
นั่งเรือเที่ยว ชมสวน ชิมผลไม้ ชมวิถีคนบ้านแพ้ว
นายรอบรู้ชวนไปนั่งตากลมชมวิว สูดกลิ่นอายธรรมชาติ ได้ยินมาว่า ที่ อ. บ้านแพ้ว มีที่เที่ยวสบายๆ ให้เราได้ไปสัมผัสวิถีชีวิต และธรรมชาติ
ขีด ขีด ขีด จุด จุด มือบอบบางมือหนึ่งถือของที่คล้ายปากกาด้ามยาว ยกขึ้นจากการขีด ขีด จุด จุด บนผืนผ้าดิบ นำไปจุ่มลงในหม้อที่เต็มไปด้วยน้ำเทียนหลอมละลาย สะบัดมือนิด แล้วนำขึ้นมา ขีด ขีด ขีด เขียนวาดลงบนผ้า จนปรากฏลวดลายรูปร่าง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม เส้นตั้ง เส้นนอน จุดไข่ปลา จนเป็นภาพกราฟิกลวดลายเรขาคณิด ที่ดูแข็งแรงแต่อ่อนช้อยอยู่ในที
หญิงชราที่แต่งชุดประจำเผ่านั่งเขียนอย่างมีสมาธิตรงนั้น เป็นภาพจำภาพหนึ่ง ซึ่งผมเห็นในงานแสดงสินค้าบริเวณกลางเวียงน่าน ด้านหลังของเธอเป็นผ้าสีน้ำเงินที่มีลวดลายสีขาวแขวนแสดงอยู่หลายผืน ถามดูจึงได้คำตอบว่าเป็นผ้าเขียนเทียนของชาวม้ง
ปกติยามเมื่อเราท่องเที่ยวไปตามดอยสูงในภาคเหนือ จะพบกลุ่มคนเหล่านี้บนดอยสูง สวมใส่กระโปรงจีบบานพร้อมเสื้อที่มีลายปักต่างๆ อย่างงดงาม แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า ตัวกะโปรงนั้นมีงานศิลปะชนิดหนึ่งซ่อนอยู่ นั่นก็คือ “ผ้าเขียนเทียน”
ผ้าชนิดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นผ้าบาติกม้ง (Hmong Batik) ในสมัยก่อนจะใช้ผ้าที่ทำจากใยกัญชง มาทอเป็นผืน กว้างประมาณ 1 ฟุต ยาว 3 หลา พอว่างจากงานสวนไร่นา หญิงสาวชาวม้งจะใช้ปากกาเขียนขี้ผึ้ง ซึ่งทำด้วยไม้ยาวพันปากด้วยทองแดง หรือทองเหลือง ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมใช้ด้านแหลมพันกับปลายไม้ ด้านป้านใช้จุ่มกับน้ำเทียน และใช้วิธีเขียนลายลงบนผืนผ้า จากนั้นจึงนำไปย้อมห้อม จนได้สีน้ำเงินครามเข้ม จากนั้นจึงนำมาต้มเพื่อให้น้ำเทียนละลายออกจนปรากฏลวดลายกราฟิกสีขาวบนพื้นสีน้ำเงิน
เมื่อเสร็จแล้วจะนำมาจับจีบทำเป็นกระโปรง ซึ่งตัวหนึ่งๆ อาจใช้เวลาหลายเดือน ก่อนจะกลายเป็นกระโปรงตัวใหม่เพื่อสวมใส่ในงานเฉลิมฉลองปีใหม่
เมื่อวันเวลาเปลี่ยนแปลงไป การที่หญิงสาวชาวม้งจะมานั่งใช้ปากกาจุ่มน้ำเทียน แล้วมาเขียนทีละขีด ทีละขีด วาดทีละเส้น ทีละเส้น ก็ไม่ทันกับกาลที่ผันเปลี่ยน อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้หญิงสาวชาวม้งรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ แทบจะไร้ฝีมือการทำผ้าเขียนเทียนไปแล้ว
