สะหวันนะเขต เมืองที่หัวใจเต้นช้า

เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ผมต้องถอดรองเท้าตั้งแต่หน้าประตูวัด ผูกผ้าเบี่ยงพาดตัว แล้วค่อยๆ เดินย่ำพื้นดินไปที่ “หอแจก” หรือศาลาการเปรียญด้วยเท้าเปลือยเปล่า

เพื่อนผู้หญิงที่มาด้วยก็พากันสวมซิ่นทับกางเกง พาดผ้าเบี่ยงบนบ่า ดูกลมกลืนไปกับผู้สาวลาว จะไม่เข้าพวกก็เพียงหน้าหมวยๆ ของเธอ และท่าเดินที่ไม่คล่องตัว เพราะไม่คุ้นกับพื้นลานวัดที่มีก้อนกรวดและหญ้าเต็มไปหมด

คนที่นี่เชื่อว่าวัดคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เราจึงไม่ควรสวมรองเท้าเข้าไปทำให้เปรอะเปื้อน การแต่งกายต้องสุภาพเพื่อแสดงความเคารพ …ระหว่างย่างก้าวที่เต็มไปด้วยความรู้สึกระคายเท้านั้น ผมนึกย้อนไปว่าปู่ย่าตายายของเราก็คงมีวิธีปฎิบัติที่ไม่ต่างกัน เพียงแต่กาลเวลาและยุคสมัยทำให้ภาพเหล่านี้จางไปจนแทบไม่เหลือ  

การข้ามมาเมืองอีกฝั่งโขงเหมือนได้ย้อนเวลากลับสู่อดีต นอกจากศิลปกรรมลาวพื้นบ้านที่สมบูรณ์ สวยงามและเชื่อมโยงกับภาคอีสานบ้านเราแล้ว เมืองสะหวันยังมีตึกเก่าบอกเล่าความเจริญรุ่งเรืองยุคอาณานิคม และผู้คนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า

สะหวันนะเขต เมืองที่ผู้คนมีชีวิตไม่เร่งรีบ เมืองที่จะพาเราไปผจญภัยกับอดีตอีกครั้ง

โรงรูปเงา ตึกเก่า และความทรงจำไม่มีวันจาง

สำหรับหลายคน สะหวันนะเขตเป็นทางผ่านไปสู่ เว้ ฮอยอัน ประเทศเวียดนาม เทียบความน่าสนใจกับเมืองอื่นๆ แล้วถือว่าเป็นรอง เพราะวัฒนธรรมเก่าไม่โดดเด่นเท่าหลวงพระบาง วิถีชีวิตคนไม่ได้เป็นยุคใหม่แบบเวียงจันทน์ ธรรมชาติไม่ได้อลังการเท่าแขวงจำปาสัก แต่มันอยู่ใกล้ ใกล้จนแค่ข้ามโขงไปสัมผัสบรรยากาศก็พอใจแล้ว

จากมุกดาหารมีทั้งเรือข้ามแม่น้ำโขงและรถประจำทางข้ามแดน ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที เราก็มาอยู่อีกประเทศ รถเปลี่ยนมาขับชิดฝั่งขวา สัญญาณโทรศัพท์หายไป ป้ายต่างๆ เปลี่ยนเป็นภาษาลาว แต่ก็ไม่ยากเกินจะเดาความหมาย เราแวะร้านขายโทรศัพท์ซื้อซิมการ์ดสัญญาณอินเตอร์เน็ต 4 G ปริมาณ 4 GB ราคา 80 บาท ใช้ได้ 7 วัน เท่านี้ก็เพียงพออัพรูปสวยๆ   

เมืองที่มาถึงคือนครไกสอน พมวิหาร นครเอกของแขวงสะหวันนะเขต ตั้งชื่อตามอดีตประธานประเทศ ซึ่งเป็นชาวเมือง  หลังเก็บสัมภาระที่โรงแรม  จุดหมายแรกคือย่านใจกลางเมืองเก่า บริเวณจตุรัสลานอเนกประสงค์ที่ชาวบ้านเรียกว่า ตลาดเย็น ล้อมรอบไปด้วยตึกแถวทรงโคโลเนียลยุคอาณานิคมฝรั่งเศส ฉากหลังมีโบสถ์คาทอลิกเซนต์เทเรซาตั้งเด่นเป็นสง่าคล้ายแลนด์มาร์กของเมือง โดดเด่นสะดุดตาจนต้องยกกล้องขึ้นมาเก็บภาพ

