ศาลปะกำ
เป็นเสมือนเทวาลัยที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำ ชั้นบนเป็นที่เก็บหนังปะกำและวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในการคล้องช้างป่า ชั้นล่างใช้เป็นที่นั่งบริกรรมคาถาของหมอใหญ่และทายาทสายตรง
การบวงสรวงผีปะกำเป็นเสมือนการบอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยอำนวยพรให้กิจกรรมต่างๆ ที่จะทำบรรลุความสำเร็จ
หนังปะกำ ทำด้วยหนังควายตัวผู้สีดำ พันเป็นเกลียว ๓ เส้น (ห้ามีรอยต่อ) หนังปะกำเส้นหนึ่งๆ จะมีความยาวประมาณ ๓๐-๔๐ เมตร
งานช้างสุรินทร์
จังหวัดสุรินทร์มีงานประจำปีคือ งานแสดงช้าง หรืองานช้างสุรินทร์ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนติดต่อกันหลายวัน
กิจกรรมหลักมี ๔ วัน คือ วันแรกเป็นวันแห่รถตกแต่งอาหารช้าง วันที่สอง คือวันแห่ช้างเข้าเมืองและเลี้ยงอาหารช้างที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง และอีกสองวันจะจัดตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เป็นวันชมการแสดงช้าง ณ สนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์
ในวันที่มีการแสดงช้างนั้น จะประกอบด้วยการแสดงของช้างราว ๗-๘ ฉาก อาทิเช่น ชุดโขลงช้าง พิธีเซ่นผีปะกำ การโพนช้างและการฝึกช้างป่า ช้างทำงาน และการละเล่นของช้าง ประเพณี วัฒนธรรมของส่วยหรือชนชาวกูย ขบวนช้างแห่นาค ช้างแข่งขันกีฬา ช้างเตะตะกร้อ ช้างชกมวย
ฉากสำคัญ คือการจัดขบวนพยุหยาตราทัพและการชนช้างของพระมหากษัตริย์ในอดีต ซึ่งเป็นฉากที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยผู้แสดงนับพัน การแต่งกายก็สมจริงทำให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจกับนักท่องเที่ยวที่เข้าชมเป็นอย่างมาก
การจัดงานช้างสุรินทร์เริ่มขึ้นที่ว่าการอำเภอท่าตูมในปี ๒๕๐๓-๒๕๐๔ และกลายเป็นงานประจำปีของชาติ และจัดที่อำเภอเมืองสุรินทร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ถึงปัจจุบัน