ย่ำเรือนเยือนถิ่นริมคลองบางกอกน้อย

“จนนาวาคลาคล่องเข้าคลองกว้าง

ตำบลบางกอกน้อยละห้อยหวน

ตลาดแพแลตลอดเขาทอดพวน

แลแต่ล้วนเรือตลาดไม่ขาดคราว”

(นิราศพระประธม เมื่อ พ.ศ. 2385 โดย สุนทรภู่)

“บางกอกน้อย” ฝั่งธนบุรีในปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นแหล่งที่ตั้งรกรากเก่าแก่ของผู้คนสืบอย่างน้อยก็ตั้งแต่แต่สมัยอยุธยา คลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ซึ่งเคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม แต่ในสมัยพระไชยราชาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงบริเวณหน้าโรงพยาบาลศิริราชและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน จากเดิมคลองที่เคยคดโค้งถูกน้ำกัดเซาะจนกว้างกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ และแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าแคบจนกลายเป็นคลอง

1
พระประธานในโบถส์วัดสุวรรณาราม

สายน้ำกับชีวิตผู้คนริมแม่น้ำ ลำคลองผสมกลมกลืนอยู่ร่วมกันมาอย่างช้านาน น้ำคือชีวิต น้ำคือที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารและเส้นทางคมนาคม ฯลฯ ผู้คนอยู่อาศัยจนฝังรากลึกกำเนิดศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่หลงเหลือเป็นหลักฐานที่ปรากฏชัดไม่พัดผ่านไปกับกระแสน้ำอันไหลเอื่อยของเจ้าพระยา

ร้านค้าห้องแถวเก่าแก่ในตลาดวัดทอง
ตลาดวัดทอง หรือ วัดสุวรรณาราม ปัจจุบันเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรมชมุชน

ย่ำเท้าเข้าชุมชนริมคลองสายวัฒนธรรม จากปากคลอง “วัดอมรินทร์” สู่ “วัดสุวรรณาราม”

เมื่อเส้นทางคมนาคมทางหลักเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมใช้เรือล่องทางน้ำ เป็นต้องมาเดินตามตรอกออกตามประตูทางบก จากปากคลองบางกอกน้อยหมุดหมายสำคัญของชาวคลองคือวัดอมรินทร์สู่วัดสุวรรณารามหรือชุมชนบ้านบุ ชุมชนช่างฝีมือเก่าแก่แห่งหนึ่งในธนบุรี เป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศให้ความสนใจอย่างมิขาดสาย โดยเฉพาะทัวร์จักรยานของชาวต่างชาติที่เข้าออกชุมชนไม่เว้นแต่ละวัน

วัดอมรินทรารามหรือชื่อเดิม “วัดบางหว้าน้อย” เป็นพระอารามหลวง  ในสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 1 กรมพระราชวังหลังทรงสถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม  และได้ทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอมรินทราราม” มีเรื่องเล่าท้องถิ่นว่าเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการทิ้งระเบิดสถานีรถไฟบางกอกน้อยทำให้วัดอมรินทรารามได้รับผลกระทบ สิ่งก่อสร้างสำคัญหลายอย่างถูกทำลายแทบหมดสิ้น เว้นเสียแต่ “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ที่ได้รับความเสียหายเพียงบางส่วน หลวงพ่อโบสถ์น้อยเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังเดิมของวัดที่มีขนาดเล็กจึงเรียกขานกันแบบชาวบ้านว่า “โบสถ์น้อย”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
โรงซ่อมรถจักรธนบุรี

“ปู๊น ปู๊น” เสียงหวูดรถไฟดังสนั่นสลับเสียงกับรถยนต์ที่วิ่งว่อนเต็มท้องถนน ข้ามฟากจากวัดอมรินทร์ฯ มุ่งเข้าสู่ชุมชนบ้านบุ เต็มไปด้วยหัวรถจักรหรือรถไฟมากมายในระดับสายตา ก้มลงต่ำมาพบคราบน้ำมันเครื่องดำเขรอะเน้นย้ำว่าเรากำลังเดินมาถึง “โรงรถจักรธนบุรี”

