ท่าเตียน

ท่าเตียน ชุมชนท่าน้ำที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนาน สะท้อนวิถีชีวิตที่ผูกพันกันระหว่างวัด วัง ชุมชน และตลาด เป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เริ่มจากมีชาวจีนเข้ามาค้าขายเป็นอันดับแรกๆ จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ที่เริ่มมีการก่อสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น จึงกลายเป็นชุมชนตลาดขนาดใหญ่ เรียกว่า “ตลาดท้ายวัง” หรือ “ตลาดท้ายสนม” 

ในอดีตตลาดแห่งนี้จะขายสินค้าจำพวกดอกไม้คุณภาพดีเป็นหลัก เพราะเหล่าสนม ข้าหลวงในวัง ต่างต้องการมาซื้อดอกไม้ไปตกแต่ง ร้อยมาลัย เพื่ออวดความสวยงามกัน ทำให้ตลาดแห่งนี้ขยายใหญ่ขึ้น จนต้องย้ายตลาดดอกไม้ไปไว้ที่ปากคลองตลาดดังเช่นทุกวันนี้

ท่าเตียน
ท่าเตียน

ท่าเตียน ฮาเตียน?

มีข้อสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อ “ท่าเตียน” หลากหลายแง่มุม ตั้งแต่ตำนาน เหตุการณ์ หรือแม้แต่เรื่องเล่ามุขปาฐะ  หากพูดตามตำนาน ว่ากันว่ายักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้งทะเลาะกันเรื่องเงิน ยักษ์วัดโพธิ์ท้าให้ยักษ์วัดแจ้งข้ามฝั่งมา ทั้งคู่ฟาดฟันกันจนพื้นที่แถวนั้นเลี่ยนเตียน จึงทำให้บริเวณพื้นที่แถบนั้นถูกเรียกว่า “ท่าเตียน” 

จากการเล่าขานของชุมชนหรือตำราบางเล่มได้กล่าวถึงชาวญวนที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่นี่ เมื่อนานวันพื้นที่บริเวณนี้ก็มีบ้านของชาวญวนเป็นจำนวนมากจนคล้ายกับ “เมืองฮาเตียน (Ha Tien)” ที่พวกเขาพลัดถิ่นฐานมา ด้วยความคิดถึงบ้านจึงเรียกพื้นที่นี้ว่า “ฮาเตียน” และเพี้ยนมาเป็น “ท่าเตียน” อย่างที่เคยได้ยิน 

หรือจากเหตุการณ์ที่ถูกจารึกไว้ในพงศาวดารรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยเรื่องไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เผาไหม้ตั้งแต่วังขุนนาง ตลาด ไปจนถึงบ้านเรือนของคนในชุมชนเป็นบริเวณกว้าง ทำให้พื้นที่แถบนั้นถูกเผาจนโล่งเตียน จนกลายเป็นที่มาของชื่อ “ท่าเตียน”  อย่างไรก็ดีไม่มีใครสามารถยืนยันข้อเท็จจริงถึงที่มาของชื่อ “ท่าเตียน” ได้เลย

แม้ไม่มีที่มาที่ไปของชื่ออย่างชัดเจน แต่ชุมชนแห่งนี้ยังคงเป็นรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหนก็ตาม

ท่าเตียน
ท่าเตียน

ตึกเหลือง อาคารไร้ชื่อแห่งวัฒนธรรม

ห้องแถวที่ถูกเรียกตามสีของอาคาร ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของท่าเตียน เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปในยุคนีโอคลาสสิก สร้างขึ้นมาในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ.2451 เพื่อให้ตลาดเป็นระเบียบเรียบร้อยและมั่นคงแข็งแรง โดยสร้างเป็นอาคารรุปตัวยูจำนวน 26 ห้อง และเพิ่งมีการปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2556 ให้มีรูปลักษณ์ที่งดงาม คงกลิ่นอายเดิมในสมัยเก่า ภายหลังมีกรมทรัพยืสินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแล มีข้อห้ามในการใช้อาคารต่างๆ หลายข้อ เช่น ให้ตอกตะปุเพื่อติดรูปพระมหากษัตริย์เท่านั้น หรือห้ามต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

ท่าเตียนคาเฟ่

พี่หมู พี่ฟลุ๊ค คนรุ่นใหม่ที่หลงใหลอดีต

ณ มุมหนึ่งของตึกเหลือง เราพบกับท่าเตียนคาเฟ่ คาเฟ่ที่ไม่ตลก แต่เป็นร้านขายนมที่อบอุ่น ที่นั่นเราพบกับ “พี่หมู พี่ฟลุ๊ค” เจ้าของร้านแห่งนี้

“พี่หมู-ไกรสร ลีสีทวน” อาจารย์พิเศษด้านงานศิลปะเซรามิกที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จบปริญญาโทจากประเทศอินเดีย และ “พี่ฟลุ๊ค-สุขุม ปิติวัฒนาลัย” เพื่อนสนิทพี่หมูตั้งแต่ยังเด็ก จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งสองกลับมาเปิดร้านคาเฟ่เล็กๆ ในตลาดท่าเตียน

“พี่อยากกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดอีกครั้ง การกลับมาเปิดร้านเล็กๆ ในท่าเตียนเป็นความฝันของพวกพี่” พี่หมูได้บอกกับพวกเรา ทำให้เราสัมผัสได้ว่าด้วยความรักและผูกพันในบ้านเกิดของเขาทั้งสอง ทำให้พวกเขาเลือกที่จะกลับมาทำงานที่ท่าเตียน

