“สะเร็นน่า” น่าลอง อร่อยมาก...ขอบอก

ขนมอะไร ใครทำเธอท้อง ?

อับ อับ … อับ อับ เสียงกบร้อง เมื่อถึงต้นฤดูฝน นอกจากจะเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นทำนาแล้วยังเป็นสัญญาณบอกฤดูกาลอาหารพื้นบ้านจานเด็ดของชาวสุรินทร์กำลังเริ่มขึ้นแล้ว  

เมนูเด็ดอร่อยอยู่คู่ครัวของชาวไทยเขมรมานานแสนนาน ไม่อาจทราบว่าใครเป็นเจ้าตำรับ และเมนูนี้ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก น้อยคนที่จะได้ลิ้มชิมรสชาติ

วันนี้เราจึงภูมิใจนำเสนอ…เมนูอังแกปบอป

อังแกปบอป หรือ “กบยัดไส้” ย่างหอมกรุ่น ทำจากกบนาหรือกบตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่ใช่กบเลี้ยง  เป็นเมนูอาหารจากท้องนา รสชาติแสนจัดจ้าน แต่เปี่ยมล้นด้วยคุณค่าทางอาหารและหอมกลิ่นสมุนไพรพื้นบ้าน

สำหรับ “อังแกปบอป” ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวไทยเชื้อสายเขมรที่สืบทอดกันมานานจากบรรพบุรุษ ชาวบ้านมักเรียกอาหารนี้แบบขำๆว่า “ใครทำเธอท้อง”

ขั้นตอนความอร่อยต้องนำกบผ่าท้องเอาไส้ออก จากนั้นล้างทำความสะอาดสับหัวแขนขาของกบเหลือไว้แต่ท้อง เอามาสับทำเป็นไส้หรือใช้เนื้อหมูมายัดไส้แทนได้ จากนั้นนำเครื่องปรุงประกอบด้วย ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระเทียม หอม พริกแกง มะพร้าวและใบกะเพราสับให้ละเอียด  ก่อนนำไปคลุกเคล้าให้เข้ากันกับเนื้อที่สับไว้ แล้วนำมายัดใส่ท้องกบจนแน่น  จากนั้นเสียบด้วยไม้ไผ่นำไปย่างบนเตาถ่านอ่อนๆ จนกว่าจะสุกทั่วกัน

รับประทานได้ทั้งเป็นกับแกล้มและกินกับข้าวเหนียวหรือข้าวสวย

บางคนยึดเป็นอาชีพเสริมทำขายภายหลังฤดูทำนา มีขายริมทางทั่วไป  

หากเห็นป้ายอังแกปบอปก็แวะได้ค่ะ หรือร้านอาหารประเภทส้มตำในเมืองสุรินทร์ก็มีขายทั่วไป ลองสั่งมาทานกันได้ 

หากจะทานให้ได้รสชาติ ต้องทานตอนที่ยังร้อนๆ ออกจากเตาถ่านใหม่ๆ  จะได้รสหวานหอมจากเครื่องแกงที่ยัดไส้  และในช่วงเดือนตุลาคมถึงมกราคม เนื้อกบตามธรรมชาติจะอร่อยเป็นพิเศษ ไม่มีกลิ่นคาวแม้แต่นิดเดียว

นอกจากนี้ส่วนอื่นๆ ของตัวกบ แม่ค้าจะรวบรวมเอาน่องกบ ขากบ ที่ตัดออกจากตัวกบแล้วนำมาหนีบไม้ย่าง บรรจงพรมน้ำแกงสูตรเดิม  ท่านที่ชอบทานเนื้อและกระดูกอ่อนๆ ของกบแบบพอดีคำก็สามารถทานในส่วนนี้ได้เช่นกัน

หากมีโอกาสแวะมาที่สุรินทร์ ลองหาเมนูเด็ดนี้ทานกันได้นะคะ ทานร่วมกับส้มตำรสเด็ด แซ่บ !!! มาก

“นมเนียล” ขนมโบราณ

หลังจากที่ได้เมนู UNSEEN อาหารคาวไปแล้วก็ขอแนะนำของหวาน UNSEEN ของชาวสุรินทร์อีกเมนู

เป็นขนมพื้นเมืองสุรินทร์ เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จัก แต่คุณค่าทางโภชนาการมาก อยากเชิญชวนให้ลิ้มลองกันคือ “นมเนียล” หรือ “ขนมเนียล”  จัดเป็นขนมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน มักทำในประเพณีสำคัญของชาวเขมร  