กว่าร้อยปีที่แล้ว ย่านนี้เคยเป็นอาคารสำนักงานของฝรั่งที่มาปกครองและห้างร้านขายสินค้าทันสมัย ผังเมืองเป็นตารางหมากรุกแบบตะวันตก เวลาบ่ายสี่โมงเย็น แสงแดดสีทองพาดลงมายังตึกเก่า ใกล้กันมีต้นมะฮอกกานีที่ฝรั่งเศสปลูกไว้ตั้งแต่สมัยยึดครองอินโดจีนแผ่กิ่งก้านร่มรื่น สถาปัตยกรรมยุคคลาสสิกเหล่านี้ได้รับการบูรณะอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีรอยแตกบนผนังบอกการผ่านเวลา ไม่ว่าจะเดินไปถ่ายรูปมุมไหนก็สวยและมีเสน่ห์ เราจึงได้เห็นนักท่องเที่ยว รวมไปถึงวัยรุ่นลาวมาถ่ายรูปย่านนี้เสมอ

แขวงสะหวันนะเขตก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1642 พอถึงยุคอาณานิคมฝรั่งเศส ระหว่างปี ค.ศ. 1893 -1953 สะหวันนะเขตได้ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์รวมองค์กรของรัฐบาลและศูนย์การค้าลาวใต้ จึงกลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ นโยบายหนึ่งตอนนั้นคือเป็นเมืองปลอดภาษี ทำให้สินค้าประเภทเหล้าเบียร์ บุหรี่ น้ำหอม ช็อกโกแลต และเสื้อผ้าแฟชั่นจากต่างประเทศมีราคาถูกกว่าฝั่งไทยเป็นอย่างมาก พ่อค้าแม่ขายจากฝั่งมุกดาหารที่นำสินค้าการเกษตรมาขายฝั่งสะหวันนะเขต ก็จะซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้กลับไปขายทำกำไรที่ฝั่งไทย

ด้วยอิทธิพลวัฒนธรรมที่ฝรั่งฝากไว้ทำให้ที่นี่มีความศิวิไลซ์ และเป็นตะวันตกมากกว่าที่อื่น วัยรุ่นไทยต้องข้ามโขงมาซื้อเสื้อผ้าแฟชันทันสมัย เที่ยวบาร์และดูหนังเพลงฝั่งสะหวันนะเขต ที่นี่เคยมีโรงหนังซึ่งคนลาวเรียกโรงว่า “โรงรูปเงา”ให้บริการถึง 3 แห่ง  ปัจจุบันเหลือเพียงโรงหนังคูนสะหวันของรัฐบาลที่เปิดให้บริการเพียงครั้งคราว ถัดไปอีกนิดจะพบกับโรงหนังลาวเจริญรามา โรงรูปเงาที่ใหญ่ที่สุดยุคนั้น แม้จะปิดใช้งานและพังเสียหายไป แต่ก็ยังเห็นร่องรอยสถาปัตยกรรมแบบอาร์ต เดโค ที่สวยงามมาก

เราแวะไปที่ร้าน Savan Cafe’ ร้านกาแฟของคนไทยที่เปิดในตึกเก่าบรรยากาศแบบจีนโมเดิร์น ซึ่งเป็นตึกอีกยุคที่มาหลังยุคอาณานิคม มีช่องแสงกลางอาคาร เห็นแล้วนึกถึงหนังของหว่อง กาไว  ที่ร้านมีชั้นดาดฟ้า ให้เรานั่งจิบกาแฟ ทอดสายตาไปยังแม่น้ำโขงยามเย็น มองเห็นสีของท้องฟ้าสะท้อนลงบนผืนน้ำ ฉากหน้าคือเรือหาปลา มีภูเขามโนรมย์และหอแก้วฝั่งมุกดาหารเป็นฉากหลัง กาแฟแก้วนี้จึงพิเศษกว่าแก้วไหนๆ

