ประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง มรดกทางวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวน

ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นวันที่ชาวหลังสวนตั้งตาและรอคอยกับงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวอำเภอหลังสวน ทุกคนต่างเตรียมพร้อมและร่วมด้วยช่วยกันในงานประเพณีแห่งนี้ให้ออกมางดงามและทรงเสน่ห์ให้สมกับการเป็นงานประเพณีที่สุดแห่งความยิ่งใหญ่ ที่มีผู้คนมากมายหลายหมื่นคนหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย บางคนอาจจะมาเพื่อพบปะเพื่อนฝูงญาติมิตรที่ไม่ได้พบกันนาน หรือบางคนอาจจะมาท่องเที่ยวดูความงดงามที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน หรือบางคนอาจจะมาเพื่อสืบทอดความเป็นหลังสวนและเอกลักษณ์ที่ทำให้หลายๆ คนต้องหลงใหลไปกับมัน

ซึ่งประเพณีที่กล่าวถึงนั่นคือ ประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยได้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติว่า การแข่งเรือหลังสวนนั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ประมาณ พ.ศ. 2387 เป็นเวลาที่ไทยว่างเว้นจากศึกสงครามทำให้มีการค้าขายรุ่งเรือง มีการสร้างวัดวาอารามที่เกิดขึ้นมากมาย และได้มีการประกอบพิธีทำบุญแห่พระและลากพระ ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองหลังสวนซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อราชธานี ใน ร.ศ. 108 มีเรือนำเสด็จ 2 ลำคือ เรือมะเขือยำ และเรือศรีนวล จึงเป็นหลักฐานได้ว่าการแข่งเรือหลังสวนมีมาเกือบ 200 ปี

สำหรับจุดเด่นของงานที่ขาดไม่ได้คือการแห่พระ ซึ่งการแห่พระหรือลากพระของอำเภอหลังสวนจะมี 2 ขบวนคือ ขบวนทางบกและทางน้ำ ขบวนทางบกจะเคลื่อนตัวไปตามถนนสายหลักกลางเมืองหลังสวน ในช่วงสายๆ จะมีขบวนที่อัญเชิญโล่และถ้วยพระราชทาน ขบวนแห่รูปหล่อจำลองพระเทพวงศาจารย์ อริยสงฆ์ผู้ล่วงลับซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในงานประเพณีนี้มาตั้งแต่อดีต และมีขบวนแห่ของคนในท้องถิ่นและองค์กรทุกภาคส่วนที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือจัดตกแต่งขบวนให้มีสีสันสวยงามในรูปแบบต่างๆ ตลอดทั้งขบวน  ส่วนขบวนทางน้ำจะมีในช่วงบ่ายในลุ่มน้ำหลังสวน ไม่ว่าจะเป็นเรือพระทางน้ำ เรือสวยงาม ขบวนเรือยาวที่เข้าร่วมการแข่งขัน เรือกองเชียร์ เรือตลกขบขันที่สร้างเสียงหัวเราะ ซึ่งต่อแถวยาวเรียงต่อกันเต็มผืนน้ำหลังสวน

