เอกกวี วงศ์ข้าหลวง พิพิธภัณฑ์ท่าเตียนที่มีชีวิต

“หนูๆ มาทำรายงานกันใช่ไหม” เสียงอันอบอุ่นของผู้ใหญ่คนหนึ่งดังแว่วมาถึงผม เมื่อหันไปก็พบกับคุณลุงที่ห้อยพระเครื่องเต็มคอนั่งอยู่บนเก้าอี้สำนักงานสีดำ ทำให้เราได้รู้จักกับคุรลุงเอกกวี วงศ์ข้าหลวง หรือที่ชาวท่าเตียนรู้จักในนาม “ลุงคุ้ง”

ลุงเล่าให้ฟังว่าพ่อกับแม่ของลุงเป็นคนจีน ขึ้นเรือสำเภามาตั้งถิ่นฐานที่นี่  ลุงคุ้งได้เกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่ท่าเตียนมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย  รู้จักและคุ้นเคยกับทุกคนในชุมชนเหมือนคนในครอบครัว  ระหว่างที่นั่งฟังก็รู้สึกว่าลุงคุ้งมีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดและเติบโตในท่าเตียน ทุกคำพูดของลุงเต็มไปด้วยรอยยิ้มโดยไม่ต้องแอบแฝง

ไม่เพียงแต่พวกเราเด็กมัธยมปลายหน้าซื่อๆ ตาใสๆ เท่านั้น แม้แต่นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมา ลุงคุ้งก็จะทักทายและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับท่าเตียนอย่างเป็นมิตร จนพ่อค้าแม่ค้าชาวชุมชนท่าเตียนขนานนามให้ลุงคุ้งเป็น “มัคคุเทศก์ประจำท่าเตียน”

ลุงคุ้งเดินนำเราเข้าไปในวัดโพธิ์ซึ่งอยู่ติดกับท่าเตียน ห่างกันแค่เพียงถนนสองเลนกั้น เมื่อก้าวเข้าวัดโพธิ์ก็รู้สึกถึงความเย็นสบายกว่าด้านนอก เพราะในวัดโพธิ์มีต้นไม้เยอะ สงบ และร่มรื่น เราสะดุดตากับรูปปั้นยักษ์จีนที่ตั้งอยู่ตามประตูของวัดโพธิ์ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ จึงถามลุงคุ้งถึงที่มาของรุปปั้นยักษ์หน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพราเหล่านี้

“รูปปั้นเหล่านี้เรียกว่าตุ๊กตาอับเฉา ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ได้มีเพียงแค่รูปยักษ์ แต่มีรูปเทพเจ้าจีน สมัยก่อนเขาขนสินค้าขึ้นเรือสำเภาไปขายที่จีน พอส่งของเสร็จเรือสำเภาก็โล่ง ตอนขากลับเขาก็ขนเอารูปปั้นยักษ์พวกนี้กลับมาด้วย เพราะต้องเอามันมาถ่วงเรือไว้ไม่ให้มันโคลงเคลงเวลาเกิดพายุ ส่วนใหญ่ก็ออกแนวจีนๆ เหมือนกันหมด เว้นแต่ตัวที่ใส่หมวกแบบฝรั่ง

“เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการล่าอาณานิคม ช่วงที่มาร์โค โปโล เริ่มเข้ามาในทวีปเอเชีย เห็นไหมขนาดยักษ์จีนยังต้องปรับตัวเป็นฝรั่งเลย ดูสิ”

ลุงคุ้งชี้ให้ดูแล้วหัวเราะชอบใจ พร้อมทั้งยังย้อนกลับมาให้ข้อคิดอีกด้วยว่า ตอนนี้เราก็เหมือนรูปปั้นยักษ์จีนที่ใส่หมวกฝรั่งนั้นแหละ เพราะฝรั่งเข้ามามีอิทธิพลในบ้านเรามากขึ้น เราก็ต้องปรับตัวให้เหมือนกับยักษ์เหล่านั้น เราต้องรู้จักคิดให้ได้แบบพวกมัน พูดภาษาฝรั่งให้ได้โดยที่ไม่ลืมความเป็นไทยของเรา เหมือนที่ยักษ์จีนเหล่านี้ไม่ลืมความเป็นจีนของพวกมัน

