ผ้าเขียนเทียน Hmong Batik กราฟิกบนผืนผ้า

ขีด ขีด ขีด จุด จุด  มือบอบบางมือหนึ่งถือของที่คล้ายปากกาด้ามยาว ยกขึ้นจากการขีด ขีด จุด จุด บนผืนผ้าดิบ  นำไปจุ่มลงในหม้อที่เต็มไปด้วยน้ำเทียนหลอมละลาย  สะบัดมือนิด แล้วนำขึ้นมา ขีด ขีด ขีด เขียนวาดลงบนผ้า  จนปรากฏลวดลายรูปร่าง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม เส้นตั้ง เส้นนอน จุดไข่ปลา จนเป็นภาพกราฟิกลวดลายเรขาคณิด ที่ดูแข็งแรงแต่อ่อนช้อยอยู่ในที

หญิงชราที่แต่งชุดประจำเผ่านั่งเขียนอย่างมีสมาธิตรงนั้น  เป็นภาพจำภาพหนึ่ง ซึ่งผมเห็นในงานแสดงสินค้าบริเวณกลางเวียงน่าน  ด้านหลังของเธอเป็นผ้าสีน้ำเงินที่มีลวดลายสีขาวแขวนแสดงอยู่หลายผืน ถามดูจึงได้คำตอบว่าเป็นผ้าเขียนเทียนของชาวม้ง

ปกติยามเมื่อเราท่องเที่ยวไปตามดอยสูงในภาคเหนือ จะพบกลุ่มคนเหล่านี้บนดอยสูง สวมใส่กระโปรงจีบบานพร้อมเสื้อที่มีลายปักต่างๆ อย่างงดงาม แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า ตัวกะโปรงนั้นมีงานศิลปะชนิดหนึ่งซ่อนอยู่  นั่นก็คือ “ผ้าเขียนเทียน”

ผ้าชนิดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นผ้าบาติกม้ง  (Hmong Batik) ในสมัยก่อนจะใช้ผ้าที่ทำจากใยกัญชง มาทอเป็นผืน กว้างประมาณ 1 ฟุต ยาว 3 หลา พอว่างจากงานสวนไร่นา หญิงสาวชาวม้งจะใช้ปากกาเขียนขี้ผึ้ง ซึ่งทำด้วยไม้ยาวพันปากด้วยทองแดง หรือทองเหลือง ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมใช้ด้านแหลมพันกับปลายไม้  ด้านป้านใช้จุ่มกับน้ำเทียน และใช้วิธีเขียนลายลงบนผืนผ้า จากนั้นจึงนำไปย้อมห้อม จนได้สีน้ำเงินครามเข้ม จากนั้นจึงนำมาต้มเพื่อให้น้ำเทียนละลายออกจนปรากฏลวดลายกราฟิกสีขาวบนพื้นสีน้ำเงิน

เมื่อเสร็จแล้วจะนำมาจับจีบทำเป็นกระโปรง ซึ่งตัวหนึ่งๆ อาจใช้เวลาหลายเดือน ก่อนจะกลายเป็นกระโปรงตัวใหม่เพื่อสวมใส่ในงานเฉลิมฉลองปีใหม่

ผ้าเขียนเทียนแห่งตำบลป่ากลาง        

เมื่อวันเวลาเปลี่ยนแปลงไป การที่หญิงสาวชาวม้งจะมานั่งใช้ปากกาจุ่มน้ำเทียน แล้วมาเขียนทีละขีด ทีละขีด วาดทีละเส้น ทีละเส้น ก็ไม่ทันกับกาลที่ผันเปลี่ยน  อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้หญิงสาวชาวม้งรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ แทบจะไร้ฝีมือการทำผ้าเขียนเทียนไปแล้ว

