เที่ยวงานวัดบางยี่ขัน ชมจิตรกรรมงานชั้นครูในพื้นที่บ้านสวนฝั่งธนฯ

“เพลิดเพลินเคยเดินด้วยกัน แทะไหมฝันดูรถไต่ถัง หยอกเย้าบนชิงช้าสวรรค์ ถ่ายรูปคู่กันกินขนมจีนข้างทาง..” (เพลงงานวัด โดยวงเพื่อน)

เพลงงานวัดนี้อาจจะสะท้อนวัยเด็กของหลายคน ชวนให้นึกถึงความรื่นเริงของผู้คนในอดีตที่สัมพันธ์กับวัดในฐานะของศูนย์กลางชุมชน งานวัดเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจผู้คนด้วยมหรสพต่างๆ และอาหารการกินมากมาย รวมถึงเป็นที่พบปะสังสรรค์ของวัยรุ่นหนุ่มสาวได้ใช้เวลาพูดคุยหยอกเย้ากัน

สำหรับงานวัดบางยี่ขันจัดขึ้นทุกปีในช่วงวันมาฆบูชา เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ภายในคึกคักไปด้วยเครื่องเล่น อาหารการกิน เด็กในชุมชนวิ่งเล่นกันสนุกสนาน มีทั้งเสียงหัวเราะและคราบน้ำตาของเด็กที่งอแงจะเอาของเล่น เป็นสีสันของงานวัดกับเด็กน้อยที่ไม่เคยเลือนหายไปไหน

1
บรรยากาศงานวัดบางยี่ขัน
ผู้คนในชุมชนได้มีการเที่ยวเล่น จับจ่ายใช้สอยที่งานวัดบางยี่ขัน
หลวงพ่อนาคที่อัญเชิญลงมาจากโบสถ์เพื่อให้ญาติโยมได้กราบไหว้ ปิดทอง

เสียงโหมโรงดังสนั่นจากเวทีมหรสพลิเกที่เชิญชวนชาวบ้านใกล้ไกลมาเตรียมตัวรอนักแสดงแต่งตัว ปะแป้งก่อนออกมาแสดงโชว์ อีกฟากของวัดเป็นมุมของหนังกลางแปลงจอใหญ่เด่นอยู่ในมุมมืด ถึงคนดูจะไม่มากแต่คนฉายหนังก็ไม่อิดออดที่จะฉายหนังต่อไป

เราเดินไปตามมุมต่างๆ ของวัด งานวัดอาจจะเรียบง่ายและไม่คึกคักมากมายอย่างในอดีตที่ผู้ใหญ่มักเล่าถึง เพราะทุกวันนี้แหล่งรวมความบันเทิงหาง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น หนังกลางแปลงและลิเกมีคนดูน้อยลง แต่วัดก็พยายามที่จะยังคงรักษาบรรยากาศงานวัดไว้ให้ชาวบ้านละแวกวัดได้มีกิจกรรมร่วมกัน

จุดไฮไลท์นอกจากความสนุกสนานแล้ว ยังมีส่วนให้ชาวบ้านทำบุญ โดยทางวัดมีการอัญเชิญหลวงพ่อนาค พระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ปกติประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถลงไปให้ชาวบ้านปิดทองและกราบสักการะอย่างใกล้ชิดอยู่บริเวณศาลาวัด และโชคดีของเราที่มาช่วงวัดมีงานเลยได้เข้ามาในโบสถ์กราบพระประธาน ชมจิตรกรรมของครูช่างที่มีชื่อเสียงในย่านฝั่งธน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
พระทําวัตรเย็นภายในโบสถ์วัดบางยี่ขัน

