Slow life ที่“บ้านป่าเหมี้ยง” 

หลายคนฝันที่จะตื่นขึ้นพบกับภาพป่าเชียวชอุ่มจากหน้าต่างห้องพัก  ฝันว่ามีเสียงสายน้ำไหลรินกล่อมให้เข้านอนและเป็นเสียงแรกที่ได้ยินคราตื่น ทุกอย่างเป็นจริงได้ที่นี้ “บ้านป่าเหมี้ยง”หมู่บ้านเล็กๆ ที่ซุกตัวอยู่หลังคลื่นทิวเขา หล่อเลี้ยงด้วยลมหายใจแห่งความสุขและความเพียงพอในวิถีแห่งตน

รู้จักกับบ้านป่าเหมี้ยง

พวกเราเดินทางไปสู่บ้านป่าเหมี้ยงโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1252 ซึ่งตัดผ่านอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน นำไปสู่ผืนป่าอันหนาทึบ  สองข้างทางมีหญ้าดอกขาวชูช่อดอกน่ารัก ตามขอบทางมีแผ่นมอสส์สีเขียวละมุนตาที่ยังมีหยดน้ำจากฝนท้ายฤดูค้างอยู่  ก่อนถึงหมู่บ้านมีจุดหมายตาคือ ลานดอกเสี้ยว ซึ่ดอกไม้นี้จะบานสะพรั่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่นี่จึงเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลวันดอกเสี้ยวบานอันเป็นช่วงเวลาสำคัญของชาวป่าเหมี้ยงด้วย 

ในที่สุดพวกเรามาถึงบ้านป่าเหมี้ยงในช่วงบ่ายของวันและเข้าพักใน บ้านพญาวัง ของ ชัยวัฒน์ ขัตติยวงศ์ โฮมสเตย์ 1 ใน 11 แห่งของบ้านป่าเหมี้ยงที่จัดการโดยคนในชุมชน โดยมี ประสิทธิ์ เหรียญทอง เป็นประธานกลุ่มโฮมสเตย์  เมื่อจัดแจงนำสัมภาระเข้าเก็บในบ้านแล้ว เราก็ออกเดินชมบรรยากาศภายใหมู่บ้าน  ความที่ตั้งอยู่เกือบใจกลางอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ที่นี่จึงร่มรื่นด้วยไม้หลายขนาด ตั้งแต่ขนาด 10 คนโอบไปจนถึงไม้น้ำเล็กๆ ที่พลิ้วไหวอยู่ในสายธารเย็น

ผืนป่ารอบบ้านป่าเหมี้ยงจัดเป็นป่าต้นน้ำระดับ 1-A ของแม่น้ำวัง ซึ่งได้รับการอนุรักษ์จากชาวบ้านในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะการทำเหมี้ยงต้องอาศัยร่มไม้ใหญ่ค่อนข้างหนาทึบในป่าดิบเขา ที่ความสูงระดับ 900-1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล และระบบรากของเหมี้ยงต้องรับอาหารและแร่ธาตุผ่านไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงระบบรากของต้นไม้ในป่า ดังนั้นการที่ชาวบ้านดูแลรักษาป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ก็เท่ากับเป็นการทำนุบำรุงแหล่งผลิตรายได้ของชุมชน

เหมี้ยง หรือเมี่ยงในภาษาไทยกลาง เป็นชาอัสสัม พบมากบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของไทย เติบโตได้ดีในเขตป่าใต้ร่มไม้ใหญ่ กลางหุบในเทือกเขาผีปันน้ำจึงเป็นแหล่งเหมี้ยงที่สำคัญ  นักวิชาการพบว่า ต้นเหมี้ยงแถบนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นป่าเหมี้ยงเพื่อการค้าโดยกลุ่มชนออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) คือกลุ่มชาติพันธุ์ขมุและลัวะที่อพยพมาจากลาวเมื่อราว 200 ปีก่อน  ต่อมาราว 70 ปีก่อนคนพื้นราบ เริ่มอพยพเข้ามาหาแหล่งทำกินบริเวณป่าเหมี้ยง แล้วค่อยๆ ซึมซับวัฒนธรรมจนกลายเป็นคนเมือง (ล้านนา) 