แต่ก็ยังมีอีกหลายบ้านใน ต. ป่ากลาง เช่น บ้านป่ากลาง บ้านค้างฮ่อ บ้านน้ำเปิน ที่ยังคงมีผู้สืบทอดการทำผ้าเขียนเทียนนี้  อีกทั้งยังได้มีการประดิษฐ์ตัวปั๊ม ที่ใช้จุ่มน้ำเทียนขึ้นมาใหม่ อาจเรียกว่าเป็น “ผ้าพิมพ์เทียน” ก็ได้ โดยช่างผู้ทำแม่พิมพ์ลายนั้น เดิมเคยเป็นช่างทำทอง ได้นำลวดลายต่างๆ ที่แกะลายออกมาจากกระโปรงรุ่นเก่า หรือออกแบบขึ้นมาใหม่  โดยใช้เส้นลวดทอดแดงมาตัด ดัด ขด เชื่อมต่อให้เป็นลวดลายต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งลายเหล่านี้มีทั้งลายโบราณอายุหลายร้อยปี ที่เป็นลายดั้งเดิมของชาวม้ง  ลวดลายกราฟฟิกสมัยใหม่ที่ตัดทอนมาจากดอกชมพูภูคา หรือลายลูกต๋าว บางบ้านก็สร้างสรรค์วิธีการเขียนลวดลายแบบใหม่ๆ ผสมผสานกันออกมาอย่างสวยงาม

แต่ถึงกระนั้นการใช้ตัวพิมพ์ลายก็ยังต้องมีความชำนาญในการ ตรวจสอบน้ำเทียนไม่ให้จุ่มมากเกินไป จนพิมพ์แล้วลายล้น หรือน้อยเกินไปจนเทียนไม่ติด แต่ด้วยลักษณะที่เป็นงานที่ทำด้วยมือ ไม่ใช่เครื่องจักร เส้นสายจึงอาจหนาบางไม่เท่ากัน ซึงนั่นก็เป็นเสน่ห์ของงานฝีมือ

ต. ป่ากลาง อ. ปัว จังหวัดน่านจึงกลายเป็นแหล่งผลิตผ้าเขียนเทียนแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองไทย โดยกลุ่มผู้ผลิตในตำบลป่ากลาง หลายบ้านผลิตตามคำสั่งซื้อที่มาจากที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม อเมริกา อีกทั้งยังมีร้านจำหน่ายหลายร้านที่ดัดแปลง ประยุกต์จากผ้าผืน เป็นเสื้อ กระโปรง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง และอื่นๆ อีกมาก กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเมืองน่านในขณะนี้

อุปกรณ์การเขียนเทียนแบบเก่า ทำจากทองแดง หรือทองเหลือง มัดเข้ากับด้ามไม้ หรือไม้ไผ่มีทั้งแบบ เส้นเดียว สองเส้น ไปจนถึงหกเส้น
คนทำจะพิมพ์ลายลงไปเรื่อยๆ จนเสร็จทั้งผืน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อผืน
ตัวพิมพ์ลาย ซึ่งทำจากขดลวดทองแดง ขด ดัด ตัด เป็นลายต่างๆ

ขั้นตอนการผลิตผ้าเขียนเทียน

ผ้าที่ใช้ในการผลิตนั้น ปัจจุบันมีสามแบบคือ ผ้าสปันเรยอน ผ้าฝ้ายดิบ และผ้าฝ้ายฟอกขาว โดยเมื่อตัดผ้าตามขนาดที่ต้องการแล้ว  จะใช้ตัวปั๊มจุ่มน้ำเทียนที่ละลายแล้วนำมาพิมพ์ลงบนผ้าจนเสร็จ  ผืนหนึ่งหากใช้เวลาทำเพียงผืนเดียวจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงแล้วแต่ขนาด  แต่ในความเป็นจริงจะทำทีละหลายๆ ผืน หนึ่งวันอาจทำได้มากที่สุด 20 ผืน