เจ้าของร้านยังเป็นผู้เขียนหนังสือ โรงรูปเงา ลาวเจริญรามา โดยใช้นามปากกาเล็ก ใบเมี่ยง ตัวละครเก้าในนวนิยายได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตในวัยเด็กของเขา เก้าเป็นคนไทยที่มาตั้งรกรากและเรียนหนังสือฝั่งลาว และพบรักกับสาวสะหวันนะเขตเชื้อสายจีนชื่อซุ่ยเฟย ทั้งคู่ดูหนังด้วยกันที่ลาวเจริญรามา เดินเล่นคุยกันที่ริมโขง ฉากที่ซุ่ยเฟยบอกกับเก้าว่า “พระอาทิตย์ตกที่นี่สวยที่สุดในโลก” คงมาจากภาพแม่น้ำโขงที่อยู่ตรงหน้าเราตอนนี้

หลังดวงอาทิตย์ลับฟ้า ตลาดเย็นกำลังคึกคัก เราย้อนกลับไปหาของกิน ระหว่างนั้นก็ก็นึกภาพตัวละครทั้งคู่เดินเคียงข้างกันอย่างมีความสุขโดยมีฉากหลังคือลานด้านหน้าโบสถ์เซนต์เทเรซา ใครที่เคยมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ คงมีความประทับใจมากมายบรรจุไว้ในลิ้นชักความทรงจำ  

บนเส้นทางความศรัทธา พระธาตุอิงฮัง

อีกวันหนึ่งเราวางแผนออกไปสำรวจเส้นทางเที่ยวรอบเมืองสะหวันเขต คนส่วนใหญ่จะไปถึงแค่พระธาตุอิงฮัง แต่เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวลาวแนะนำโปรแกรมเที่ยวทั้งวันให้ไปถึงเมืองจำพอนที่อยู่เหนือขึ้นไปประมาณ 80 กิโลเมตร สถานที่ต่างๆ จะอยู่ไม่ไกลจากถนนสายหลักหมายเลข 9 เป็นเส้นทางที่มีที่เที่ยวทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมสวยงามแบบดั้งเดิม

รถวิ่งออกเมืองไปทางเหนือประมาณ 12 กิโลเมตร ก็ถึงบ้านธาตุอิงฮัง ระหว่างทางมีชาวบ้านที่มาตั้งร้านขาย ขันหมากเบ่ง ที่ใช้สำหรับนมัสการพระธาตุ ลักษณะคล้ายๆ พวงมาลัยพานพุ่ม บ้านเราก็มีโดยเฉพาะแถวสกลนคร นครพนม ไม่นานนักก็ถึงพระธาตุอิงฮัง พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่สูงสง่า มีศิลปะลาวที่งดงามเช่นเดียวกับพระธาตุพนม

พระธาตุอิงฮังสร้างในสมัยอาณาจักรศรีโคตบองรุ่งเรือง ประมาณ พ.ศ.400 โดยพระเจ้า สุมิดตะทัน วังสา ตามคำแนะนำของสมณฑูตจากอินเดียในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่มีการนำศาสนาพุทธมาเผยแพร่ในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อสร้างเสร็จมีลักษณะเป็นสถูปเจดีย์ขนาดไม่ใหญ่ แล้วจึงอัญเชิญพระสารีริกธาตุจากกรุงราชคฤห์มาบรรจุไว้ ตำนานอุรังคธาตกล่าวว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์โลกและอิงหรือพิงต้นรังบริเวณนี้ จึงตั้งชื่อว่าพระธาตุอิงฮัง

 เมื่อถึงศตวรรษที่ 9 อาณาจักรศรีโคตบองได้เสื่อมอำนาจลง ชนชาติขอมได้เข้ามามีอำนาจแทน พระธาตุได้ถูกดัดแปลงเป็นศาสนาสถานของศาสนาพราหมณ์ลัทธิศิวเทพ มีการบูรณะให้ลวดลายประดับตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ลักษณะของพระธาตุได้เปลี่ยนเป็นทรงปราสาทซ้อนชั้น ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง ปี ค.ศ.1548 พระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ได้ต่อเติมศิลปะล้านช้างบริเวณซุ้มประตูและเสริมบริเวณยอดให้สง่างาม เป็นพระธาตุกว้างด้านละ 9 เมตร สูง 25 เมตร ดังที่เห็นในปัจจุบัน

 คนสะหวันนะเขตเชื่อว่า พระธาตุอิงฮังศักดิ์สิทธิ์มาก ใครมาขออะไรก็มักสมหวัง โดยเฉพาะคนอยากมีลูก เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวลาเธอการันตีด้วยตัวเองแบบเขินๆ วิธีการคือต้องจะเขียนคำขอในกระดาษ ใส่พานวางไว้ให้หมอพร หรือคนที่ติดต่อกับเทวดาได้อ่านออกเสียง เมื่อประสบผลสำเร็จก็ซื้อขันหมากเบ่งมาแก้บน