โรงรถจักรธนบุรีหรือ “โรงซ่อมรถไฟ” สร้างขึ้นพร้อมสถานีรถไฟบางกอกน้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ เพื่อให้เป็นสถานีใหญ่ต้นทางสายใต้จากกรุงเทพฯ ถึงเพชรบุรี และจุดเริ่มต้นเส้นทางรถไฟสายตะวันตกจากกรุงเทพฯ ถึงกาญจนบุรี เรียกว่า “รถไฟเพ็ชรบุรี”

ปัจจุบันโรงรถจักรไอน้ำยังเป็นสถานีซ่อมบำรุงรถจักรดีเซลของการรถไฟฯ ที่สำคัญยังเป็นสถานที่เก็บรักษารถจักรไอน้ำที่ยังเหลืออยู่จำนวน 5 คัน ได้แก่ รถจักรไอน้ำยี่ห้อ ซี 56 จำนวน 2 คัน รถจักรไอน้ำแปซิฟิค 2 คัน และรถจักรไอน้ำมิกาโด จำนวน 1 คัน ที่สร้างจากประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นจุดไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวต้องมาชม อีกทั้งรถจักรไอน้ำทั้ง 5 คันนี้จะถูกนำออกมาใช้ในเทศกาลต่างๆ

โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา มรดกช่างที่สืบมาตั้งแต่อยุธยา
โหมไฟให้ร้อนเพื่อตีขัน

ชุมชนบ้านบุขันลงหิน มรดกช่างอยุธยา

“เมื่อก่อนเสียงตีขันดังไปทั้งซอย ตอนนี้เหลือน้อยมากแล้ว ต้องเข้ามาวันธรรมดานะ เสาร์ อาทิตย์ไม่ตีขันกัน” เสียงบอกเล่าของช่างตีขันลงหินที่มาไกลจากดินแดนที่ราบสูงอีสาน ในโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ซึ่งเป็นแหล่งสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ในชุมชน

บ้านบุเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย หรือเข้าทางซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 สันนิษฐานว่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ชาวกรุงเก่าได้อพยพตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนอกกำแพงเมืองธนบุรีด้วยการเดินทางทางเรือ

“ขันลงหิน” เป็นภาชนะที่ทำจากโลหะชนิดหนึ่ง ทำขึ้นเป็นรูปทรงขันที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ต่อมามีการพัฒนาเป็นรูปแบบใหม่ๆ เช่น พานใส่ผลไม้ ถาดเค้ก ฯลฯ แต่ยังคงเรียกว่า “ขันลงหิน” อย่างเดิม ขันลงหินมี 2 ลักษณะ คือภายนอกสีดำแกะลาย ภายในขัดเงาเห็นสีเนื้อทอง และทั้งภายนอกและภายในขัดเงาเห็นสีเนื้อทองทั้งสองด้าน

ด้วยกรรมวิธีการผลิตของขันลงหินเป็นงานฝีมือและลงแรงสูง รวมถึงมีต้นทุนสูงเนื่องด้วยวัตถุดิบที่หายากมากขึ้น ทำให้การทำขันลงหินของบ้านบุค่อยๆ หายไป แต่ภายในชุมชนเองก็มีผู้ประกอบการที่พยายามปรับตัวอย่างเช่น โรงงานบ้านบุคอลเลคชั่น ของคุณอุดม ขันธ์หิรัญ ที่เดิมก็เป็นโรงงานทำขันลงหิน ปัจจุบันหันเหมาทำสแตนเลส เน้นการส่งออกลูกค้าชาวต่างชาติ ทั้งสองโรงงานนอกจากจะทำหัตถกรรมฝีมือขายสินค้า ยังใจดีเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจที่เข้ามาเยี่ยมชมบ้านบุ ดังจะเห็นได้จากทัวร์จักรยานต่างชาติที่หลงใหลในงานช่าง “Made in ThaiLand แดนไทยทำเอง” อย่างในเพลงคาราบาว

7
ร้านยาสงวนโอสถ ร้านยาแผนโบราณเก่าแก่กว่า 75 ปี

ตลาดวัดทอง หรือตลาดวัดสุวรรณาราม

ตลาดวัดทองหรืออีกชื่อที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวคือ “ตลาดไร้คาน” เป็นศูนย์กลางการค้าของชุมชนบ้านบุ หรือ ชุมชนวัดสุวรรณารามที่เคยรุ่งเรืองในอดีต พ่อค้าแม่ค้าที่มาค้าขายมีเรือนแพร้านค้าและลานสำหรับค้าขาย ทั้งในคลองบางกอกน้อยและคลองวัดทอง ปัจจุบันหลงเหลือความรุ่งเรืองของตลาด โดยมีเรือนไม้ห้องแถวร้านค้าอยู่หลายร้าน

