ล่องใต้ให้สุด แล้วตั้งหมุดไป “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”

หลายครั้งที่เดินทางมายังภาคใต้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพความสวยงามของธรรมชาติและมนต์เสน่ห์แห่งดินแดนพหุวัตนธรรมยังตราตรึงใจเสมอ ทั้งหมดหล่อหลอมจนเป็นวิถีชีวิตและมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าหลงไหล หนึ่งในนั้นคือ วัดชลธาราสิงเห หรืออีกชื่อ ที่มักเจอในหน้าประวัติศาสตร์ไทยคือ วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย

บรรยากาศภายในวัด

ความเป็นมาดั้งเดิมถึงเรื่องราวที่ถูกส่งต่อ

วัดชลธาราสิงเห ตั้งอยู่ที่ ต. เจ๊ะเห อ. ตากใบ จ. นราธิวาส ท่านพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) เป็นผู้เริ่มก่อตั้งวัดแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2403  โดยขอที่ดินจากพระยากลันตัน แต่เดิมเรียกว่าวัดเจ๊ะเหตามชื่อหมู่บ้าน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการโดยนายอำเภอตากใบคนแรกว่า วัดชลธาราสิงเห ซึ่งแปลว่า วัดริมน้ำที่สร้างด้วยพระภิกษุที่มีบุญฤทธิ์ประดุจราชสีห์ พื้นที่วัดตั้งอยู่บนเนินดินริมแม่น้ำตากใบ ทำให้เวลาเดินเที่ยวชมภายในวัดมักมีลมเย็น ๆ ลอยมาสัมผัสให้ชื่นใจเสมอ

ประวัติเล่าไว้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2452 วัดแห่งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้สยาม ต่อมากลายเป็นไทย ยังคงรักษาดินแดนในพื้นที่ภาคใต้ได้อยู่ จากกรณีแบ่งแยกดินแดนตากใบระหว่าง สยาม กับมลายู ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ ต่อมากลายเป็นมาเลเซียในปัจจุบัน

โดยอังกฤษได้ทำการปักปันเขตแดนเข้ามาถึงบ้านปลักเล็กเลยจากวัดชลธาราสิงเห 25 กิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัวจึงทำการแย้ง โดยให้เหตุผลว่าวัดชลธาราสิงเหเป็นวัดไทยที่มีความสำคัญ เป็นมรดกทางที่สำคัญพุทธศาสนา มีสถาปัตยกรรมภายในวัดและศิลปะบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของชุมชน มาเป็นเครื่องต่อรองการแบ่งปันเขตแดน ฝ่ายอังกฤษจึงยอมรับและเลื่อนการปักปันเขตแดนถอยลงไปทางใต้จนถึงลำน้ำโกลก ทำให้ อ. ตากใบ อ. แว้งและ อ. สุไหงโกลก ยังอยู่ในการปกครองของไทยจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นจึงมีการเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”

วัดชลธาราสิงเห-อุโบสถ-1
วัดชลธาราสิงเห-อุโบสถ-4

พระอุโบสถแสนงาม

พระอุโบสถตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางของวัด หันหน้าไปทางลำน้ำตากใบ มีสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารเครื่องก่อ มีชายคาปีกนกลดหลั่นลงมา 3 ชั้น ท่านอาจารย์พุด  ได้สร้างพระอุโบสถโดยมอบให้พระไชยวัดเกาะสะท้อนเป็นช่างก่อสร้าง โดยมี พระธรรมวินัย (จุ้ย) และทิดมี ชาวสงขลาช่วยกันเขียนภาพในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง 3 ด้าน ยกเว้นแต่ด้านหลังขององค์พระประธาน รวมถึงบนเสาและเพดาน ด้วยความที่มีชาวสงขลามาร่วมวาด ทำให้ภาพเขียนมีลวดลายความเป็นจีนเข้ามา ภาพส่วนใหญ่เป็นพุทธประวัติที่สอดแทรกภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น อีกทั้งมีภาพการใช้ชีวิตทั้งคนพุทธ มุสลิม จีน ซึ่งบ่งบอกได้ดีถึงวิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรมในพื้นที่แห่งนี้มายาวนาน