ดงลิงและฝายสุย

หลังจากนมัสการพระธาตุอิงฮังแล้ว เราเดินทางต่อมาถึงเมืองเซโน บริเวณหัวมุมถนนใกล้สถานีขนส่งมีร้านขายไก่ย่างเยอะมาก อารมณ์เดียวกับไก่ย่างวิเชียรบุรี หรือไก่ย่างเขาสวนกวางบ้านเรา แต่ที่น่าสนใจคือมีไก่สดที่ชาวบ้านนำมาขายด้วย บรรยากาศก็เป็นแบบบ้านๆ ที่เอาไก่ใส่สุ่ม ใส่รถเข็นทรายก่อสร้างมาขายกันแบบนั้น ถ้ามีโอกาสอยากให้แวะชิมเพราะไก่บ้านที่นี่เนื้อแน่นนุ่มอร่อย

ไม่นานนักเราก็มาถึง “ดงลิง” ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นป่าที่อยู่อาศัยของบรรดาลิงแสม มีเยอะไม่แพ้ลิงเมืองลพบุรี ออกลูกออกหลานกันเต็มไปหมด เพียงแต่เปลี่ยนฉากเป็นป่า กิจกรรมที่เขาแนะนำมาคือให้อาหารลิง  ภาพในจินตนาการของเราคือซื้อกล้วยมาโยนให้มัน แต่ในความเป็นจริงลิงพวกนี้ชอบมาแย่งของกินจนต้องทำกรงล้อมร้านไว้ พอเราแค่ถือกล้วยออกมาจากกรงพวกมันก็มาแย่งจากมือไปหมดแล้ว

ฝูงลิงอาศัยอยู่บริเวณป่าแห่งนี้มาตั้งแต่โบราณ คนเฒ่าคนแก่บอกว่าเห็นมาก่อนที่จะเกิด ไม่มีใครกล้าไปทำร้ายหรือไปจับ เพราะเชื่อกันว่า ลิงเหล่านี้เป็นบริวารของเจ้าพ่อมเหศักดิ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องดูแลพื้นที่ ใครไปทำร้ายจะเกิดภัยพิบัติกับตนเองและครอบครัว กลางวันมันจะออกมาหากินริมถนนข้างวัด พอกลางคืนก็จะกลับเข้าไปในป่า 120 ไร่ ซึ่งเป็นป่าโบราณ มีต้นยางขนาดใหญ่ถึง 5 คนโอบ

 

จากดงลิง เรามุ่งหน้าไปกินข้าวกลางวันกันที่อ่างเก็บน้ำฝายสุย ในเมืองจำพอน ระหว่างทางนั้นคือทุ่งนาธรรมชาติกว้างสุดสายตาแบบที่ไม่ได้เห็นมานานมากแล้ว ชาวบ้านยังดำนาด้วยแรงคน มีควายตัวสีดำมะเมื่อมบึกบึนเป็นเครื่องมือสำคัญ ช่วงฤดูฝนต้นข้าวสีเขียวเต็มนา หนองบึงมีน้ำเต็มปริ่ม บ้านเรือนข้างทางส่วนมากยังเป็นแบบโบราณใช้ใบไม้มาทำฝา

ฝายสุยเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้สำรองน้ำไว้ใช้ทำนา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง และมีฝายน้ำล้นที่ทำเป็นบันไดปลาโจน ใจกลางอ่างเก็บน้ำมีเกาะแก่งที่อุดมสมบูรณ์หลายแห่ง มีดอกบัวบาน มีฝูงปลานานาชนิดที่อาศัยอยู่ รวมทั้งมีนกอพยพมาตามฤดูกาล ในช่วงฤดูแล้งประชาชนจะจับปลาและหอยมาขายให้กับคนที่เดินทางผ่านไปมา และมีร้านอาหารให้แวะกินอาหารลาวพื้นบ้าน เช่น ต้มหอย ส้มตำ ปลาปิ้ง และอาหารประจำถิ่น แปลกที่สุดคงเป็น “หอยปัง” คล้ายๆ หอยขมต้มเพียงแต่ตัวใหญ่กว่า เวลาเคี้ยวจะกรุบๆ ต้องกินกับน้ำจิ้มที่มีกลิ่นคล้ายกะปิ ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ในการกินของเราเลย