วัดบางยี่ขัน ศูนย์กลางชุมชนที่เก่าแก่ในพื้นที่บ้านสวน

ตามประวัติเล่าถึงความเก่าแก่ของวัดนี้ที่มีมาประมาณราวปี พ.ศ.2172 เดิมชื่อ “วัดมุธราชาราม” บางเอกสารระบุชื่อว่า “วัดมุขธราชธาราม” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาและมีการบูรณะในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงรัชกาลที่ 2-3 พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีหน้าบันและคันทวยเป็นไม้สลัก ใบเสมาทำด้วยศิลาทรายสีแดง อยู่ในเขตพุทธาวาสที่ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านกลางวัด แยกพระอุโบสถออกจากส่วนอื่นๆ ของวัด ว่ากันว่าเคยเป็นถนนที่ใช้ลำเลียงสุราของโรงสุราบางยี่ขัน จึงไม่แปลกใจที่พบว่าทำไมมีถนนอยู่กลางวัดได้ ปัจจุบันเป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนละแวกนี้

ในอดีตคลองบางยี่ขันเป็นพื้นที่ที่รุ่งเรือง มีชื่อเสียงจากความเป็นสวนเงาะ ทำให้เจ้าของสวนในแถบนั้นมีฐานะดี มั่งคั่งรำรวย มีเรื่องเล่าว่ารสชาติดีถึงขั้นที่เจ้าของสวนแห่งหนึ่งได้รับพระราชทานสิทธิ์พิเศษไม่ต้องเสียค่าอากรสวน และของขึ้นชื่อบางยี่ขันที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยคือโรงสุราบางยี่ขันซึ่งสุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองตอนหนึ่งว่า

“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา

โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
ภาพจิตรกรรมเบื้องหน้าพระประธานภายในโบสถ์วัดบางยี่ขัน
OLYMPUS DIGITAL CAMERA
ภาพพระพุทธเจ้ายืนเหนือมหาสมุทร จิตรกรรมเบื้องหลังพระประธานภายในโบสถ์วัดบางยี่ขัน
ภาพเทพชุมนุมเบื้องขวาของพระประธานภายในโบสถ์วัดบางยี่ขัน
ยักษ์ผู้หญิง หรือ “ยักษ์บางยี่ขัน”

ชมจิตรกรรมเลื่องชื่อในวัดบางยี่ขัน

จิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของครูคงแป๊ะ จิตรกรเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ฝีมือการเขียนภาพของท่านจะสอดแทรกอัตลักษณ์ความเป็นจีนอยู่เสมอ พระท่านชี้ให้เราดูภาพเทวดาจีนองค์น้อยๆ ที่ปะปนอยู่กับเทวดาแบบไทย “นั่นไงเทวดาแปะ มองเห็นกันไหม” เราต่างพากันร้อง “อ๋อ..” มองเห็นเทวดาจีนในมุมมืดๆ สูงกว่าระดับศีรษะขึ้นไปอีก

ผนังระหว่างช่องหน้าต่างและประตูเป็นภาพเขียนเรื่องทศชาติชาดก ผนังเหนือขอบหน้าต่างเขียนเป็นภาพเทพชุมนุม  บริเวณด้านหลังพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนเหนือมหาสมุทรมีปูและปลาพอให้เห็นว่าเป็นผืนน้ำ มีสาวกขนาบซ้ายและขวาในท่าประคองอัญชลี  อาจารย์สันติ เล็กสุขุม ให้ความเห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในวัฒนธรรมมอญและอาจเป็นฝีมือการซ่อมในระยะหลัง

ส่วนด้านหน้าพระประธานเป็นชุดภาพทศชาติเรื่องมโหสถ เหนือขึ้นไปคือภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ และพระแม่ธรณีบีบมวยผม ภาพจิตรกรรมยังมีความสวยงามอยู่หลายจุด ความเฉพาะของผนังด้านหน้าพระประธานคือยักษ์ผู้หญิง พระท่านบอกพร้อมติดตลกกับเราว่า “นี่แหละยักษ์บางยี่ขัน ไม่เป็นยักษ์ผู้ชายเหมือนที่อื่น” แต่น่าเสียดายที่จิตรกรรมฝาผนังฝั่งทางซ้ายของพระประธานยังมีความชำรุดเลือนหายอยู่มากรอการซ่อมแซมปรับปรุง