ใช้ชีวิตแบบ Slow life 

พวกเราทอดน่องไปตามถนนคอนกรีตในหมู่บ้านที่ตัดคดเคี้ยวและเอียงตัวตามความลาดชันของหุบเขา  ภาพจำเวลาที่เห็นถนนกับลำธารบรรจบกันคือสะพานที่สร้างขึ้นข้ามลำน้ำ ทว่าภาพจำเช่นนั้นไม่มีให้เห็นที่นี่ ถนนเกือบทุกแห่งปล่อยให้สายน้ำซึ่งจะไปรวมกันเป็นห้วยแม่ปานไหลผ่าน  เสียงจ๊อกๆ ยามน้ำไหลรินเชิญชวนให้เราเปลือยเท้าเดินเพื่อจะสัมผัสน้ำอันเย็นรื่นจนความสดชื่นพุ่งปรี๊ดขึ้นสู่สมอง

แม้ตามรายทางแทบทุกครัวเรือนมีกระถางดอกไม้เล็กๆ ประดับอยู่ ทว่าความสวยงามกลับเป็นรอยยิ้มของชาวบ้านที่ส่งให้พร้อมคำทักทาย “จะไปไหนกัน” พวกเรายิ้มตอบแล้วว่า “มาเดินชมหมู่บ้าน” จากนั้นคำแนะนำของเจ้าถิ่นก็พรั่งพรูให้พวกเรารู้ว่ามีสิ่งใดน่าทำบ้างสถานที่แรกที่ตกลงกันว่าจะไปดูคือ บ้านทำเหมี้ยง ซึ่งทำส่งขายเพียงเจ้าเดียวในหมู่บ้าน 

ขั้นตอนการทำเหมี้ยงไม่มีอะไรมาก ใส่ใบเหมี้ยงที่นึ่งแล้วในถังซีเมนต์ที่เติมน้ำเปล่า แล้วหมักไว้ 20 วันถึง 1 เดือนขึ้นอยู่กับความอ่อนความแก่ของเหมี้ยง จากนั้นนำขึ้นมาทุบเพื่อให้เหมี้ยงนุ่ม มัดส่งขายไปทั่วจังหวัดในภาคเหนือ  คนที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นยังคงกินเหมี้ยงอยู่ เพราะช่วยให้กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน คล้ายกับเป็น ‘โอเล่ดอย’ อมเล่นๆ ระหว่างทำงาน”

จากนั้นเดินไปยังบ้านหลังเล็กๆ ที่บริเวณใต้ถุนมีกลุ่มแม่บ้านซึ่งรวมตัวกันภายใต้ชื่อ กลุ่มหมอนใบชาเพื่อสุขภาพ กำลังยัดใบเหมี้ยงแห้งลงในปลอกหมอนสีหวานให้พองเต็มเป็นหมอนใบเก๋ ติดแบรนด์ว่า “หมอนดอกเหมี้ยงหอมไก๋” มีหลายแบบให้เลือก ทั้งหมอนทรงธรรมดาไปจนถึงหมอนเล็กใช้แขวนในตู้เสื้อผ้า  กลิ่นใบเหมี้ยงมีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายความเครียดและช่วยให้หลับสบาย  พอจับจ่ายได้หมอนติดมือกันแล้วเราก็ต้องลาพี่ๆ กลุ่มแม่บ้าน เพราได้เวลามื้อเย็นซึง่ทางโฮมสเตย์จัดให้ เป็นสำรับอาหารพื้นถิ่นที่คนเมืองกินได้ แถมร่อยด้วย

