บันทึก “รถแห่” ในสถานการณ์โควิด-19

ในช่วง 5-10 ปีมานี้ มหรสพสายพันธุ์ใหม่จากดินแดนที่ราบสูงที่รู้จักกันในนามรถแห่ปรากฏอยู่ในสายตาคนทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ในถิ่นที่ของคนอีสานเอง แต่ยังเหมารวมไปถึงภาคกลางและภาคตะวันออกด้วย  รถแห่อีสานวิ่งรับงานกันไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งในรูปแบบของการเป็นมหรสพในพิธีกรรมอย่างงานบวช งานกฐิน งานผ้าป่า ไปจนถึงการเปิดวิก ล้อมผ้า (ล้อมสังกะสี) เก็บเงินค่าเข้าชม ถือเป็นยุครุ่งเรืองของศิลปินอีสานรุ่นใหม่เลยก็ว่าได้

แต่เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ ... ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 และประกาศเคอร์ฟิวซึ่งมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีการประกาศห้ามมีการชุมนุมด้วย งานมหรสพในงานบุญต่างๆ จึงถูกงดไปพร้อมกัน ส่งผลให้รายได้ที่เพิ่มพูนขึ้นจากการวิ่งรับงานของชาวรถแห่ต้องหยุดชะงักไปชั่วขณะ

ตอนนี้ก็ลำบากครับ ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้านไปก่อนเสียงสะท้อนของการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดของเจ้าของรถแห่จากเมืองมหาสารคาม

จากรถยู้สู่รถแห่

รถแห่ซึ่งมีความอลังการใหญ่โต สีสันสดใส ที่หลายคนเคยผ่านตามานั้น มีพัฒนาการมาจากวงดนตรีแห่ในงานบุญของชาวอีสาน จากวงกลองยาวที่มีการผสมวงระหว่างเครื่องประกอบจังหวะ (percussion) คือ กลอง ฉิ่ง ฉาบ กับเครื่องเดินทำนอง (melody) ที่ในระยะแรกมีเพียงพิณและแคน เล่นทำนองพื้นบ้านที่เรียกว่าลายเช่น ลายเต้ย ลายลมพัดพร้าว ลายเซิ้ง ฯลฯ ในเวลาต่อมาก็มีการผสมวงเป็นวงที่ใหญ่ขึ้น นำเครื่องดนตรีสากลมาใช้ ทั้งคีย์บอร์ด กีตาร์ และเบส แต่ยังคงเสียงพิณซึ่งเป็นเอกลักษณ์ความเป็นอีสานไว้ และต่อเครื่องขยายเสียงกับแบตเตอรี่รถยนต์ แล้วใช้รถยู้หรือรถเข็น เข็นแห่รอบหมู่บ้านขนาดเล็ก

เครื่องเสียงที่ติดอยู่กับรถเข็นนั้นถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นเครื่องเสียงขนาดใหญ่ติดตั้งบนรถกระบะ จากนั้นค่อยๆ พัฒนาจนกลายเป็นรถแห่คันใหญ่ขนาดเท่ารถหกล้อ มีเครื่องเสียงเทียบเท่าเวทีหมอลำ และยังสามารถเล่นในขณะเคลื่อนที่ได้ด้วย

ผู้เขียนเห็นว่า รถแห่มีความเป็นลูกผสม (hybrid) ระหว่างความเป็นดนตรีแห่กับวงลูกทุ่งหมอลำ ผสมผสานความเป็นพื้นบ้านและความทันสมัย ผ่านฝีมือความชำนิชำนาญด้านดนตรีและความรู้ด้านเทคโนโลยี

เรื่องดนตรีแห่มันต้องปรับตัวอยู่ตลอดให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ หาสิ่งใหม่ๆ มาให้คนตื่นเต้น เข้ากับรสนิยมคนในแต่ละยุคพี่โอเล่ เจ้าของรถแห่ย่องเบามิวสิคออนทัวร์ มหาสารคามพูดถึงการปรับตัวในฐานะผู้ประกอบการดนตรีรถแห่

รถแห่เน็ตไอดอลบนเวทีออนไลน์

การเล่นดนตรีของชาวรถแห่ไม่ได้มีแค่บนรถในงานบุญหรือล้อมผ้าโชว์ตามงานวัดเท่านั้น ปัจจุบันยังมาโลดแล่นบนเวทีออนไลน์จนมีชื่อเสียงในวงกว้างอีกด้วย  วิดีโอการแสดงสดของรถแห่คณะดังๆ มียอดวิวเป็นหลักล้าน  กระแสความป็อปของรถแห่ดูได้จากนักร้องหลายคนซึ่งดังเทียบเท่านักร้องดังที่มีค่ายสังกัดเลยทีเดียว โดยเฉพาะ ออย แสงศิลป์ ที่ได้สมญาว่าราชารถแห่และ ใบปอ รัตติยา ที่เรียกขานว่าเป็นราชินีรถแห่ต่างก็เติบโตมาจากคลิปวิดีโอรถแห่ที่ลงใน YouTube

นอกจากนี้บรรดาผู้ประกอบการรถแห่ยังมีการรวมกลุ่มกัน เช่นที่พบเห็นในเฟซบุ๊กอย่างชมรมรถแห่ มโหรี ดนตรีสด แห่งประเทศไทยซึ่งจากสถิติปี 2562-2563 มีคณะที่เข้าร่วมจำนวนถึง 39 รายนามรถแห่ และบางเจ้าก็มีรถมากกว่า 1 คัน  แต่ความจริงยังมีรถแห่ที่อยู่นอกชมรมนี้จำนวนมากกว่านี้หลายเท่า  การรวมกลุ่มกันดังกล่าวก็เพื่อหาลูกค้า ปรึกษางาน และตั้งราคากลาง รวมถึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน แชร์ประสบการณ์การทำงานซึ่งกันและกัน สร้างความสนิทสนมกลมเกลียว