บริเวณด้านหลังตลาดมีร้านยา “สงวนโอสถ” เป็นร้านขายยาแผนโบราณมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 โดยนายสงวน เหล่าตระกูล หรือ หมอหงวน ตำรายาของร้านสงวนโอสถมีทั้งรูปแบบของการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยลายมือของนายสงวน และแบบที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรถ่ายทอดโดยการเรียนรู้จดจำและฝึกฝนด้วยตนเองของทายาทภายในครอบครัว

9
นิทรรศการจำลองเหตุการเล่าเรื่องราวชุมชนในเขตบางกอกน้อย

วัดสุวรรณาราม หรือ วัดทอง

ศูนย์กลางชุมชนของชาวบ้านบุและหมุดหมายสำคัญริมคลองบางกอกน้อยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชดำรัสให้นำเชลยศึกพม่าจากค่ายนางแก้วไปประหารชีวิตที่นี่ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดให้รื้อ แล้วสถาปนาใหม่ทั่วทั้งพระอาราม พร้อมทั้งพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสุวรรณาราม” นอกจากนี้วัดทองยังเป็นที่พระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่

ครั้งในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้ าฯ ให้ช่างเขียนหลวงเขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถ เป็นการประชันฝีมือกันระหว่างจิตรกรฝีมือชั้นครูสมัยนั้น โดยเรื่องเนมีราชชาดก เขียนโดยหลวงวิจิตรเจษฎา (อาจารย์ทองอยู่) ส่วนเรื่องมโหสถชาดกเขียนโดยหลวงเสนีย์บริรักษ์ (อาจารย์คงแป๊ะ)

ต่อในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งบูรณะพระอุโบสถ เปลี่ยนช่อฟ้า ใบระกา เปลี่ยนกระเบื้องและตัวไม้อื่นๆ ที่ชำรุด และปูพื้นภายในพระอุโบสถ ซึ่งภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ ได้แก่ พระอุโบสถ วิหาร เจดีย์ เก๋งหน้าพระอุโบสถ และโบราณวัตถุต่างๆ ภายในบริเวณวัด

ผู้คนรอบๆ วัดทองหรือวัดสุวรรณารามมีหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มคนดั้งเดิม ผู้คนที่อพยพมาจากอยุธยา รวมถึงพ่อค้าคนจีน เมื่อครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างทางรถไฟสายใต้ทำให้ตลาดวัดทองเติบโตมาก จึงมีชาวจีนมาอยู่อาศัย ค้าขาย ตั้งรกราก และรวมกลุ่มกันสร้างศาลเจ้าเล่าปึงเถ้ากง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลเจ้าโรงหมู” เพราะเดิมคนจีนเลี้ยงหมูอยู่บริเวณนี้ ศาลเจ้าอยู่บริเวณริมคลองบางกอกน้อยถัดจากวัดทองไปจนถึงวัดใหม่ยายแป้น

8
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ มหานครเขตบางกอกน้อย ในบ้านบุ

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย

ภายในชุมชนยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม สร้างขึ้นเมื่อปี 2494 เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ 4 แห่ง นำร่องโดยกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีอาสาพิพิธภัณฑ์ดูแลอยู่ ภายในมีนิทรรศการเล่าเรื่องราวในอดีตและสภาพปัจจุบันของบางกอกน้อย รวมถึงประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ และธนบุรี นอกจากนี้ยังมีภาพเก่าเล่าเรื่องราวผู้คนและสถานที่ของชาวคลองบางกอกน้อย

พิพิธภัณฑ์เปิดวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. โดยที่ไม่เสียค่าเข้าชมใดๆ

จากความรุ่งเรืองของชุมชนทางน้ำที่อุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรม สืบสายเล่าเรื่องมาได้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สู่ธนบุรี รัตนโกสินทร์อย่างไม่เคยร้างผู้คน ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปมาก เส้นทางสัญจรทางน้ำไม่ได้หนาแน่นอย่างก่อน แต่เราก็ยังสามารถนั่งรับลมเย็นๆ ริมคลองชมเรือแจวหาปลา การค้าขายของผู้คนอยู่บ้าง จะมากหน่อยก็เรือท่องเที่ยวที่ผ่านและแวะเวียนเข้ามา