“สมัยลุงเด็กๆ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่วัดโพธิ์เขาจัดงานวัดประจำทุกปี สมัยก่อนยังไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยววัดโพธิ์เยอะเท่ากับทุกวันนี้ จัดงานตั้ง 9 วัน 9 คืน บรรยากาศในงานก็เหมือนงานวัดทั่วไป มีวงดนตรีหลายวงมาแสดง มีชิงช้าสวรรค์ ตอนนั้นมีสมเด็จป๋าเป็นสังฆราชอยู่ ท่านมีบารมีมาก ช่วงที่มีงานก็เอาทหารมาล้อมวัดไว้หมด ถ้าจะเข้าต้องจ่ายเงินทุกคน”

พอลุงคุ้งเล่าจบผมเกิดคำถามบางอย่าง ไม่ใช่เรื่องงานสงกรานต์ 9 วัน 9 คืนหรอก แต่เป็นเรื่องสมเด็จป๋าเป็นใครต่างหาก ลุงคุ้งจึงเล่าเรื่องสมเด็จป๋าให้ฟังว่า

“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ชาวบ้านแถวนี้เคารพรักและศรัทธามาก จึงเรียกท่านว่าสมเด็จป๋า

“วัดโพธิ์เนี่ยไม่ว่าจะราชวงศ์หรือเจ้าก็เสด็จมาบ่อยนะ เวลามีพิธีกรรมทางศาสนาหรือเทศกาลต่างๆ ก็มาที่วัดโพธิ์ตลอด ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็มาทอดกฐินที่นี่ แล้วที่วัดโพธิ์ก็มีพระพุทธรูปปางห้ามญาติเป็นพระประจำวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันเกิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เสด็จฯ มาไหว้อยู่บ่อยๆ”

เราเดินมาเกือบทั้งวันจนในที่สุดก็ครบรอบวัดโพธิ์แล้ว ลุงพามานั่งอยู่ริมสระใต้ต้นไม้สูงใหญ่ มีปลาว่ายเวียนวนไปมา ลุงคุ้งชี้ให้ดูต้นไม้ต้นหนึ่งแล้วบอกกับเราว่า

“ต้นนี้เขาเรียกว่าต้นฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่ดี ใครเจ็บคอ ปวดเหงือก ปวดฟัน ร้อนใน ครั่นเนื้อครั่นตัว แค่เด็ดยอดมาใส่เข้าปากกลืนลงพร้อมน้ำ ไม่เกิน 3 วันหายเลย แต่อย่าไปเคี้ยวนะ มันขม ขมกว่าบอระเพ็ดอีก ฟ้าทะลายโจรเนี่ยขมอย่าบอกใคร เพราะถ้าบอกเขาจะไม่กิน”

ถึงแม้คำพูดจะฟังดูย้อนแย้งกันไปบ้าง แต่ด้วยคำพูดที่ดูจริงจังผสมกับใบหน้าเปื้อนยิ้มนั้น ผมสัมผัสว่านี่คงเป็นมุกตลกของผู้ใหญ่กระมัง

อีกคำถามที่ผมอยากจะรู้ก็คือ อะไรทำให้ท่าเตียนพิเศษกว่าชุมชนอื่นๆ เพราะถ้ามองแล้วท่าเตียนอาจดูเหมือนแหล่งท่องเที่ยวในสายตาคนทั่วไป

“ความสามัคคี” คือคำตอบที่สวนกลับมาแบบไม่ได้ตั้งตัวให้คิด

“เพราะชุมชนเรามีความสามัคคีกันมาก เรารู้จักกันและช่วยเหลือกันหมด ไม่เคยทิ้งกัน เพราะอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เล็ก ลูกหลานก็วิ่งเล่นกันอยู่ในตลาด เหมือนครอบครัวกันหมดนี่แหละ” คำพูดที่ดูจะเกินจริง แต่หากลองนึกดูแล้ว ตลอดทางที่ผ่านมา ลุงคุ้งทักทายพ่อค้าแม่ขาย ลูกเด็กเล็กแดงในท่าเตียนเหมือนคนในบ้านจริงๆ บ้างก็กล่าวทักทาย บ้างก็มีแซวเล่น บ้างก็ถามสารทุกข์สุกดิบ

