วังหาด ย้อนรอยอดีตกาล ค้นหา “บรรพบุรุษ”

สุโขทัย จังหวัดเล็กๆ ที่มีความโดดเด่นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน  แต่หากจะจัดโปรแกรมท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ในสถานที่เดิม คงไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าไรนัก พวกเราจึงลองค้นหาสถานที่ใหม่ๆ  สุดท้ายก็จบที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในอำเภอบ้านด่านลานหอย ที่มีชื่อว่า “บ้านวังหาด”

สถานที่แห่งแรกที่เราเดินทางมาถึงคือวัดวังหาด สัมผัสแรกยามเปิดประตูรถ คือลมโชยหอบกลิ่นดินอ่อนๆ และไอเย็นที่มาพร้อมกับฝนปรอยๆ บวกกับต้นไม้สีเขียวเติมแต่งภูเขาหลังวัด  ไม่แปลกใจที่ทุกคนเหมือนโดนดึงดูด ไม่ต่างกับนักเดินเรือที่ได้พบเกาะใหม่ที่อยากสัมผัสมันสักครั้ง

วัดวังหาด ศูนย์รวมแห่งความศรัทธา

เราเดินเท้าเข้าไปในวัดและพบกับหลวงพี่สิงห์ เตชาธิโร (สิงห์ วุฒิชมภู) บุคคลสำคัญในการปกปักรักษาอารยธรรมประวัติศาสตร์ของบ้านวังหาดให้คงอยู่เรื่อยมา  

หลวงพี่เกิดที่นี่ แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างจึงต้องไปอาศัยอยู่ต่างถิ่นระยะหนึ่ง ทำให้มีโอกาสได้เห็นหนังสือหลายเล่มที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านวังหาด แต่พอกลับมาเยี่ยมเยือนบ้านเกิด ก็รู้สึกเศร้าใจที่คนในชุมชนไม่ได้สนใจปกปักรักษาอารยธรรมของชุมชนตนเอง จึงมีความคิดจะพัฒนาและอุทิศกำลังในการสร้างสถานที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้

แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาดได้ถูกค้นพบโดยบังเอิญจากการเดินทาง โดยล้อเกวียนในเส้นทางใช้ประจำทำให้เกิดล่องลึกของรอยล้อเกวียน บวกกับการทำไร่ ทำนา และการกัดเซาะของน้ำป่า ทำให้พบวัตถุโบราณประเภทเครื่องใช้สำริด เครื่องปั้นดินเผา และลูกปัดหลายสีสัน

“การอนุรักษ์อารยธรรมบ้านวังหาด คือการ ต่อลมหายใจให้อารยธรรมบ้านวังหาดได้อีกครั้ง”

ตลอดเวลากว่า ๓๐ ปี หลวงพี่อุทิศชีวิตและเสียสละเพื่อกอบกู้อารยธรรมที่ถูกทำลาย ไม่ให้สูญหายไปจากผืนแผ่นดินไทย โดยได้รับการร่วมมือจากชุมชนและเครือข่ายต่างๆ

“ทำเรื่องเล็กๆ นี่แหละที่คนเขาไม่ค่อยเห็นด้วย แต่สักวันมันจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของคนทั้งโลกได้”

ชาวบ้านวังหาดมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีสางเทวดาอยู่หลายเรื่อง หลวงพี่เล่าว่าสมัยที่คนไม่ค่อยเห็นคุณค่าของวัตถุโบราณที่มีมากมายในบริเวณบ้านวังหาด  ชาวบ้านแถวนี้นิยมขุดของเก่าไปขายเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ แต่มักมีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นกับนักค้าของเก่าหลายๆ คน บางคืนก็มีเสียงฝีเท้าของคนเดินรอบๆ บ้าน บ้างก็ล้มหายตายจากไปด้วยอุบัติเหตุ ส่งผลให้ชาวบ้านหลายๆ คนเริ่มหันกลับมาดูแลรักษา และยังมีความเชื่อว่าเมื่อมีการเสียชีวิต คนในครอบครัวจะร่วมกันสร้างบ้านจำลองหลังเล็กๆ นำไปถวายวัด เพื่อให้วิญญาณจะได้มีความสุขสบายในภพหน้า

ที่มาของชื่อบ้านวังหาด

หลวงพี่พาพวกเราชมพระวิหารที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางของวัด พลันสายตาก็เหลือบเห็นต้นไม้สูงใหญ่และมีรูปทรงสวยงามหน้าซุ้มประตูวัด

ถ้ามองผ่านๆ อาจเป็นเพียงต้นไม้ต้นหนึ่งที่ให้ร่มเงาเพียงเท่านั้น แต่ต้นไม้นี้เปรียบเสมือนหัวใจของวังหาด

หลวงพี่อธิบายให้เราฟังว่าชื่อหมู่บ้านมาจากคำสองคำ คำแรกคือคำว่า “วัง” หมายถึงห้วยน้ำลึกมีน้ำไหลตลอดปี และ “หาด” หมายถึง ต้นมะหาดที่มีจำนวนมากในหมู่บ้าน  ชาวบ้านจึงเอาคำสองคำมารวมกันเป็น “บ้านวังหาด” และใช้เป็นชื่อหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน

เราค่อยๆ ย่างเท้าเข้าไปในตัวพระวิหาร สัมผัสได้ถึงความวิจิตรงดงามของลวดลายตามบานหน้าต่างที่ถูกประดิษฐ์โดยช่างมากฝีมือ  มีการแกะสลักบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน บ้างแสดงถึงการประกอบอาชีพ บ้างแสดงถึงงานบุญต่างๆ  สื่อให้เห็นว่าคนในท้องถิ่นเลื่อมใสในบวรพระพุทธศานาและมีวัดเป็นที่พึ่งทางใจ