แต่ก็ยังมีอีกหลายบ้านใน ต. ป่ากลาง เช่น บ้านป่ากลาง บ้านค้างฮ่อ บ้านน้ำเปิน ที่ยังคงมีผู้สืบทอดการทำผ้าเขียนเทียนนี้ อีกทั้งยังได้มีการประดิษฐ์ตัวปั๊ม ที่ใช้จุ่มน้ำเทียนขึ้นมาใหม่ อาจเรียกว่าเป็น “ผ้าพิมพ์เทียน” ก็ได้ โดยช่างผู้ทำแม่พิมพ์ลายนั้น เดิมเคยเป็นช่างทำทอง ได้นำลวดลายต่างๆ ที่แกะลายออกมาจากกระโปรงรุ่นเก่า หรือออกแบบขึ้นมาใหม่ โดยใช้เส้นลวดทอดแดงมาตัด ดัด ขด เชื่อมต่อให้เป็นลวดลายต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งลายเหล่านี้มีทั้งลายโบราณอายุหลายร้อยปี ที่เป็นลายดั้งเดิมของชาวม้ง ลวดลายกราฟฟิกสมัยใหม่ที่ตัดทอนมาจากดอกชมพูภูคา หรือลายลูกต๋าว บางบ้านก็สร้างสรรค์วิธีการเขียนลวดลายแบบใหม่ๆ ผสมผสานกันออกมาอย่างสวยงาม
แต่ถึงกระนั้นการใช้ตัวพิมพ์ลายก็ยังต้องมีความชำนาญในการ ตรวจสอบน้ำเทียนไม่ให้จุ่มมากเกินไป จนพิมพ์แล้วลายล้น หรือน้อยเกินไปจนเทียนไม่ติด แต่ด้วยลักษณะที่เป็นงานที่ทำด้วยมือ ไม่ใช่เครื่องจักร เส้นสายจึงอาจหนาบางไม่เท่ากัน ซึงนั่นก็เป็นเสน่ห์ของงานฝีมือ
ต. ป่ากลาง อ. ปัว จังหวัดน่านจึงกลายเป็นแหล่งผลิตผ้าเขียนเทียนแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองไทย โดยกลุ่มผู้ผลิตในตำบลป่ากลาง หลายบ้านผลิตตามคำสั่งซื้อที่มาจากที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม อเมริกา อีกทั้งยังมีร้านจำหน่ายหลายร้านที่ดัดแปลง ประยุกต์จากผ้าผืน เป็นเสื้อ กระโปรง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง และอื่นๆ อีกมาก กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเมืองน่านในขณะนี้
ผ้าที่ใช้ในการผลิตนั้น ปัจจุบันมีสามแบบคือ ผ้าสปันเรยอน ผ้าฝ้ายดิบ และผ้าฝ้ายฟอกขาว โดยเมื่อตัดผ้าตามขนาดที่ต้องการแล้ว จะใช้ตัวปั๊มจุ่มน้ำเทียนที่ละลายแล้วนำมาพิมพ์ลงบนผ้าจนเสร็จ ผืนหนึ่งหากใช้เวลาทำเพียงผืนเดียวจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงแล้วแต่ขนาด แต่ในความเป็นจริงจะทำทีละหลายๆ ผืน หนึ่งวันอาจทำได้มากที่สุด 20 ผืน
หลังจากพิมพ์ลายเทียนเรียบร้อยแล้ว จะนำไปย้อมฮ่อม ซึ่งเป็นการย้อมเย็น โดยใช้เวลาจุ่มผ้าไว้ในถังประมาณ15 นาที แล้วจึงนำไปตากในที่ร่ม เนื่องจากถ้านำไปตากแดดแรงๆ เทียนจะละลาย สีจะซึมเข้าไปในลาย ทำให้ลายหายไปได้ ซึ่งผ้าผืนหนึ่งจะย้อม 4-5 ครั้ง เพื่อให้ได้สีน้ำเงินที่สดเข้ม ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน
หลังจากนั้นจะนำผ้าไปต้มในน้ำเดือดจัด เพื่อละลายเทียนออกจากผ้า โดยน้ำเทียนที่ละลายนั้นจะตักออกไปใช้ในการพิมพ์ลายใหม่ได้ หลังจากต้มในน้ำเดือดแล้ว จะนำมาซักน้ำเปล่าอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าเทียนหลุดออกหมด แล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้ง ก่อนจะนำมาม้วน หรือพับ ตามแต่ชนิดของผ้า เพื่อส่งขายต่อไป