ลุงคุ้งเล่าถึงความสามัคคีในชุมชนว่า ครั้งหนึ่งวัดโพธิ์เคยมีปัญหาหนักมากถึงขั้นไม่มีเงินเข้าวัด ชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลวัดคนละไม้คนละมือ เพราะทุกคนก็อยู่วัดนี้เห็นวัดนี้กันมาตลอด เป็นเหมือนวัดคู่ชุมชน ไม่มีใครอยากเสียวัดไป 

ครั้งที่ท่าเตียนเคยเกิดไฟไหม้ ไม่มีใครในชุมชนหนีเอาตัวเองรอดมาก่อนเลย ทุกคนช่วยกันแบกของ ช่วยกันดูแลเด็กและคนแก่ ช่วยกันดับไฟและเรียกรถดับเพลิง  เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีคนในชุมชนท่าเตียนต้องสูญเสียอะไรเพราะช่วยกัน 

หรือครั้งที่องค์เจ้าพ่อสัสดีเกิดหายไป แต่ไม่ได้หายจากอิทธิฤทธิ์หรือปาฏิหาริย์ มีโจรอุ้มเจ้าพ่อหายไปจากศาลในตลาดเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ซึ่งตอนนั้นชาวบ้านในชุมชนท่าเตียนกำลังจะร่วมกันสร้างเจ้าพ่อองค์ใหม่มาแทนแล้ว แต่จู่ๆ ก็มีคนไปเจอเจ้าพ่อสัสดีองค์จริงวางปล่อยให้เช่าอยู่ จึงรวมเงินกันในชุมชนแล้วเช่าเจ้าพ่อสัสดีให้กลับมาอยู่ที่ศาลกลางในตลาดเหมือนเดิม

แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ผมได้รู้จักกับลุงคุ้งผู้เต็มใจบอกเล่าเรื่องราวอันน่าประทับใจของท่าเตียน

เรื่องราวที่คนรุ่นใหม่อย่างเราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน จนอาจถูกลืมไปพร้อมกับสายน้ำแห่งกาลเวลา

ผมมั่นใจว่าหากมีคนอย่างผมอีกร้อยพันมาเจอลุงคุ้ง ลุงก็จะเล่าเรื่องท่าเตียนให้ทุกคนได้รับรู้ถึงชุมชนที่มีความเป็นมาอันน่าภาคภูมิใจอย่างไม่มีวันเบื่อหน่าย

โครงการกล้าใหม่…ใฝ่รู้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เสริมสร้างเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Writer/ Photographer

นิตยสาร Human Wide

นิตยสาร Human Wide

โรงเรียนหอวัง

Relate Place

Travel

5 อาหารเด็ดที่ห้ามพลาดในตลาดเช้าทับปุด จ. พังงา

เสียงไก่ขันในโทรศัพท์ปลุกให้ลุกขึ้นมาชื่นชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ หยิบ รองเท้ามาสวมให้กระชับ ผูกเชือกให้แน่นพร้อมที่จะออกไปสัมผัสอากาศสดชื่น และไม่พลาดที่จะแวะมา “ตลาดเช้าเทศบาลตำบลทับปุด” เพื่อเติมพลังด้วยมื้อเช้า

Travel

ขมิ้นดี เครื่องแกงดี ที่บ้านเขาตำหนอน ทับปุด พังงา

บ้านเขาตำหนอน ตำบลถ้ำทองหลาง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพังงาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีขมิ้นที่ขึ้นชื่อ เป็นที่ยอมรับถึงความมีคุณภาพและปลอดภัยไร้สารเคมี

Eat

คุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ เจ้าของร้านไอศกรีมรสไทยที่ลูกพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเสวย

ท่ามกลางความร้อนของอากาศในกรุงเทพมหานคร มีร้านไอศกรีมรสชาติไทยๆ ซ่อนอยู่ในตึกแถวเล็กๆ ในชุมชนแพร่งภูธร ที่นี่คือร้านไอศกรีมที่ทำให้เราได้รู้จักกับคุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแพร่งภูธร”

Travel

ศาสตร์ภูมินทร์ สินสุโขทัย โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย

หากท่านต้องการเดินทางมาเยือนสวรรคโลก แต่ไม่ต้องการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟ อย่าวิตกกังวลไปครับ เพราะสวรรคโลกมีสนามบินและเที่ยวบิน บินตรงจากบางกอกสู่เมืองสวรรค์แห่งนี้ ที่พร้อมให้บริการผู้ที่ต้องการมาเยือนอย่างสะดวกสบาย