เมื่อเสร็จจากการแห่พระหรือลากพระแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เหมือนกันนั่นก็คือ การแข่งเรือขึ้นโขนชิงธงที่เป็นสุดยอดตำนานแห่งการแข่งเรือที่อยู่คู่กับชาวหลังสวนมาเกือบ 2 ศตวรรษ ที่มีเอกลักษณ์ที่แสนจะโดดเด่น เพราะว่าการแข่งเรือของหลังสวนนั้นไม่ได้วัดกันที่ความเร็วว่าใครถึงเส้นชัยก่อนจะเป็นผู้ชนะ แต่เป็นการวัดด้วยการที่นายหัวเรือจะต้องปีนขึ้นโขนเรือเพื่อจับธงเป็นการตัดสินแพ้-ชนะ ด้วยเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยกให้เป็น UNSEEN IN THAILAND ของการแข่งเรือที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย และที่สำคัญการแข่งเรือของหลังสวนนั้นจะมีฝีพายอย่างน้อย 30 คน และไม่เกิน 32 คนเท่านั้น เพราะคนหลังสวนถือว่าคนเราต้องมีครบ 32 เรือก็เหมือนกัน โดยการแข่งเรือขึ้นโขนชิงธงจะจัดขึ้นที่สนามแม่น้ำหลังสวนบริเวณหน้าวัดด่านประชากร ซึ่งเป็นสนามกลางของภาคใต้ ทำให้มีผู้คนมากมายต่างให้ความสนใจและประทับใจจนสองฝั่งแม่น้ำหลังสวนเนืองแน่นไปด้วยผู้คนแทบจะไม่มีที่ให้เดิน เสียงเชียร์ที่ดังสนั่นทั่วลุ่มน้ำหลังสวน และเสียงพากย์เรือที่ทำให้การแข่งเรือนั้นสนุกยิ่งขึ้น ทำให้การแข่งเรือขึ้นโขนชิงธงของอำเภอหลังสวนเป็นแหล่งรวมตัวของคนในท้องถิ่น ต่างถิ่นต่างแดนอย่างล้นหลามเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธงมีอายุ 174 ปีแล้ว

การที่งานประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธงสามารถอยู่มาได้ถึง 174 ปี ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่หายากและน่าจับตามอง จริงอยู่งานประเพณีนี้อาจจะมีมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่คู่กับหลังสวนตลอดไป เพราะหากไม่มีคนคอยอนุรักษ์รักษางานประเพณีนี้ก็จะหายไปเหมือนกับเราปลูกต้นไม้ ถ้าเราไม่คอยหมั่นรดน้ำพรวนดินต้นไม้ก็จะค่อยๆ เหี่ยวแห้งและตายไปในที่สุด งานประเพณีก็เช่นกันถ้าเราคอยมัวแต่ดูแต่ไม่คิดที่จะศึกษา เรียนรู้และสืบทอดงานประเพณีนี้ก็จะค่อยๆ หายไปจากหลังสวน จนในที่สุดอาจจะไม่มีประเพณีนี้อยู่อีกเลย ก็เหมือนกับต้นไม้ที่ตายเช่นกัน

คำที่พ่อสอนไว้…

ขอให้ร่วมรักสามัคคี ให้งานประเพณีอยู่ยั่งยืนตลอดไป

ด้วยประวัติความเป็นมาของประเพณีที่ยาวนานสำหรับการแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธงที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ทำให้อำเภอหลังสวนเป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะใครที่ชื่นชอบการแข่งขันเรือยาวจะยกให้สนามนี้เป็นตำนานการแข่งขัน  นอกเหนือจากการถูกยกย่องเป็นตำนานของสนามการแข่งขันแล้ว สิ่งที่สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งให้กับชาวหลังสวน ก็คือ โล่รางวัลพระราชทานใบแรกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงพระราชทานแก่การแข่งขันเรือยาวในประเทศไทย และรางวัลพระราชทานนั้นคือโล่พระราชทานใบนี้

             เมื่อปี พ.ศ. 2506 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวชุมพร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานโล่รางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือยาวและโล่รางวัลชนะเลิศเรือสวยงาม เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้เข้าร่วมแข่งขัน และได้ทรงพระราชทานโล่รางวัลเป็นรางวัลการแข่งขันของ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งนับว่าโล่พระราชทานใบนั้นเป็นโล่ใบแรกของ 14 จังหวัดภาคใต้ และของประเทศไทยด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธงได้จัดงานประเพณีอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้สมพระเกียรติและด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ และได้มีการถ่ายทอดภาพยนตร์ของการจัดงานและถวายฟิล์มภาพยนตร์ของงานประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธงชิงโล่พระราชทานประจำปี พ.ศ. 2507 และสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระราชดำรัสกับคณะที่เข้าเฝ้าฯ ตอนหนึ่งว่า…

