“เบอร์อามัส” ว่าวทอง มลายู แห่งวังสายบุรี

หากว่าฉันตายไป ว่าวเบอร์อามัส ฉันยังอยู่ ไม่เป็นไร

แต่ถ้าไม่มีคนมาสืบทอด ภูมิปัญญา ก็จะหายไป ฉันเสียใจ

ช่าวทำว่าว กล่าว

ป้ายหน้าบ้านสองป้ายเห็นแล้วต้องอึ้ง คือชื่อของพ่อลูก ที่ทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศมอบให้ เพื่อเชิดชูคุณพ่อ แวฮามิ วานิ เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน และลูกชาย ไวโรจน์ วานิ เป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี ๒๕๖๐ ประเภทงานเครื่องกระดาษ (ว่าวเบอร์อามัส)

ความรู้สึกฉันตอนนี้ คือภาคภูมิใจและอยากรู้ว่าวที่ชื่อเบอร์อามัสมีที่มาที่ไปอย่างไร

ทายาทผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเล่าว่าว่าวเบอร์อามัสหรือที่รู้จักในนามว่าวทองแห่งมลายูเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมายาวนาน เป็นเอกลักษณ์ของชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ดินแดนแห่งมลายูในยุคของ หัวเมืองใต้ ในอดีตหลังฤดูเก็บเกี่ยว เจ้าเมืองมลายูแต่ละหัวเมือง จะมีพิธีกรรมขึ้นว่าวเบอร์มะห์ (Bermah) หรือเบอร์อามัน (Beramas) หรือในภาษามลายูกลางเรียกว่าว่าวเบอร์อือมัส” (Beremas)  เมื่อขึ้นว่าวเบอร์อามัสแล้ว ราษฎรจึงจะเล่นว่าวได้  และก่อนที่เจ้าเมืองจะขึ้นว่าวเบอร์อามัสนั้น เจ้าเมืองต้องทำพิธีปิดทองที่หัวว่าวก่อน จึงเป็นที่มาของว่าวเบอร์อามัส เพราะคำว่าอามัสหรือ อือมัส แปลว่าทองนั่นเอง

การขึ้นว่าวเบอร์อามัสมีเป้าประสงค์สำหรับทำนายหรือพยากรณ์ ดิน ฟ้า อากาศ สำหรับการทำนา หรือการเกษตรอื่นๆ ในปีหน้าว่าจะเป็นเช่นไร  ผู้รู้จะทำหน้าที่ทำนายโดยสังเกตจากสายลม นำข้อมูลที่ได้จากการทำนายมากำหนดตารางการทำนา ว่าควรปักดำหรือไถในเวลาไหนจึงเหมาะสมที่สุด

ผู้ที่จะสร้างสรรค์ว่าวเบอร์อามัสได้นั้นต้องเป็นผู้มีทักษะความชำนาญมากกว่าว่าวชนิดอื่นๆ เพราะต้องใช้ไม้ไผ่ขึ้นโครงมากถึง ๒๐๒๙ ซี่  ส่วนรูปลวดลายในว่าวนั้นจะใช้พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นใบพลู ใบไม้สีทอง ดอกชบา เป็นต้น

โต๊ะแว ครูศิลป์ของแผ่นดิน

แวฮามิ วามิ สืบทอดการทำว่าวจากช่างหลวงสายบุรี เขาชำนาญการขึ้นโครงร่างว่าวตามแบบดั้งเดิม และปัจจุบันเหลือเพียงครอบครัวเดียวที่ยังคงสืบสานการทำว่ายทองมลายู

เราต้องหวงแหน รักษาภูมิปัญญานี้ให้ลูกหลาย ไม่ให้เหลือเพียงแค่นาม แต่กลับไม่ได้สัมผัสและเห็นรูปร่างที่แท้จริงของว่าวเบอร์อามัสแห่งวังสายบุรี

การได้รับรางวัลครูศิลป์แห่งแผ่นดินเป็นความภูมิใจอย่างที่สุดที่สามารถสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษเรียกได้ว่าเป็นว่าวต้นตำรับเลยก็ว่าได้และยังเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันว่าวสยามมนต์เสน่ห์ชายแดนใต้ จังหวัดยะลา 3 ปีซ้อน

มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าเราทำในทุ่งนา มันก็จบในทุ่งนา แต่สำหรับผมนั้น ว่าวเบอร์อามัสจะต้องมีคนรู้จักอย่างแพร่หลาย ไม่ใช่แค่ในทุ่งนาสายบุรี  ไวโรจน์ วานิ บอกกับเรา

โต๊ะแว4

ปรัชญาในภูมิปัญญา

โครงที่เข้มแข็งกับลายที่อ่อนโยนและอ่อนช้อย

แนวคิดปรัชญาของศาสนาและหลักการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งเพิ่มคุณค่าให้แก่ว่าวเบอร์อามัส

ในการสร้างสรรค์ว่าวจะต้องมีจุดศูนย์กลางหมายถึงมนุษย์ทุกคนมีที่มาจากที่เดียวกัน แหล่งกำเนิดเดียวกัน

ทุกๆ ลายของว่าวต้องมีกรอบเปรียบเสมือนกรอบของศาสนา กรอบการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง

ใบไม้ในลายว่าวเป็นใบไม้ชนิดเดียวกัน แต่ทรงไม่เหมือนกันสื่อถึงมนุษย์สร้างขึ้นมีความแตกต่าง แต่ไม่เบียดเบียนกัน และมีความเคารพในความต่างซึ่งกันและกัน

ใบไม้ทุกใบจะไม่ทิ่มแทงกันสื่อถึงมนุษย์ไม่ควรเป็นศัตรูกัน ไม่ทำร้ายกัน

ว่าวเบอร์อามัสจึงเป็นว่าวที่แฝงหลักปรัชญา ที่หากไม่ศึกษาอย่างถ่องแท้ก็อาจไม่รู้ ก่อนหน้านี้เรามองแค่ความสวยงามของว่าว  หารู้ไม่ว่าแฝงความหมายปรัชญาการดำเนินชีวิตให้มนุษย์ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นปกติสุขในสังคมที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม ผ่านไม้ไผ่กับกระดาษ

ลวดลายที่ปรากฏบนว่าวคือความละเอียดอ่อนความละเมียดละไม ใส่ใจทุกรายละเอียด บรรจงแกะกระดาษสี ทีละชั้นๆ ใช้สมาธิบวกกับเทคนิคพิเศษ ความชำนาญการของช่างผ่านการฝึกฝน และสั่งสมประสบการณ์ที่ยาวนาน

โครงการกล้าใหม่…ใฝ่รู้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เสริมสร้างเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Writer/ Photographer

นิตยสารสายบุรี

นิตยสารสายบุรี

โรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา

Relate Place

Travel

5 อาหารเด็ดที่ห้ามพลาดในตลาดเช้าทับปุด จ. พังงา

เสียงไก่ขันในโทรศัพท์ปลุกให้ลุกขึ้นมาชื่นชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ หยิบ รองเท้ามาสวมให้กระชับ ผูกเชือกให้แน่นพร้อมที่จะออกไปสัมผัสอากาศสดชื่น และไม่พลาดที่จะแวะมา “ตลาดเช้าเทศบาลตำบลทับปุด” เพื่อเติมพลังด้วยมื้อเช้า

Travel

ขมิ้นดี เครื่องแกงดี ที่บ้านเขาตำหนอน ทับปุด พังงา

บ้านเขาตำหนอน ตำบลถ้ำทองหลาง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพังงาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีขมิ้นที่ขึ้นชื่อ เป็นที่ยอมรับถึงความมีคุณภาพและปลอดภัยไร้สารเคมี

Eat

คุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ เจ้าของร้านไอศกรีมรสไทยที่ลูกพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเสวย

ท่ามกลางความร้อนของอากาศในกรุงเทพมหานคร มีร้านไอศกรีมรสชาติไทยๆ ซ่อนอยู่ในตึกแถวเล็กๆ ในชุมชนแพร่งภูธร ที่นี่คือร้านไอศกรีมที่ทำให้เราได้รู้จักกับคุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแพร่งภูธร”

Travel

ศาสตร์ภูมินทร์ สินสุโขทัย โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย

หากท่านต้องการเดินทางมาเยือนสวรรคโลก แต่ไม่ต้องการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟ อย่าวิตกกังวลไปครับ เพราะสวรรคโลกมีสนามบินและเที่ยวบิน บินตรงจากบางกอกสู่เมืองสวรรค์แห่งนี้ ที่พร้อมให้บริการผู้ที่ต้องการมาเยือนอย่างสะดวกสบาย