การหยุดงานของรถแห่ กับเวลาที่ต้องเดินต่อไป

ปกติเราจะวางแผนไว้ว่า ช่วงเดือนมีนาฯเมษาฯ เป็นช่วงพีค มีงานเยอะที่สุดในรอบปี เราจะเร่งทำงานเก็บเงินไว้สำหรับช่วงเข้าพรรษาที่จะมาถึง สามเดือนที่งานลดลง  ถ้าสถานการณ์แบบนี้แห่ไม่ได้ไปจนถึงออกพรรษาแย่แน่ๆ

ช่วงเข้าพรรษา งานแห่ที่อยู่ในพื้นที่นั้นค่อนข้างน้อยหรือแทบไม่มีเลยสำหรับบางคัน แต่ชาวรถแห่ก็ช่วยกันหาเวทีโดยการขยับรุกเข้ามาเปิดวิกในเมืองกรุง โดยมีชื่อในวงการว่ามหกรรมรถแห่ที่ร้อง เล่น เต้น โชว์ กันในวงล้อมสังกะสี เก็บค่าเข้าชมคนละร้อยสองร้อย

การทำงานที่บ้าน (work from home) สามารถทำได้ในงานหลายอาชีพ แต่ไม่ใช่กับชาวรถแห่และอาชีพศิลปินที่มีหน้างานอยู่กับกลุ่มคน งานบุญ และงานรื่นเริง  จริงที่ว่ารถแห่ไม่ได้มีงานทุกวัน แต่บางวงที่ดังๆ เดือนหนึ่งสามารถรับงานได้มากกว่า 20 งาน  แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถก็ต้องแบกภาระทั้งค่าผ่อนรถซึ่งมีราคาสูงคันละกว่าล้านบาท ทั้งค่าใช้จ่ายภายในบ้านและค่าดูแลสมาชิกในวง  เจ้าของรถแห่บางคันที่อยู่ไม่ได้ แบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว ก็จำใจต้องประกาศขายรถ เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นมากในเฟซบุ๊กช่วงนี้

ดังนั้นรายได้อย่างเดียวที่มีในตอนนี้ก็คือการโลดแล่นบนเวทีออนไลน์ เช่น ยูทูบ เฟซบุ๊ก  สมาชิกบางคนในวงที่เป็นยูทูบเบอร์มีรายได้บ้างจากงานนี้ แต่ไม่มากมายเท่าการเล่นสดที่มีงานอยู่เกือบทุกวัน บางคนจึงขยับไปเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์กันบ้าง

แต่เมื่อต้นเดือนพี่คนที่ทำยูทูบก็เอาเงินมาแบ่งให้คนในวงอยู่ครับเสียงจากนักร้องรถแห่เอ่ยถึงน้ำใจในยามยากจากเพื่อนร่วมงานบางคนซึ่งยังมีรายได้ในวิกฤตนี้ แม้ไม่มากมายแต่พวกเขาก็ช่วยเหลือเจือจานกัน

ขอเป็นกำลังใจให้ศิลปิน คนทำงานทุกท่าน ผ่านวิกฤตและกลับมาจับไมค์ร้องเพลง เต้นหน้ารถ ไปด้วยกันอีกครั้ง

ขอขอบคุณ: คณะรถแห่ย่องเบามิวสิคออนทัวร์ มหาสารคาม, ชมรมรถแห่ มโหรี ดนตรีสด แห่งประเทศไทย

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

Relate Place

Travel

เที่ยวบ้านฉัน…ชาติตระการ

ถ้ากล่าวถึง อำเภอชาติตระการ หลายคนจะรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ คือ น้ำตกชาติตระการ แต่วันนี้เราไม่ได้พาไปเที่ยวชมน้ำตก แต่เราจะพามารู้จักกับบ้านเราอีกหลายมุม ที่หลายคนยังไม่รู้จัก จะว่าไปแล้ว…พวกเรายังรู้จักไม่หมดเลย บ้านเรามีดีขนาดนี้เลยเหรอ

Travel

เมืองสกลเฮานี้ แหล่งของดีมีหลายอย่าง

ในปัจจุบัน จังหวัดสกลนครยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “แอ่งธรรมะแห่งอีสาน” ดังเห็นหลักฐานได้จากวัดวาอารามเก่าแก่ที่มีอยู่มากมาย แสดงถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่มีมาตั้งแต่ครั้งอดีต เ

News

กาลครั้งหนึ่งสงขลา 3 ถนน 2 ทะเล ล้านความทรงจำ

เมื่อเดินทางไปจังหวัดสงขลา หลายคนอาจมุ่งตรงไปที่เมืองหาดใหญ่ โดยไม่รู้ว่าย่านเมืองเก่าสงขลาที่อยู่ไม่ไกลนั้นมีความน่าสนใจไม่แพ้กันเลย ด้วยความเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองมายาวนาน จึงทำให้ย่านเมืองเก่าสงขลามีส่วนผสมจากหลายวัฒนธรรม

ท่าเตียน
Travel

ท่าเตียน

ท่าเตียน ชุมชนท่าน้ำที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนาน สะท้อนวิถีชีวิตที่ผูกพันกันระหว่างวัด วัง ชุมชน และตลาด เป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เริ่มจากมีชาวจีนเข้ามาค้าขายเป็นอันดับแรกๆ จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ที่เริ่มมีการก่อสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น จึงกลายเป็นชุมชนตลาดขนาดใหญ่ เรียกว่า “ตลาดท้ายวัง” หรือ “ตลาดท้ายสนม”