วัดชลธารา-พิพิธภัณฑ์วัดชลธาราสิงเห-(2)

พิพิธภัณฑ์ภายในวัด        

อาคารที่ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2498 โดยพระครูสิทธิสารวิหารวัตร เดิมเป็นอาคารกุฏิไม้ทั้งหลังแต่ปัจจุบันมีการต่อเติมบำรุงใหม่และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นพิพิธภัณฑสถานวัดชลธาราสิงเหเพื่อเก็บโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของวัด จากภาพถ่ายเก่า พบว่ากุฏิสิทธิสารประดิษฐ์เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง หลังคาเป็นทรงปั้นหยาซ้อนกันหลายชั้น มุงกระเบื้องดินเผา บันไดหน้าเป็นบันไดก่ออิฐถือปูน มีการทำพนักเป็นรูปตัวนาค ปลายหางโค้งงอนรับกับมุขหลังคา ยอดหลังคาตกแต่งด้วยปูนปั้นลายเครือเถา ส่วนมุมหลังคาทำรูปคล้ายหางหงส์หรือหัวนาค

ด้านในมีการจัดแสดงอุปกรณ์เครื่องใช้สมัยก่อนทั้งเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพและอาวุธต่าง ๆ รวมถึงการจำลองเหตุการณ์การลงนามในสัญญาไทย – อังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2451

พลับพลาที่ประทับในรัชกาลที่ 6

ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสวัดชลธาราสิงเหและได้มีการสร้างพลับพลาริมแม่น้ำตากใบเป็นที่ประทับซึ่งทางวัดยังรักษาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ พื้นที่ตรงนี้เป็นลานกว้างริมแม่น้ำให้ได้มานั่งพักผ่อนย่อนใจ ทัศนียภาพโดยรอบเป็นแม่น้ำตากใบอันสวยงาม ไฮไลท์คือสามารถมองเห็นสะพานคอย 100 ปี ทอดข้ามแม่น้ำตากใบไปยังเกาะยาว ตรงนี้เป็นวิวที่สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสเลยก็ว่าได้ หากใครมาอย่าลืมมา นั่งเล่นปล่อยอารมณ์ให้ผ่านไปกับสายน้ำและลมเย็น ๆ กันด้วยนะ…สบายอย่าบอกใครเชียว

นอกจากอาคารสถาปัตยกรรมแล้วที่แห่งนี้ยังมีภาษาที่ปัจจุบันหาฟังได้แค่ที่นี้เท่านั้นคือ ภาษาเจ๊ะเห เป็นภาษาถิ่นแต่ดั้งเดิม มีความไพเราะแตกต่างจากภาษาถิ่นใต้ทั่วไป เป็นเอกลักษณ์ของชาวตากใบและจังหวัดนราธิวาสมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

วัดชลธารา-บรรยากาศภายในวัด

หากใครชอบความสบายและบรรยากาศเงียบสงบสถานแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งที่ควรจะมาท่องเที่ยวสักครั้งหากมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมและธรรมชาติที่สวยงาม อีกทั้งเต็มไปด้วยวิถีชีวิตของชาวเจ๊ะแห รวมถึงความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest

Info

บ้านป่าเหมี้ยง

ที่ตั้ง ต. เจ๊ะเห อ. ตากใบ จ. นราธิวาส

Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี

อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี

Relate Place

Travel

อยุธยามนต์เสน่ห์แห่งเมืองเก่า

ย้อนอดีตสู่กรุงเก่า…ดินแดนออเจ้า จับมือคนรักย้อนเวลากว่า 100 ปี แวะไหว้พระขอพร กับ 2 วัดที่มีความน่าหลงใหล ย้อนวันวานกับพิพิธภัณฑ์ของเล่นหลงยุคสุดว้าว และดื่มด่ำกับบรรยากาศตลาดวิถีไทยยามค่ำคืน

News

“บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020” กระตุ้นการท่องเที่ยววิถี “New Normal”

ประกาศความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่กับงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020” (Bangkok Art Biennale) กับความยิ่งใหญ่ระดับโลก ที่เนรมิตกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมระดับโลก ต่อเนื่องตลอด 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2563 – วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 ยกระดับศิลปินไทยได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย สู่สายตาระดับโลก