1. เดินตลาดย้อนยุคนครชุม ชิมของอร่อย ย้อนกลิ่นอาย “ชั่วฟ้าดินสลาย”
ใครหลงรักย่านเก่าแบบเรา ต้องแวะมาเยือนตลาดย้อนยุคเมืองนครชุมที่จัดทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ สัปดาห์แรกของทุกเดือน พ่อค้าแม่ค้าจะแต่งกายด้วยชุดไทย มีการแสดงพื้นเมือง ถัดจากตลาดไปมีบ้านเก่าที่มีประวัติศาตร์ที่เกี่ยวข้องกับ “พะโป้” ตัวละครสำคัญในนวนิยายชั่วฟ้าดินสลายซึ่งมีตัวตนอยู่จริง
บริเวณตลาดจากถนนศรีรัตน์ไปจนถึงชุมทางเจ้าพ่อเสือ คือชุมชนนครชุม ย่านเก่าติดกับคลองสวนหมากที่มีบ้านสมัยรัชกาลที่ 5 อยู่เยอะ ทั้งบ้านคนจีน บ้านคหบดี บ้านข้าราชการ ในอดีตคึกคักถึงกับเคยมีโรงหนัง แต่เมื่อเวลาผ่านมาคนหนุ่มสาวออกไปเรียนหนังสือไปทำงานในเมือง ชุมชนจึงเงียบเหงาลง จนกระทั่งมีหน่วยงาน เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), อพท., วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร, พาณิชย์จังหวัดกำแพงเพชร, และท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร มาช่วยฟื้นฟูโดยจัดตลาดเมืองนครชุมขึ้น เรียกกันว่า “บ้านปิด ตลาดเปิด” เพราะปิดบ้านมาตั้งตลาดกัน
ตลอดความยาวประมาณ 800 เมตร เราจะพบกับสินค้าที่น่าสนใจ โดยเฉพาะของกินโบราณ เช่น แกงขี้เหล็กสูตรนครชุมที่ใส่หนังหมู โดยมีความเชื่อว่าขี้เหล็กดีที่สุดต้องเก็บในช่วงคืนวันเพ็ญเดือน 12 ฟ้าเปิด ซึ่งเทวดาจะนำตัวยาไปรวมที่ต้นขี้เหล็ก นอกจากนี้ยังมีแกงบอน แกงเขียวหวานที่ใส่กล้วยไข่ดิบ บัวลอย ขนมรังผึ้ง ขนมดอกดิน ไอติมแบบโบราณที่ใช้น้ำหวานราดบนน้ำแข็ง ก๋วยเตี๋ยวยอดหยิ่ง หรือผัดไทยแม่สุภาพ ที่จัดร้านไม่เสร็จก็ไม่ขาย มีทีเด็ดที่เส้นเหนียว นุ่ม อร่อย คนจึงมากินกันแน่นร้าน รวมทั้งเมี่ยงเสียบไม้ ผ้าทอ เรียกว่าเดินเลือกซื้อกันจนเพลิน
ตลาดจัดศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ทุกอาทิตย์แรก ของเดือน ตั้งแต่ 16.00-21.00 น. หากมีเวลาลองข้ามแม่น้ำไปเดินชม
บ้านพ่อค้าสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกกันว่า บ้านห้าง ร.5 หรือ บ้านพะโป้ บ้านหลังนี้มีอายุกว่าร้อยปี เป็นอาคารไม้สองชั้น ยกพื้นสูง ปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรม แม้เข้าไปชมภายในไม่ได้ แต่ก็สามารถชมสถาปัตยกรรมภายนอกได้
พะโป้เป็นคหบดีชาวกะเหรี่ยงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเข้ามาขอพระบรมราชานุญาตทำไม้ในเขตเมืองกำแพงเพชร บ้านหลังนี้ยังเป็นที่ทำการสำหรับควบคุมเส้นทางการชักลากลำเลียงไม้จากป่าทางตะวันตกล่องมาตามคลองสวนหมากเพื่อลงสู่แม่น้ำปิง แล้วล่องต่อไปยัง จ. นครสวรรค์อันเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนล่าง เรื่องราวของพะโป้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ครูมาลัย ชูพินิจ ซึ่งเป็นคนนครชุม นำไปเขียนเป็นตัวละครคหบดีผู้ค้าไม้ในชั่วฟ้าดินสลาย