ที่นี่นอกจากจะเป็นร้านขายนม ขายขนมปังแล้ว พี่หมูยังเปิดสอนศิลปะอีกด้วย ส่วนพี่ฟลุ๊คเป็นคนชอบสะสมของเก่า ของตกแต่งภายในร้านจึงเป็นแนวย้อนยุค พี่ฟลุ๊คยังบอกอีกว่าสมัยก่อนคนในท่าเตียนรู้จักกันหมด คุยเล่นกันได้ตลอด พี่ชอบไปวิ่งเล่นและเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ ตามประสาเด็ก แต่พอโตขึ้นมาพวกเพื่อนๆ ที่เคยเล่นด้วยกันต่างก็พากันเรียนจบแล้วแยกย้ายกันออกไปจากท่าเตียน ไปหางานทำที่อื่นกันหมด ท่าเตียนตอนนี้จึงเหลือแต่คนดั้งเดิมที่อยู่มาแต่เก่าก่อน

ท่าเตียนคาเฟ่
“ขนมปังท่าเตียน” ที่พี่หมูแสนภูมิใจเพราะคิดค้นขึ้นมาเอง เป็นขนมปังก้อนที่ถูกบีบจนแบน สอดไส้รสชาติต่างๆ เช่น นมเนย เนยถั่ว สตรอว์เบอร์รี ช็อกโกแลต เข้ากันดีกับเนื้อแป้งนุ่มๆ เหนียวๆ และหอมกลิ่นเนยมากๆ

“ทุกปีจะมีงานไหว้รวมศาลเจ้า คือจะอัญเชิญเจ้าจากทุกศาลในท่าเตียนมารวมกันแล้วคนในท่าเตียนก็จะมาไหว้เจ้าด้วยกัน ในงานจะมีการแสดงงิ้วให้เจ้าดูด้วย แต่หลังๆ มานี้ไม่มีการแสดงงิ้วแล้วเพราะว่าคนที่แสดงงิ้วเป็นก็ไม่ค่อยมีแล้ว ในงานก็จะมีของกินของเล่นมาขายตลอด พี่ชอบไปซื้อขนมน้ำตาลปั้นมากิน หอมหวานอร่อยดี แล้วก็ช่วงนั้นเกมบอยกำลังฮิต พี่ก็ชอบไปเช่าเล่นอยู่ เขาจะให้เช่าเล่น 5 บาท”

“ตอนที่พี่ไปอยู่ที่อินเดีย พี่ไปเรียนที่นั่นถึง 2 ปีครึ่ง ก่อนไปพี่คิดว่าก็เหมือนไปเที่ยวต่างประเทศ ไปเดี๋ยวก็กลับ แต่พอไปถึงนิสัยใจคอของคนที่นั่นต่างไปจากที่คนท่าเตียนโดยสิ้นเชิง ไม่รู้จักมักคุ้น ไม่สนิทกัน อาหารก็ไม่อร่อยถูกปากเหมือนที่บ้าน บางทีก็คิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ตอนเด็กๆ ที่เคยไปวิ่งเล่นที่งานไหว้เจ้า ซื้อขนมน้ำตาลปั้นแสนหวานละมุนลิ้นมากินเล่น ปีนกำแพงแอบดูพิธีในวัด จนพี่รู้สึกจริงๆ ว่า ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าที่บ้าน ‘ท่าเตียน’ หลังนี้อีกแล้ว”

โครงการกล้าใหม่…ใฝ่รู้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เสริมสร้างเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Writer/ Photographer

นิตยสาร Human Wide

นิตยสาร Human Wide

โรงเรียนหอวัง

Relate Place

Travel

5 อาหารเด็ดที่ห้ามพลาดในตลาดเช้าทับปุด จ. พังงา

เสียงไก่ขันในโทรศัพท์ปลุกให้ลุกขึ้นมาชื่นชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ หยิบ รองเท้ามาสวมให้กระชับ ผูกเชือกให้แน่นพร้อมที่จะออกไปสัมผัสอากาศสดชื่น และไม่พลาดที่จะแวะมา “ตลาดเช้าเทศบาลตำบลทับปุด” เพื่อเติมพลังด้วยมื้อเช้า

Travel

ขมิ้นดี เครื่องแกงดี ที่บ้านเขาตำหนอน ทับปุด พังงา

บ้านเขาตำหนอน ตำบลถ้ำทองหลาง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพังงาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีขมิ้นที่ขึ้นชื่อ เป็นที่ยอมรับถึงความมีคุณภาพและปลอดภัยไร้สารเคมี

Eat

คุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ เจ้าของร้านไอศกรีมรสไทยที่ลูกพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเสวย

ท่ามกลางความร้อนของอากาศในกรุงเทพมหานคร มีร้านไอศกรีมรสชาติไทยๆ ซ่อนอยู่ในตึกแถวเล็กๆ ในชุมชนแพร่งภูธร ที่นี่คือร้านไอศกรีมที่ทำให้เราได้รู้จักกับคุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแพร่งภูธร”

Travel

ศาสตร์ภูมินทร์ สินสุโขทัย โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย

หากท่านต้องการเดินทางมาเยือนสวรรคโลก แต่ไม่ต้องการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟ อย่าวิตกกังวลไปครับ เพราะสวรรคโลกมีสนามบินและเที่ยวบิน บินตรงจากบางกอกสู่เมืองสวรรค์แห่งนี้ ที่พร้อมให้บริการผู้ที่ต้องการมาเยือนอย่างสะดวกสบาย