้ามาชาวไทลื้อก็ผสมผสานทั้งสองความเชื่อไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน

ลายกาบ และลายหยดน้ำ บ่งบอกถึงสิ่งที่ชาวไทลื้ออาศัยอยู่  กาบคือ กาบไม้ เป็นสัญลักษณ์ของป่าไม้ หยดน้ำคือสัญลักษณ์ของแม่น้ำ  เมื่อทั้งสองอย่างมารวมอยู่ด้วยกันแล้วจึงแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ แม่น้ำ ลำธาร

ส่วนสุดท้ายคือ ลายสะเปาหรือหางสะเปา คือเรือสำเภา ที่เชื่อว่าพาหนะเดินทางสู่โลกหน้า และยังหมายถึงความรู้ ความรุ่งเรือง ในทุกส่วนของตัวผ้าอีกด้วย

ไทลื้อ เจิงลาย

ชาวไทลื้อมีศิลปะการป้องกันตัวเป็นของตนเอง เรียกว่า “ศิลปะการฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง และตบมะผาบ” ซึ่งมีแม่ท่าที่งดงามยิ่งนัก

ในอดีตผู้ที่ประสงค์จะฝึกฟ้อนเจิงจะไปสมัครเป็นลูกศิษย์ของครูเจิง โดยต้องนำไก่มาคนละ 1 ตัว ครูเจิงจะขีดวงกลมตรงกลางข่วง (ลาน) ในป่าช้า (ฌาปนสถาน) แล้วเชือดคอไก่เสี่ยงทาย หากไก่ใครตายอยู่ในวงกลม ผู้นั้นจะเป็นผู้ได้สืบทอดศิลปะเจิง แต่หากไก่ดิ้นตายออกนอกวงกลม ก็จะไม่อนุญาตให้ฝึกฝน เชื่อว่าผีครูไม่ให้สืบทอด

สำหรับท่วงท่าต่างๆ ในการฟ้อนเจิงฟ้อนดาบกล่าวกันว่ามีแม่ท่าหลายท่า ได้แก่ ท่าเกี้ยวเกล้า ท่าลายงามสูง ท่าลายงามต่ำ ท่าตากปีก ท่าปลาเหลี้ยมหาด ท่าแทงหว่าง ท่าตบมะผาบก้อม ท่าตบมะผาบเครือ ท่าแม่แก้แม่ญับ ท่าเข้าส้นเข้าปลาย ท่าช้างงาตอก ท่าช้างงาหลั่ง เป็นต้น

ผู้ฝึกเชื่อเรื่องคาถาอาคมและมีข้อห้ามบางประการที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น ไม่รับประทานอาหาร ไม่ดื่มน้ำในงานศพ ห้ามดื่มสุราร่วมแก้วเดียวกับผู้อื่น เป็นต้น นอกจากนี้ต้องเป็นผู้ประพฤติอยู่ในศีลธรรมไม่คิดข่มเหงทำลายผู้อื่น

ปัจจุบันศิลปะการฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง และตบมะผาบ เยาวชนรุ่นใหม่ในจังหวัดน่านให้ความสนใจฝึกฝนเป็นความสามารถในการแสดงศิลปะพื้นเมืองของท้องถิ่น

โครงการกล้าใหม่…ใฝ่รู้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เสริมสร้างเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Writer/ Photographer

นิตยสาร “ลื้อค้น”

นิตยสาร “ลื้อค้น”

โรงเรียนน่านนคร จังหวัดน่าน

Relate Place

Travel

5 อาหารเด็ดที่ห้ามพลาดในตลาดเช้าทับปุด จ. พังงา

เสียงไก่ขันในโทรศัพท์ปลุกให้ลุกขึ้นมาชื่นชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ หยิบ รองเท้ามาสวมให้กระชับ ผูกเชือกให้แน่นพร้อมที่จะออกไปสัมผัสอากาศสดชื่น และไม่พลาดที่จะแวะมา “ตลาดเช้าเทศบาลตำบลทับปุด” เพื่อเติมพลังด้วยมื้อเช้า

Travel

ขมิ้นดี เครื่องแกงดี ที่บ้านเขาตำหนอน ทับปุด พังงา

บ้านเขาตำหนอน ตำบลถ้ำทองหลาง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพังงาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีขมิ้นที่ขึ้นชื่อ เป็นที่ยอมรับถึงความมีคุณภาพและปลอดภัยไร้สารเคมี

Eat

คุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ เจ้าของร้านไอศกรีมรสไทยที่ลูกพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเสวย

ท่ามกลางความร้อนของอากาศในกรุงเทพมหานคร มีร้านไอศกรีมรสชาติไทยๆ ซ่อนอยู่ในตึกแถวเล็กๆ ในชุมชนแพร่งภูธร ที่นี่คือร้านไอศกรีมที่ทำให้เราได้รู้จักกับคุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแพร่งภูธร”

Travel

ศาสตร์ภูมินทร์ สินสุโขทัย โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย

หากท่านต้องการเดินทางมาเยือนสวรรคโลก แต่ไม่ต้องการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟ อย่าวิตกกังวลไปครับ เพราะสวรรคโลกมีสนามบินและเที่ยวบิน บินตรงจากบางกอกสู่เมืองสวรรค์แห่งนี้ ที่พร้อมให้บริการผู้ที่ต้องการมาเยือนอย่างสะดวกสบาย