“ขอให้ร่วมรักสามัคคี ให้งานประเพณีอยู่ยั่งยืนตลอดไป”

การแข่งเรือที่อำเภอหลังสวนโด่งดังจนมีเรือจากหลายพื้นที่เข้ามาร่วมแข่งขันกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 คณะกรรมการจัดการแข่งขันเรือยาวประเภท ข ขึ้นมาอีกประเภทหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนฝีพายท้องถิ่นให้พัฒนาฝีมือและความสามารถ และในปีนั้น นายชัด รัตนราช อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานถ้วยรางวัล ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทาน “ถ้วยยอดทอง” ให้เป็นรางวัลของการแข่งเรือยาวประเภทฝีพายท้องถิ่น และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งรางวัลพระราชทานที่ทำให้ชาวหลังสวนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ถ้วยใบนี้ถือเป็นจุดกำเนิดในการสร้างความรัก ความสามัคคี ของคนในชุมชนและคนในท้องถิ่น และสร้างชื่อเสียงให้ชาวหลังสวนเป็นที่รู้จักแก่ชาวไทยและชาวโลก

ชาวหลังสวนจังหวัดชุมพรทุกคน ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทั้งสองพระองค์ทรงเห็นคุณค่าของงานประเพณีอันเก่าแก่นี้ ดังนั้นพวกเราควรอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีนี้ให้อยู่คู่กับอำเภอหลังสวนและประเทศไทยต่อไป ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเกี่ยวกับประเพณีความตอนหนึ่งว่า “…ประเพณีทั้งหลายย่อมมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน เรามีประเพณีของชาติไทยเป็นสมบัติ เราควรจะยินดีอย่างยิ่งและช่วยกันส่งเสริมรักษาไว้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ…”

โครงการกล้าใหม่…ใฝ่รู้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เสริมสร้างเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

Writer / Photographer

LIFE of LANGSUAN

LIFE of LANGSUAN

ลลิตา ชำนาญรบ, ชัยยนต์ ศรีเชียงหา

Relate Place

Travel

5 อาหารเด็ดที่ห้ามพลาดในตลาดเช้าทับปุด จ. พังงา

เสียงไก่ขันในโทรศัพท์ปลุกให้ลุกขึ้นมาชื่นชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ หยิบ รองเท้ามาสวมให้กระชับ ผูกเชือกให้แน่นพร้อมที่จะออกไปสัมผัสอากาศสดชื่น และไม่พลาดที่จะแวะมา “ตลาดเช้าเทศบาลตำบลทับปุด” เพื่อเติมพลังด้วยมื้อเช้า

Travel

ขมิ้นดี เครื่องแกงดี ที่บ้านเขาตำหนอน ทับปุด พังงา

บ้านเขาตำหนอน ตำบลถ้ำทองหลาง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพังงาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีขมิ้นที่ขึ้นชื่อ เป็นที่ยอมรับถึงความมีคุณภาพและปลอดภัยไร้สารเคมี

Eat

คุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ เจ้าของร้านไอศกรีมรสไทยที่ลูกพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเสวย

ท่ามกลางความร้อนของอากาศในกรุงเทพมหานคร มีร้านไอศกรีมรสชาติไทยๆ ซ่อนอยู่ในตึกแถวเล็กๆ ในชุมชนแพร่งภูธร ที่นี่คือร้านไอศกรีมที่ทำให้เราได้รู้จักกับคุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแพร่งภูธร”

Travel

ศาสตร์ภูมินทร์ สินสุโขทัย โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย

หากท่านต้องการเดินทางมาเยือนสวรรคโลก แต่ไม่ต้องการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟ อย่าวิตกกังวลไปครับ เพราะสวรรคโลกมีสนามบินและเที่ยวบิน บินตรงจากบางกอกสู่เมืองสวรรค์แห่งนี้ ที่พร้อมให้บริการผู้ที่ต้องการมาเยือนอย่างสะดวกสบาย