ชาวม้งแบ่งเป็นหลายกลุ่ม ในไทยมีทั้งม้งขาว ม้งเขียว ม้งลาย การเขียนผ้าด้วยน้ำเทียนนี้ เป็นวัฒนธรรมร่วมทั้งในจีน เวียดนาม ลาว ไทย บางแห่งเรียกว่า “เซากังเจี๋ย” และยังมีชาวม้งในไทยอีกหลายแห่งที่ทำผ้าเขียนเทียนนี้
อุปกรณ์การเขียนเรียกว่า “ฮั่วต้า” บางแห่งเรียกว่า “หลาจัง” ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Tjanting แต่ก็แตกต่างจากจันติ้งของทางมลายู อินโด ที่มีกรวยเก็บน้ำเทียนไว้ด้านใน
เพราะว่าเป็นการย้อมด้วยสีที่ได้มาจากธรรมชาติ เมื่อนำไปซัก สีจะตก ควรซักผ้าสัก 4-5 ครั้ง หากต้องการให้สีตกน้อยลง ลองแช่ในน้ำเกลือ หรือน้ำละลายสารส้ม อัตราส่วน 1:10 ประมาณ 3-5 ชั่วโมง แล้วนำไปซักเพื่อให้สีตกน้อยลง
ต้นห้อม หรือต้นฮ่อม นั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strobilanthes cusia เป็นไม้พุ่ม สูง 50-100 ซม ใบเป็นใบเดี่ยวใหญ่ มักขึ้นในที่อากาศเย็น ริมห้วย โดยเฉพาะในป่าบนเขา
ส่วน ต้นคราม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Indigo tinctoria เป็นไม้พุ่มสูง 100-150 ซม. ใบคล้ายใบกระถิน เป็นพืชชอบแดด ทนอากาศร้อน ดินเค็ม และทนฝนแล้งได้ดี มักขึ้นตามริมแม่น้ำ โดยเฉพาะในภาคอีสาน
การนำมาใช้ ใช้ทั้งยอดและใบมาแช่น้ำจนได้สีน้ำเงิน อาจผสมน้ำด่างเพื่อให้คงตัวหรือมีกรรมวิธีต่างๆ ในการทำให้ย้อมได้ง่ายขึ้น
ขอขอบคุณ
กลุ่มผ้าเขียนเทียนบ้านค้างฮ่อ
รัตนาพรผ้าเขียนเทียน บ้านน้ำเปิน
วิชัยผ้าเขียนเทียน บ้านป่ากลาง
แหล่งชอปปิงผ้าเขียนเทียน
รัตนาพรผ้าเขียนเทียน
วิชัยผ้าเขียนเทียน
นายรอบรู้ชวนไปนั่งตากลมชมวิว สูดกลิ่นอายธรรมชาติ ได้ยินมาว่า ที่ อ. บ้านแพ้ว มีที่เที่ยวสบายๆ ให้เราได้ไปสัมผัสวิถีชีวิต และธรรมชาติ
ททท.-บางจากฯ-เมืองพัทยา เปิดตัวประติมากรรมจากขวดน้ำดื่ม PET รูป “เต่ามะเฟืองแม่ลูก” ริมชายหาดพัทยา ภายใต้โครงการ “ลดโลกเลอะ X รักษ์ปันสุข” เพื่อรณรงค์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และกระตุ้นจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ลดขยะพลาสติก และหมุนเวียนนำกลับมาใช้ซ้ำ
ข้อมูลจังหวัด พะเยา รวบรวมโดย นายรอบรู้นักเดินทาง จากหนังสือท่องเที่ยวจังหวัดต่างๆ ในเมืองไทย ที่รวมรวมข้อมูลน่ารู้ ที่เที่ยวน่าไป ของกินน่าทาน
ดินแดนที่มีชื่อว่าสุโขทัยซึ่งมีความหมายว่า รุ่งอรุณแห่งความสุข เป็นอาณาจักรแห่งแรกของชนชาติไทยกว่า 700 ปีมาแล้ว ในอดีตสุโขทัยเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคนี้ มีการติดต่อสัมพันธ์กับล้านนาล้านช้าง และพุกาม จึงปรากฏโบราณวัตถุสถานจำนวนมากในดินแดนนี้โดยบริเวณเมืองเก่าที่ อ. ศรีสัชนาลัย และ อ. เมือง ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2534
© 2018 All rights Reserved.