ช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติปั่นจักรยานมาเป็นสาย แวะพูดคุยกับผู้คน เสาะหาที่สำคัญต่างๆ ในชุมชนประหนึ่งว่ารู้จักที่นี่โดยการทำการบ้านศึกษามาเป็นอย่างดี บ้านเมืองน่าชม ผู้คนน่ารักพร้อมให้เราเข้าไปสัมผัสอดีตอันรุ่งเรืองของชุมชนทางน้ำ และทางรถไฟ แหล่งกำเนิดงานช่างฝีมือทองที่พร้อมแบ่งปันรอยยิ้มให้ผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร สมดังคำ “สยามเมืองยิ้ม”

10
เรือนักท่องเที่ยวในคลองบางกอกน้อย

อ้างอิง

– กรมศิลปากร กองโบราณคดี โครงการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีของชาติ. ทะเบียนโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. กรุงเทพฯ. 2535

– กรุงเทพมหานคร. เอกสารโครงการชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืน ในชุมชนบ้านบุและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง พิมพ์เนื่องใน กิจกรรมแนะนำโครงการฯ ณ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2550 โดย กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

– วันวิสข์ เนียมปาน. “ประวัติศาสตร์รถไฟไทย”. ใน 120 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย a day ปีที่ 17 ฉบับ 199 มีนาคม 2560, หน้า 30-35.

– ศิรดา เฑียรเดช.2555.ภูมิปัญญายาแผนโบราณของร้านสงวนโอสถ.วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

– ส. พลายน้อย. แม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555, หน้า 93-95.

– สุดารา สุจฉายา.2560.ประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี

– แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย บรรณาธิการ. 2525.วัดสุวรรณาราม ชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest

Info

ชุมชนริมคลองบางกอกน้อย

ที่ตั้ง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

Relate Place

News

โครงการทุเรียนคุณภาพ

หนึ่งในโครงการที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ดำเนินการร่วมกับจังหวัดยะลาพัฒนาโครงการทุเรียนซิตี้ ส่งเสริมให้เกษตรกรชายแดนภาคใต้ทำทุเรียนคุณภาพ และพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ด้วยการให้ความรู้กับเกษตรกร ส่งเสริมและจัดหาตลาด รวมทั้งการรับซื้อเพื่อสร้างราคานำตลาด สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้

Eat

“เสน่ห์คาเฟ่” (หลง) เสน่ห์ขนมไทย

หากพูดถึงถนนข้าวสาร สิ่งที่นึกถึงเป็นอันดับแรกคงหนีไม่พ้นสถานที่สำหรับนักท่องราตรีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ หรือไม่ก็ street food ที่มีให้เลือกหลากหลายยามค่ำคืน แต่วันนี้ “นายรอบรู้” ขอพาทุกคนไปพบกับ Sané Café & Workshop Studio คาเฟ่ที่ทำให้เรารู้ว่าขนมไทยไม่ได้มีแค่ทองหยิบทองหยอด

Travel

โครงการหลวงอ่างขาง “รอยพระบาทที่ยาตรา นำผาสุกสู่พสกนิกร”

แทบไม่อยากจะเชื่อเลยว่าที่นี่จะเคยเป็นภูเขาหัวโล้นแห้งแล้งและเต็มไปด้วยฝิ่น
ในที่สุดเราก็ถึงดอยอ่างขาง สถานที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
โครงการหลวงแห่งแรกของ “พ่อ” ที่พระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทย

Travel

หลีกหนีความวุ่นวาย ล่องเรือสบายๆ ที่แม่น้ำปราจีน

ถ้าคุณเบื่อฝุ่นควัน เบื่อรถติด เบื่อความเร่งรีบ ลองไปเปลี่ยนบรรยากาศ ล่องเรือชมวิถีชีวิตชุมชน ดูการทำประมงพื้นบ้านริมแม่น้ำสองฟากฝั่ง ไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสายน้ำแห่งชีวิต และเลือกซื้อสินค้าโอทอปแปรรูป ที่บ้านบางพลวง จังหวัดปราจีนบุรี ใช้เวลาไม่นาน รถไม่ติด ไม่หงุดหงิดแถมอิ่มบุญด้วยนะ