เมนูเด็ดอย่างยำใบเหมี้ยงที่ทำกินกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ปัจจุบันกลายเป็นเมนูต้อนรับนักท่องเที่ยวไปแล้ว  วิธีทำไม่ยาก เพียงเด็ดใบเหมี้ยงอ่อนปานกลางไม่ขมไม่แข็งเกินไป นำไปล้างแล้วซอยละเอียด ใส่หอมใหญ่ซอย มะเขือเทศหั่นลูกเต๋า พริกขี้หนูซอยละเอียด กระเทียมสับละเอียดที่เจียวจนเหลืองหอม ลงคลุกเคล้า แล้วบีบมะนาว เติมน้ำปลา จากนั้นเทปลากระป๋องลงเคล้าให้เข้ากัน เพียงเท่านี้ก็จ๊าดลำ

ตามเข้าป่าเหมี้ยง 

ตื่นเช้าขึ้นมา พวกเรามีนัดกับป้าเจ้าของสวนป่าเหมี้ยง  ได้เวลานัดป้ามาพร้อมอุปกรณ์ครบมือ ไล่ไปตั้งแต่ “ส่า” หรือตะกร้าไม้ไผ่สานขนาดพอเหมาะสะพายอยู่บนบ่าเพื่อใส่ใบเหมี้ยง ในส่านั้นมีตอกเส้นเรียวบางไว้มัดเหมี้ยง ส่วนมือป้าถือมีดพร้าไว้ ใช้คว้าและฟันวัชพืชให้เดินได้สะดวก ที่ปลายนิ้วสวม “ปอก” (หรือปลอก) ซึ่งทำจากแผ่นสังกะสีม้วนคล้ายแหวน ปลายปิดด้วยพลาสเตอร์ติดใบมีดโกนไว้ ใช้เก็บใบเหมี้ยง และยังมีอุปกรณ์เสริมคือ “ขอ” ซึ่งเป็นเชือกยาวที่ปลายเชือกติดตะขอไม้ใช้โน้มต้นเหมี้ยงที่สูงให้ต่ำลงจะได้เก็บง่ายขึ้น  ข้อมูลพร้อมอุปกรณ์พร้อมก็เข้าป่าไปเรียนรู้จากของจริงกันเลยเราเดินตามหลังป้าไปเรื่อยๆ จนมาหยุดที่เหมี้ยงต้นหนึ่ง 

ป้าให้ข้อมูลทางเทคนิคเพิ่มว่า “การเก็บเหมี้ยงไม่ใช่เด็ดทั้งใบ แต่ให้ตัดโดยเว้นก้านใบเหมี้ยงเอาไว้ เพื่อให้ใบเหมี้ยงได้หายใจ ไม่งั้นต้นเหมี้ยงจะไม่แตกยอด และเน้นเก็บยอดสามใบแรกเท่านั้น ส่วนใบแก่เอาไปตากให้แห้งทำหมอนใบชาได้”ป้าเล่าอีกว่า “ป่าเหมี้ยงไม่ต้องดูแลอะไรมาก ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง แค่มาตัดหญ้าอย่าให้สูงเกินเท่านั้น” พวกเราจึงรับรู้ได้ว่า วิถีของเหมี้ยงคือลมหายใจของที่นี่ แต่น่าเสียดายที่ลมหายใจนี้กำลังแผ่วลงไปทุกที ด้วยปัจจุบันเหมี้ยงไม่ค่อยเป็นที่นิยมอย่างที่ผ่านมา

ใครบางคนในกลุ่มเราจึงสังเกตเห็นพืชชนิดใหม่ที่นำมาปลูกแซมในป่าเหมี้ยง นั่นคือพลับและกาแฟพันธุ์อะราบิกา  ใครที่มาเที่ยวป่าเหมี้ยงในหน้าหนาวคงได้เห็นภาพเม็ดกาแฟสุกสีแดงฉานและผลพลับสีเหลืองดกเต็มต้นเสร็จจากเดินศึกษาวิถีของเหมี้ยง พวกเรามีนัดกันต่อที่กิ่วฝิ่น ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปราว 5 กิโลเมตร เป็นจุดรอยต่อระหว่างลำปางกับเชียงใหม่ ที่อยู่ในการดูแลของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ 7 จซ. (ดอยล้าน) อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน  น่าเสียดายที่พวกเรามาในช่วงต้นเดือนพฤศจิกาฯ ต้นนางพญาเสือโคร่งอยู่ในช่วงผลัดใบ ยังไม่ออกดอก ไม่อย่างนั้นถนนที่จะเดินขึ้นไปกิ่วฝิ่นคงดารดาษด้วยกลีบดอกสีชมพูอ่อน