“นม” ในภาษาถิ่นเขมร ก็คือ “ขนม” ดังนั้น นมเนียลก็คือ ขนมเนียลนั่นเอง  

ขนมเนียลได้ชื่อเรียกมาจากอุปกรณ์ทำขนม คือกะลามะพร้าวผ่าครึ่ง เรียกว่า “เนียล” เป็นคำเขมรแปลว่า “ทะนาน” เพราะคนสมัยก่อนใช้กะลามะพร้าวผ่าครึ่งเป็นเครื่องมือตวงข้าวสาร หรือ “ทะนานแบบโบราณ”  พอนำเนียลมาเจาะรูตรงก้นใช้เป็นอุปกรณ์นึ่งขนมก็เลยเรียกขนมชนิดนี้ว่า “ขนมเนียล” ซะเลย

ขนมเนียลทำไม่ยาก ใช้แป้งข้าวเหนียวผสมกับน้ำตาลทรายแดง (ไม่ฟอกสี) หรือน้ำตาลอ้อยบดผงใส่เกลือเล็กน้อยด้วยก็ได้แล้วใส่เนื้อมะพร้าวแก่ขูดขุยกับเนื้อมะพร้าวทึนทึกขูดพอหยาบๆ คลุกเคล้าให้เข้ากัน

เหตุที่ต้องใช้มะพร้าวทั้งสองแบบ เพราะมะพร้าวแก่ช่วยให้ความมันกับเนื้อขนม ส่วนมะพร้าวทึนทึกช่วยให้ขนมนุ่มขึ้นไม่เหนียวหรือแข็งเกินไป

จากนั้นตักแป้งผสมใส่ลงในเนียลที่วางบนหม้อนึ่งข้าวให้ไอน้ำผ่านรูตรงก้นกะลาขึ้นมา ทำให้ขนมสุก ปิดฝาพักไว้ประมาณ ๒-๓ นาที หรืออาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความหนาของแป้งที่ตักใส่ลงไปพอแป้งขนมสุกดีแล้ว จะได้เนื้อขนมเนียลสีน้ำตาลอ่อน หอมกลิ่นมะพร้าวเนื้อเหนียวหนึบกินตอนร้อนๆ ได้รสหวานมันกลมกล่อม

นับเป็นขนมพื้นบ้านถิ่นอีสานใต้อย่างหนึ่งที่น่าลิ้มลองมากๆ ปัจจุบันมีขายในตลาดสดในตัวอำเภอปราสาท หรือชาวบ้านทำขึ้นเวลามีงานประเพณีสำคัญ

ดังนั้น หากมาร่วมงานประเพณีของชาวไทยสุรินทร์ ลองสอบถามขอกิน “นมเนียล” ได้ค่ะ

แต่พูดให้ชัดๆ และอย่าเล่นมุกนี้กับสาวๆ นะคะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน อิอิ

โครงการกล้าใหม่…ใฝ่รู้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เสริมสร้างเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin

Writer/ Photographer

นิตยสาร สะเร็นน่า

นิตยสาร สะเร็นน่า

โรงเรียนตาเบาวิทยา อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์

Relate Place

Travel

5 อาหารเด็ดที่ห้ามพลาดในตลาดเช้าทับปุด จ. พังงา

เสียงไก่ขันในโทรศัพท์ปลุกให้ลุกขึ้นมาชื่นชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ หยิบ รองเท้ามาสวมให้กระชับ ผูกเชือกให้แน่นพร้อมที่จะออกไปสัมผัสอากาศสดชื่น และไม่พลาดที่จะแวะมา “ตลาดเช้าเทศบาลตำบลทับปุด” เพื่อเติมพลังด้วยมื้อเช้า

Travel

ขมิ้นดี เครื่องแกงดี ที่บ้านเขาตำหนอน ทับปุด พังงา

บ้านเขาตำหนอน ตำบลถ้ำทองหลาง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพังงาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีขมิ้นที่ขึ้นชื่อ เป็นที่ยอมรับถึงความมีคุณภาพและปลอดภัยไร้สารเคมี

Eat

คุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ เจ้าของร้านไอศกรีมรสไทยที่ลูกพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเสวย

ท่ามกลางความร้อนของอากาศในกรุงเทพมหานคร มีร้านไอศกรีมรสชาติไทยๆ ซ่อนอยู่ในตึกแถวเล็กๆ ในชุมชนแพร่งภูธร ที่นี่คือร้านไอศกรีมที่ทำให้เราได้รู้จักกับคุณป้านัฐพร รุ่งโรจน์สุวรรณ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแพร่งภูธร”

Travel

ศาสตร์ภูมินทร์ สินสุโขทัย โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย

หากท่านต้องการเดินทางมาเยือนสวรรคโลก แต่ไม่ต้องการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟ อย่าวิตกกังวลไปครับ เพราะสวรรคโลกมีสนามบินและเที่ยวบิน บินตรงจากบางกอกสู่เมืองสวรรค์แห่งนี้ ที่พร้อมให้บริการผู้ที่ต้องการมาเยือนอย่างสะดวกสบาย