เมื่อพิมพ์ลายเสร็จ จะได้ลวดลายเทียนบนผ้าสีขาว ที่เห็นลายเป็นสีน้ำเงินนั้นเนื่องจากใช้น้ำเทียนที่ผ่านการย้อมมาแล้ว จึงเป็นลายสีน้ำเงินบนพื้นขาว
หลังจากนั้นจึงนำผ้าไปย้อมฮ่อมในถังหมัก ใช้เวลาประมาณ 15 นาที แล้วจึงนำไปตากแดดในที่ร่ม ก่อนนำมาย้อมซ้ำอีก 4-5 ครั้ง
นำไปตากในที่ร่ม บางบ้านอาจนำไปตากใต้ร่มไม้ หรือนำไปตากในโรงเรือนที่ทำไว้โดยเฉพาะ

หลังจากพิมพ์ลายเทียนเรียบร้อยแล้ว จะนำไปย้อมฮ่อม ซึ่งเป็นการย้อมเย็น โดยใช้เวลาจุ่มผ้าไว้ในถังประมาณ15 นาที แล้วจึงนำไปตากในที่ร่ม เนื่องจากถ้านำไปตากแดดแรงๆ เทียนจะละลาย สีจะซึมเข้าไปในลาย ทำให้ลายหายไปได้  ซึ่งผ้าผืนหนึ่งจะย้อม 4-5 ครั้ง เพื่อให้ได้สีน้ำเงินที่สดเข้ม ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน

จากนั้นจะนำไปต้มในน้ำเดือดพร้อมทั้งขยี้ผ้าให้น้ำเทียนละลายออก
ก่อนนำไปล้างในน้ำสะอาดอีกครั้ง

หลังจากนั้นจะนำผ้าไปต้มในน้ำเดือดจัด เพื่อละลายเทียนออกจากผ้า  โดยน้ำเทียนที่ละลายนั้นจะตักออกไปใช้ในการพิมพ์ลายใหม่ได้  หลังจากต้มในน้ำเดือดแล้ว จะนำมาซักน้ำเปล่าอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าเทียนหลุดออกหมด แล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้ง ก่อนจะนำมาม้วน หรือพับ ตามแต่ชนิดของผ้า เพื่อส่งขายต่อไป

จากนั้นก็นำไปตากจนแห้ง

TIP

ชาวม้งแบ่งเป็นหลายกลุ่ม ในไทยมีทั้งม้งขาว ม้งเขียว ม้งลาย การเขียนผ้าด้วยน้ำเทียนนี้ เป็นวัฒนธรรมร่วมทั้งในจีน เวียดนาม ลาว ไทย บางแห่งเรียกว่า “เซากังเจี๋ย” และยังมีชาวม้งในไทยอีกหลายแห่งที่ทำผ้าเขียนเทียนนี้
อุปกรณ์การเขียนเรียกว่า “ฮั่วต้า” บางแห่งเรียกว่า “หลาจัง”  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Tjanting แต่ก็แตกต่างจากจันติ้งของทางมลายู อินโด ที่มีกรวยเก็บน้ำเทียนไว้ด้านใน

ลวดลายต่างๆ บนผืนผ้า ซึ่งมีทั้งลายกราฟิกแบบโบราณ ลายลดรูปคล้ายดอกไม้ ซึ่งแต่ละผืนจะได้สีสันและลวดลายที่คล้ายๆ กัน แต่กระนั้นแม้จะพิมพ์ด้วยลายเดียวกัน แต่น้ำหนักการกดมือ การย้อม อาจทำให้ลวดลายไมเหมือนกันเสียทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นเสน่ห์ของงานทำมือ แบบนี้

ผ้าสีตก

เพราะว่าเป็นการย้อมด้วยสีที่ได้มาจากธรรมชาติ เมื่อนำไปซัก สีจะตก ควรซักผ้าสัก 4-5 ครั้ง หากต้องการให้สีตกน้อยลง  ลองแช่ในน้ำเกลือ หรือน้ำละลายสารส้ม อัตราส่วน 1:10 ประมาณ 3-5 ชั่วโมง แล้วนำไปซักเพื่อให้สีตกน้อยลง

