สะพานนรก-สวรรค์
“สะพานนรก-สวรรค์” เป็นสะพานไม้เวียนรอบจากเชิงเขาขึ้นสู่ยอดภูทอกน้อยที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๕๐ เมตร (ใกล้เคียงตึก ๖๐-๗๐ ชั้น) สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาจากเหล่าพระเณรและชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่โดยรอบ เริ่มต้นการสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ใช้เวลาทั้งหมด ๕ ปี จึงแล้วเสร็จ
พระอาจารย์จวนผู้บุกเบิกการก่อสร้าง หวังให้สะพานสื่อความหมายถึงการเดินไปตามเส้นทางธรรมที่สามารถน้อมนำสัตบุรุษให้หลุดพ้นความทุกข์ทั้งปวงจนอยู่เหนือโลกได้นั้น ต้องเป็นผู้มีความเพียรพยายาม ความอดทน และความมุ่งมั่น อีกทั้งยังต้องรู้จักประคับประคอง ควบคุมรักษาสติสัมปชัญญะไว้ให้จงดี ไม่ยอมให้ตกอยู่ในความประมาท จึงจะสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ล่วงพ้นไปสู่จุดหมายในท้ายที่สุดได้ (บันไดและสะพานไม้เปรียบเสมือนเส้นทางธรรม ความสูงชันเป็นดุจดังอุปสรรคต่างๆ ยอดภูทอกน้อยเหมือนกับจุดมุ่งหมายสุดท้ายคือ ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง หากเดินทางด้วยประมาทขาดสติ พลาดพลั้งร่วงหล่น ตกลงมาระหว่างทางก็อาจจะต้องเจ็บปวดรวดร้าว ราวกับตกนรก)
“สะพานนรก-สวรรค์” มีทั้งหมด ๗ ชั้น แต่ละชั้นมีลักษณะแตกต่างกันดังนี้
ชั้นที่ ๑-๒ เป็นบันไดไม้สู่ชั้นที่ ๓ ซึ่งเริ่มมีสะพานเวียนรอบเขา เส้นทางเดินรอบชั้นที่ ๓ มีโขดหิน ลานหิน หน้าผา และไม้ยืนต้นขึ้นกางกิ่งใบให้ร่มเงาครึ้ม จากชั้นที่ ๓ จะมีทางแยกสองทาง ทางแยกซ้ายมือเป็นบันไดทางลัดสู่ชั้นที่ ๕ ส่วนทางแยกขวาจะเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ ๔
ชั้นที่ ๔ เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองลงไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกันเรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจรดกับ “ภูลังกา” ในเขตอำเภอเซกา ชั้น ๔ นี้เป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ ๔๐๐ เมตร มีจุดให้นั่งพักผ่อนชมทิวทัศน์ระหว่างทางเป็นระยะๆ
ชั้นที่ ๕ เป็นที่ตั้งของศาลาและกุฏิพระภิกษุสงฆ์ ตามทางเดินมีถ้ำตื้นๆ หลายถ้ำ มีลานกว้างนั่งพักได้หลายแห่ง หากเดินไปทางทิศเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติซึ่งทอดยาวเชื่อมกับสะพานไม้สู่ “วิหารพระพุทธ” ที่สร้างขึ้นอย่างแปลกประหลาดพิสดารจนดูราวกับมีใครนำหินก้อนใหญ่ไปวางทับไว้บนหลังคาวิหาร วิหารพระพุทธนี้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และถือเป็นจุดชมทิวทัศน์ซึ่งมีความงดงามมากที่สุดบนภูทอกน้อยเลยทีเดียว
การเดินขึ้นมาตาม “สะพานนรก-สวรรค์” ส่วนใหญ่มักหยุดการเดินทางเพียงแค่ชั้น ๕ เนื่องจากชั้นที่ ๖ เป็นสะพานไม้แคบๆ เวียนรอบเขาเกาะติดอยู่ริมหน้าผาสูงชันดูน่าหวาดเสียว แต่หากลองแข็งใจเดินขึ้นมายังสะพานชั้นที่ ๖ ดูก็จะพบจุดชมทิวทัศน์สวยๆ ที่สามารถถ่ายภาพ “วิหารพระพุทธ” จากมุมสูงได้ สะพานชั้นที่ ๖ มีความยาวรอบเขาทั้งหมดประมาณ ๔๐๐ เมตร
ส่วนชั้นที่ ๗ จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านมาแล้วจะเจอทางแยก ๒ ทางเพื่อขึ้นดาดฟ้าชั้น ๗ ทางแรกเป็นทางชันต้องเกาะเกี่ยวกิ่งไม้และรากไม้เดินลำบาก ควรใช้อีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางอ้อม ต้องเดินเวียนไปทางขวามือ แต่ก็จะมาบรรจบกันด้านบนชั้นที่ ๗ หรือดาดฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ทึบ มีเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ ไม่แนะนำสำหรับการท่องเที่ยว เพราะอาจได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษ
สะพานไม้ที่ยื่นออกจากหน้าผาชันสูงนี้ กำลังท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลก ภาพที่เราเห็นนอกจากจะทำให้หวาดเสียวแล้ว ยังรู้สึกได้ถึงความอัศจรรย์ของภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่แปลกเลยที่สถานที่แห่งนี้จะเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งบันไดไม้แต่ละขั้น ประหนึ่งบันไดขึ้นสู่สวรรค์
ความสวยงามชวนตื่นตา น่าพิศวงของ “วิหารพระพุทธ” และ “สะพานนรก-สวรรค์” ของวัดเจติยาคีรีวิหาร บนภูทอกน้อยนั้นน่าจะมีคุณค่าสมควรแก่การเรียกได้ว่า “อัศจรรย์เมืองไทย (Amazing Thailand)” จริงๆ