สง่างามศิลปกรรมลาว หอพระไตรปิฎกกลางน้ำ สิมเก่า  

ตอนบ่ายเราไปที่หอพระไตรปิฎก บ้านหนองลำจัน ผู้มาเยือนต้องแสดงความเคารพต่อสถานที่ด้วยการสวมผ้าเบี่ยง นุ่งผ้าซิ่นทับกางเกงหรือกระโปรง ถอดรองเท้าไว้ตั้งแต่หน้าวัด แล้วเดินเข้าไปด้วยเท้าเปล่า

หอแจกหรือศาลาการเปรียญไม้เก่าของวัดมีทรงที่สวยงามและสมบูรณ์มาก หน้าบันเป็นงานปูนปั้นที่อ่อนช้อย ชายคาหลบต่ำคล้ายวิหารล้านนา บนศาลามีธรรมาสน์ไม้โบราณที่น่าชม

จากหอแจกเดินต่อไปด้านหลังวัดจะพบหนองน้ำ มีทางเดินมุงหลังคาให้เราเดินไปชมหอพระไตรปิฎกที่ตั้งอยู่กลางน้ำ นับเป็นหอไตรที่สัดส่วนสวยงามและได้รับการบูรณะอย่างดี สามารถซื้อพานของไหว้ไปสักการะและขอชมภายในหอไตรได้ ที่ต้องตั้งกลางน้ำเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันพวกมดแมลงและผู้ไม่หวังดีที่จะเข้าไปทำลายคัมภีร์ใบลานความรู้ต่างๆ ที่เก็บไว้   

หอพระไตรปิฎกแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ก่อนจะบูรณะปฏิสังขรครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 19 มีคัมภีร์ใบลานที่เขียนในภาษาบาลีพม่าอักษรตัวเขมรและลาวโบราณกว่า 4,000 ฉบับ ทั้งคำภีร์ทางพระพุทธศาสนาและภูมิปัญญาความรู้ต่างๆ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรัฐบาลไทยเคยมอบทุนในการบูรณะเป็นจำนวน 1 ล้านบาท

จากหอไตร รถเราเคลื่อนต่อไปยังวัดตาแหลว เส้นทางค่อนข้างจะลำบากเป็นหลุมบ่อเป็นระยะ แต่พอมาถึงหน้าวัดก็ทึ่งกับสถาปัตยกรรมของสิมหรือโบสถ์เก่าทรงคล้ายตึกฝรั่ง ด้านหน้าสิมมีอาคารอีกหลังที่พังทลายเพราะถูกระเบิดในช่วงสงครามเย็นกับสหรัฐอเมริกา

ก้าวแรกเมื่อเปิดประตูเข้ามาเราจะเห็นธรรมมาสน์ที่ตั้งตระหง่านตรงกลาง แต่มีช่องเล็กๆ ที่นำสายตาไปยังพระประธานศิลปะลาวที่ประดิษฐานไว้ในซุ้มด้านหลัง ฐานพระพุทธรูปเป็นปูนปั้นช้าง มีช่องเสียบงา เล่ากันว่าเป็นช้างของอดีตเจ้าอาวาส ที่น่าสนใจคือการตกแต่งของสิมเป็นแบบอสมมาตร ถ้าเรายืนตรงกลางจะเห็นด้านซ้ายและขวาไม่เหมือนกัน ถือเป็นความ “ล้ำ” ของช่างสมัยนั้น

ผนังอาคารทั้งหมดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นบ้าน ที่เราเรียกว่าฮูปแต้ม เป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก ชาวบ้านเล่าว่าวาดโดยท่านเจ้าอดีตอาวาส ท่านทุ่มเทแรงกายทำงานนี้หนักจนตาบอด ว่าแล้วเขาก็เล่าเรื่องราวต่างๆ ในชาดกพระเวสสันดรให้ฟังอย่างออกรส เหมือนกัณหา ชาลี ชูชก มีชีวิตออกมาโลดแล่นจากผนัง ทำให้เราได้เห็นถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าของคนที่นี่