พวกเรามีนัดกันต่อที่กิ่วฝิ่น ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปราว 5 กิโลเมตร เป็นจุดรอยต่อระหว่างลำปางกับเชียงใหม่ ที่อยู่ในการดูแลของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ 7 จซ. (ดอยล้าน) อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน  น่าเสียดายที่พวกเรามาในช่วงต้นเดือนพฤศจิกาฯ ต้นนางพญาเสือโคร่งอยู่ในช่วงผลัดใบ ยังไม่ออกดอก ไม่อย่างนั้นถนนที่จะเดินขึ้นไปกิ่วฝิ่นคงดารดาษด้วยกลีบดอกสีชมพูอ่อน

ชื่อ “กิ่วฝิ่น” มาจากการเป็นจุดแวะพักของคาราวานพ่อค้าฝิ่นจากเชียงรายไปเชียงใหม่และตากในครั้งอดีต ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,517 เมตร ในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิบนยอดจึงอาจลดลงเหลือเพียง 3-4 องศาเซลเซียส  ตามทางขึ้นมีสนสามใบขึ้นทั่วไป  ช่วงปลายฝนบริเวณนี้ถูกแพหมอกยึดครองอยู่เสมอ ลำต้นของสนและไม้อื่นจึงเต็มไปด้วยมอสส์และกล้วยไม้นานาชนิด  ส่วนบนกิ่วฝิ่นเป็นลานกว้างสำหรับชมพระอาทิตย์ซึ่งขึ้นที่ฝั่งลำปางและตกในฝั่งเชียงใหม่จากกิ่วฝิ่น

โฮมสเตย์บ้านพญาวังโทร. 08-1783-4176, 08-1881-7632  

โฮมสเตย์อื่นบริการอีก 10 หลัง  ราคา 150 บาท/คน/คืน และอาหาร 3 มื้อราคา 180 บาท  ติดต่อ ประสิทธิ์ เหรียญทองโทร. 08-9560-6820

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Relate Place

Travel

5 อาหารเด็ดที่ห้ามพลาดในตลาดเช้าทับปุด จ. พังงา

เสียงไก่ขันในโทรศัพท์ปลุกให้ลุกขึ้นมาชื่นชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ หยิบ รองเท้ามาสวมให้กระชับ ผูกเชือกให้แน่นพร้อมที่จะออกไปสัมผัสอากาศสดชื่น และไม่พลาดที่จะแวะมา “ตลาดเช้าเทศบาลตำบลทับปุด” เพื่อเติมพลังด้วยมื้อเช้า

Travel

ขมิ้นดี เครื่องแกงดี ที่บ้านเขาตำหนอน ทับปุด พังงา

บ้านเขาตำหนอน ตำบลถ้ำทองหลาง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพังงาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีขมิ้นที่ขึ้นชื่อ เป็นที่ยอมรับถึงความมีคุณภาพและปลอดภัยไร้สารเคมี

Eat

คุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ เจ้าของร้านไอศกรีมรสไทยที่ลูกพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเสวย

ท่ามกลางความร้อนของอากาศในกรุงเทพมหานคร มีร้านไอศกรีมรสชาติไทยๆ ซ่อนอยู่ในตึกแถวเล็กๆ ในชุมชนแพร่งภูธร ที่นี่คือร้านไอศกรีมที่ทำให้เราได้รู้จักกับคุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแพร่งภูธร”

Travel

ศาสตร์ภูมินทร์ สินสุโขทัย โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย

หากท่านต้องการเดินทางมาเยือนสวรรคโลก แต่ไม่ต้องการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟ อย่าวิตกกังวลไปครับ เพราะสวรรคโลกมีสนามบินและเที่ยวบิน บินตรงจากบางกอกสู่เมืองสวรรค์แห่งนี้ ที่พร้อมให้บริการผู้ที่ต้องการมาเยือนอย่างสะดวกสบาย