ครามกับห้อม พืชคนละชนิด แต่ให้สีน้ำเงินเหมือนกัน

ต้นห้อม หรือต้นฮ่อม นั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strobilanthes cusia เป็นไม้พุ่ม สูง 50-100 ซม ใบเป็นใบเดี่ยวใหญ่ มักขึ้นในที่อากาศเย็น ริมห้วย โดยเฉพาะในป่าบนเขา

ส่วน ต้นคราม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Indigo tinctoria เป็นไม้พุ่มสูง 100-150 ซม. ใบคล้ายใบกระถิน เป็นพืชชอบแดด ทนอากาศร้อน ดินเค็ม และทนฝนแล้งได้ดี มักขึ้นตามริมแม่น้ำ โดยเฉพาะในภาคอีสาน

การนำมาใช้ ใช้ทั้งยอดและใบมาแช่น้ำจนได้สีน้ำเงิน อาจผสมน้ำด่างเพื่อให้คงตัวหรือมีกรรมวิธีต่างๆ ในการทำให้ย้อมได้ง่ายขึ้น

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest

Info

ผ้าเขียนเทียน Hmong Batik กราฟิกบนผืนผ้า

ขอขอบคุณ
กลุ่มผ้าเขียนเทียนบ้านค้างฮ่อ
รัตนาพรผ้าเขียนเทียน  บ้านน้ำเปิน
วิชัยผ้าเขียนเทียน บ้านป่ากลาง

แหล่งชอปปิงผ้าเขียนเทียน
รัตนาพรผ้าเขียนเทียน
วิชัยผ้าเขียนเทียน

Writer / Photographer

อนุรัตน์ วัฒนาวงศ์สว่าง

อนุรัตน์ วัฒนาวงศ์สว่าง

Relate Place

Travel

“ภูทอก” จากศรัทธาสู่สถาปัตยกรรม

จังหวัดบึงกาฬมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ทั้งน้ำตก ภูเขา แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก อาจเพราะอยู่ห่างจาก กรุงเทพมหานครไกลถึง 751 กิโลเมตร เด็ดสุดที่เราไม่อยากให้คุณพลาดเลย เพราะเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดก็ว่าได้ นั่นคือ “วัดภูทอก” หรือ “วัดเจติยาคีรีวิหาร” สถานที่ปฏิบัติธรรมสวยงามด้วยธรรมชาติแวดล้อม แฝงไว้ซึ่งเสน่ห์ทางธรรม

Sleep

นอนรถบ้าน ย่างบาร์บีคิว ชิลล์กับทุ่งดอกเวอร์บีน่า

อากาศเริ่มเย็นลงอย่างนี้ จะดีแค่ไหนถ้าคุณได้หอบหิ้วร่างกายที่เหนื่อยล้าอ่อนแรงออกไปพักผ่อน หาที่พักดีๆ สักที่ มีกิจกรรมไว้ทำกับคนรู้ใจ และไม่ไกลจากเมืองกรุง ในวันนี้ “นายรอบรู้ นักเดินทาง” เราขอเสนอ รถบ้านสวนละไม Natural Camp สัมผัสใหม่แห่งการนอนเกิดขึ้นที่นี่

ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ๊นิดเจ้าเก่า

ขายวัดใจคนกินมากว่า 40 ปี เจ๊นิดเป็นรุ่นที่ 3 รุ่นแรกคือก๋ง เป็นคนจีนโพ้นทะเล พายเรือขายก๋วยเตี๋ยวไปทั่วคุ้งน้ำเมืองอยุธยา ก่อนจะตกทอดมาถึงเตี่ยและเจ๊นิดในที่สุด

Sleep

15 ที่พักบุรีรัมย์ อยู่ในเมืองเดินทางสะดวก

บุรีรัมย์เมืองที่ใครหลายคนฝันจะไปเยือนสักครั้ง เลยลิสต์โรงแรมที่คุณกำลังตามหา จะแบบบูทีคหรือโฮสเทล Traveloka ก็จัดมาให้อย่างครอบคลุมเรียกว่าทุกระดับประทับใจ