ภาพจิตรกรรมภายในโบสถ์วัดบางยี่ขัน ที่สะท้อนถึงความเป็นสวนเงาะ สวนผลไม้ของชาวบ้าน
เทวดาจีนในวัดบางยี่ขัน

นอกจากนี้ยังเห็นว่าภาพเขียนในพระอุโบสถวัดบางยี่ขันสะท้อนให้เห็นถึงภาพวิถีชีวิตของผู้คนในฝั่งธนบุรีที่มีการทำสวนผลไม้ต่างๆ อย่างละเอียดและสวยงาม มีเงาะบางยี่ขันในภาพเขียนที่เล่าลือกันหนักหนาว่าสุดแสนจะอร่อย หากเข้าไปชมแล้วต้องใช้สายตาและจินตนาการสอดส่องดูเพราะภาพอาจจะเล็ก และด้วยสีสันที่เป็นธรรมชาติดูกลมกลืนสวยงามจึงไม่โดดเด่นสะดุดตามาก ผู้ชมจำเป็นต้องพกความตั้งใจนั้นไปด้วย

อ้างอิง

การศาสนา,กรม.ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม2.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา(2526)

สันติ เล็กสุขุม, “จิตรกรรมฝาผนังของวัดฝั่งธนบุรี : วัดบางยี่ขัน,” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 30 ฉบับที่ 3

กรกฎาคมกันยายน 2547, หน้า 132-134

.พลายน้อย.แม่น้ำลำคลอง.กรุงเทพฯ : มติชน.2555
Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest

Info

วัดบางยี่ขัน

ที่อยู่: 376 ถนน จรัญสนิทวงศ์ แขวง บางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700
 
 
โทรศัพท์: 02 883 1152
Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

Relate Place

Travel

สวนตาสรรค์ สปาปลา กลางธรรมชาติ

จะดีแค่ไหน ถ้าได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติแสนร่มรื่น ใต้เงาไม้สูงใหญ่อายุหลายสิบปี สูดอากาศบริสุทธิ์ได้แบบเต็มปอด พร้อมนั่งหย่อนเท้าในลำธารให้น้ำใสเย็นชุ่มฉ่ำ พร้อมฝูงปลาน้อยใหญ่ ช่วยบำบัดคลายความเหนื่อยล้า เปรียบดั่งการทำสปาท่ามกลางธรรมชาติ

News

ททท.สำนักงานแพร่ ขอเชิญร่วมงาน “ลอยกระทง เล่าขาน ตำนานเมืองลอง สืบสานมรดกผ้าจก 200 ปี”

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สานักงานแพร่ ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว และผู้สนใจเข้าร่วมงาน ลอยกระทง เล่าขาน ตานานเมืองลอง สืบสานมรดกผ้าจก 200 ปี ในระหว่าง วันที่ 20 – 22 พฤศจิกายน 2561 ณ วัดศรีดอนคา อ.ลอง จ.แพร่

Eat

3 ร้านอร่อยย่านปากคลอง-พาหุรัด

ใครแวะมาเดินแถวพาหุรัดแล้วรู้สึกหิว มาเติมพลังด้วยของอร่อยหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่างมีของกินให้เลือกมากมาย “นายรอบรู้”ขอคัดแบบเด็ดๆ มา 3 ร้านมาแนะนำกัน

เฉาก๊วยธรรมดาที่ไม่ธรรมดา “เฉาก๊วยแตกต่าง” แห่งเมืองลำพูน

“จับตูด งัดนม ยกซด” ที่กล่าวมาอาจฟังดูสองแง่สองง่าม กระเดียดไปทางทะลึ่งตึงตังไม่น้อย แต่นี่คือคำจำกัดความวิธีกินขนมของแม่ค้าเมืองลำพูน ลองทายกันดูสิ ขนมนี้คืออะไร