พิพิธภัณฑ์-จำเนียร-หนานกุล

พิพิธภัณฑ์โบราณคดีบ้านวังหาด

ย้อนรอยอดีตกาลเพื่อค้นหา “บรรพบุรุษ”

หลังจากที่เราเดินชมพระวิหาร และถวายสังฆทานเพื่อเป็นสิริมงคล พร้อมกับกราบลาหลวงพี่สิงห์เป็นที่เรียบร้อบแล้ว จึงแวะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านวังหาดที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัด

พิพิธภัณฑ์หลังเล็กๆ ที่กักเก็บเสน่ห์ของภูมิปัญญาแต่เก่าก่อน

จำเนียน หนานกุล หรือที่ชาวบ้านรู้กจักกันในนาม “ลุงล้อม ปราชญ์ชาวบ้าน” เล่าให้เราฟังว่าคนในชุมชนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนเถิน อพยพมาจากลำปาง เนื่องจากมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ น้ำดี ดินดี จึงตั้งหลักปักฐานอาศัยอยู่ที่บ้านวังหาดมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี  คนแถบนี้จึงใช้ภาษาล้านนากันเกือบทั้งหมด  ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ดำรงชีพโดยอาศัยการพึ่งพาธรรมชาติและควบคู่กับการทำเกษตร

ลุงล้อมเล่าต่อว่าวังหาดเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำแม่ลำพันที่ไหลผ่านบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยไปลงแม่น้ำยม มีอายุเก่าแก่ประมาณ ๒๕๐๐ ปี ถือเป็นชุมชนถลุงเหล็กที่มีความถนัดเฉพาะทาง ทั้งด้านเทคโนโลีการถลุงและเครื่องมือในการผลิตต่างๆ ทำให้ทราบว่าสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งขุดและถลุงที่มีกระบวการผลิตครบวงจรอย่างแท้จริง เปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้่ยงชุมชนบริเวณสุโขทัยเลยทีเดียว 

รวมทั้งสมัยก่อนมนุษย์ที่นี่เป็นนักผลิตสำริดได้บางเฉียบ เป็นสุดยอดแห่งช่าง ทำให้มีวัตถุโบราณมากมาย บริเวณบ้านวังหาดยังขุดค้นพบทองคำและโครงกระดูกที่ถูกฝังมาพร้อมกับลูกปัดหินและเครื่องปั้นดินเผาด้วย

พิพิธภัณฑ์-สมชาย-เดือนเพ็ญ

บ้านด่านลานคอย

สมชาย เดือนเพ็ญ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุโขทัย เล่าว่าสมัยก่อนที่นี่เป็นด่านคอยข้าศึก มีหน้าที่ส่งสารให้กษัตริย์ และขนส่งสินค้าเข้าตัวเมือง ถ้าเปรียบหน้าที่แล้วก็เหมือนกับรายฝอยที่หล่อเลี้ยงรากแก้วให้เติบใหญ่

นี่จึงเป็นเหตุผลที่กำเนิดเป็นชื่ออำเภอที่เรียกขานกันว่า “บ้านด่านลานคอย” และเพี้ยนไปเพี้ยนมาจนเป็น “บ้านด่านลานหอย” ในปัจจุบัน

โครงการกล้าใหม่…ใฝ่รู้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เสริมสร้างเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Writer/ Photographer

 นิตยสาร Point of View

นิตยสาร Point of View

โรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา จังหวัดสุโขทัย

Relate Place

Travel

5 อาหารเด็ดที่ห้ามพลาดในตลาดเช้าทับปุด จ. พังงา

เสียงไก่ขันในโทรศัพท์ปลุกให้ลุกขึ้นมาชื่นชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ หยิบ รองเท้ามาสวมให้กระชับ ผูกเชือกให้แน่นพร้อมที่จะออกไปสัมผัสอากาศสดชื่น และไม่พลาดที่จะแวะมา “ตลาดเช้าเทศบาลตำบลทับปุด” เพื่อเติมพลังด้วยมื้อเช้า

Travel

ขมิ้นดี เครื่องแกงดี ที่บ้านเขาตำหนอน ทับปุด พังงา

บ้านเขาตำหนอน ตำบลถ้ำทองหลาง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพังงาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีขมิ้นที่ขึ้นชื่อ เป็นที่ยอมรับถึงความมีคุณภาพและปลอดภัยไร้สารเคมี

Eat

คุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ เจ้าของร้านไอศกรีมรสไทยที่ลูกพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเสวย

ท่ามกลางความร้อนของอากาศในกรุงเทพมหานคร มีร้านไอศกรีมรสชาติไทยๆ ซ่อนอยู่ในตึกแถวเล็กๆ ในชุมชนแพร่งภูธร ที่นี่คือร้านไอศกรีมที่ทำให้เราได้รู้จักกับคุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแพร่งภูธร”

Travel

ศาสตร์ภูมินทร์ สินสุโขทัย โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย

หากท่านต้องการเดินทางมาเยือนสวรรคโลก แต่ไม่ต้องการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟ อย่าวิตกกังวลไปครับ เพราะสวรรคโลกมีสนามบินและเที่ยวบิน บินตรงจากบางกอกสู่เมืองสวรรค์แห่งนี้ ที่พร้อมให้บริการผู้ที่ต้องการมาเยือนอย่างสะดวกสบาย