ที่สุดท้ายที่เราไปคือ หนองปาผา ภาษาอังกฤษเขียนว่า Turtle Lake แต่จริงๆ แล้วคือหนองน้ำที่เต็มไปด้วยตะพาบ! ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นตะพาบศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยดูแลให้คนในชุมชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข พวกเขาจึงไม่มีใครกล้าไปจับตะพาบขึ้นมา หนำซ้ำยังเอาอาหารไปให้ตะพาบทุกวัน และมีการจัดเวรยามคอยเฝ้าไม่ให้มีคนมาลักลอบจับไปด้วย

ตะพาบที่นี่มีกว่า 400-500 ตัว ตัวที่หนักที่สุดน่าจะหนักกว่า 50 กิโลกรัม ที่น่าตื่นตาที่สุดคือเวลาให้อาหารตะพาบ เราคงคุ้นเคยกับการให้อาหารปลาตามวัด บรรยากาศก็เป็นแบบนั้นเลยเพียงแต่เปลี่ยนจากปลาเป็นตะพาบที่มารอฮุบขนมที่โปรยลงไป ชาวบ้านจะพูดว่า “ควายตุ๊เอ๊ย ควายตุ๊มากินข้าว” เป็นการเรียก บางคนเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนเสียบกับไม้ แล้วหย่อนลงไป ตะพายก็จะว่ายมาฮุบ เป็นภาพที่น่ารักและแปลกตามาก จนไม่คิดว่าจะได้เห็นที่ไหนอีกแล้ว

ท้องฟ้ามืดลง รถของเราขับผ่านเส้นทางกลับที่เป็นหลุมบ่อไปช้าๆ จนในที่สุดที่กลับมาที่นครไกสอน เมืองสะหวันนะเขต

การเดินทางในวันนี้ทำให้นึกถึงคำพูดของเพื่อนชาวลาวคนหนึ่งว่า คนลาวมีความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และมีความเชื่อในสิ่งที่ลี้ลับเหนือธรรมชาติอยู่ แม้บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เพราะความเชื่อแบบนี้เองที่ช่วยรักษาวัฒนธรรมเก่าๆ ของลาวให้ยังอยู่ได้โดยไม่จางหายไป

วันรุ่งขึ้นเรามานั่งร้าน Sooksavan Cafe’ and Bistro ละเลียดกาแฟลาวหอมกรุ่น และแวะซึมซับบรรยากาศเมืองเก่าสะหวันนะเขตอีกครั้งก่อนร่ำลา และเดินทางข้ามโขงกลับมายังเมืองมุกดาหาร

2 วัน 1 คืน ในเมืองสะหวันนะเขต สร้างความทรงจำใหม่ๆ มากมาย เมืองที่จะทำให้เราหลงรักบรรยากาศเก่าๆ ของตึกโคโลเนียล รักความงามของสายน้ำโขงจากอีกฟากฝั่ง มองเห็นความงามในความเรียบง่าย และชื่นชมความศรัทธาในสิ่งที่เชื่อ

สะวันนะเขตคือเมืองสวรรค์ที่อยู่อีกฟากของฝั่งโขงนั่นเอง

Info

สะหวันนะเขต

ขอขอบคุณ

สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

ปณัสย์ พุ่มริ้ว

ปณัสย์ พุ่มริ้ว

Relate Place

Travel

BHAKTAPUR เมืองโบราณที่ยังมีลมหายใจ

ณ หุบเขากาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล มีที่แห่งหนึ่งที่จะพาคุณย้อนกลับไปสู่โลกแห่งอดีตเมื่อ 1,000 กว่าปีก่อน นั่นคือเมืองบักตะปูร์ เมืองโบราณที่ยังมีลมหายใจ

Mt. Takao
Travel

อาบป่า สัมผัสธรรมชาติ ที่ Mt. Takao

หากต้องจินตนาการตัวเองเป็นองค์ประกอบในธรรมชาติ คุณจะเลือกเป็นอะไร ผมเคยอยากเป็นใบไม้ เป็นนก เคยอยากเป็นสายลม เพราะความอิสระที่ได้รับ แต่นั่นมันสมัยที่ตัวเองยังเด็ก เมื่อโตขึ้นจินตนาการเหล่านั้นกลับหลุดลอยไป “เราจะเป็นสิ่งอื่นได้อย่างไร ถ้าเรายังเป็นมนุษย์ที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำอยู่แบบนี้” ผมบอกกับตัวเองเช่นนั้น ก่อนที่ชีวิตจะรู้จักการอาบป่า