กินข้าวป่าชมภาพเขียนสี
“เราจะพากันกินข้าวป่านะ” ได้ฟังแล้วแอบตกใจ การกินข้าวในป่าแบบนี้ได้ใช่แค่เห็นในทีวีน่ะสิ ว่าแล้วก็ห่อเสบียงเตรียมของเข้าป่ากัน ขับรถออกจากหมู่บ้านมุ่งเข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูผาม่านเพื่อติดต่อและขอพบเจ้าหน้าที่ผู้จะนำทางโดยติดต่อไว้ล่วงหน้าแล้ว
หนึ่งฤทัย ทองเหล็ก หรือ หนึ่ง และคุณพี่บุญถม ศรีบุญ หรือ พี่ถม ที่จะเป็นผู้นำพาเราเข้าป่าในครั้งนี้ “ขึ้นรถเลยครับผม” พี่ถมเปิดประตู สตาร์ทรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อคู่ใจที่ใช้ลงพื้นที่บ่อยๆ ขับพาพวกเราเข้าสู่หนทางป่าเขาที่สุดแสนจะลำบากลำบนด้วยความชำนาญโดยไม่มีพลาดพลั้งแม้แต่จุดเดียวทั้งที่หนทางเป็นโขดหิน โคลน ทรายและมีน้ำไหลผ่านเป็นร่องลึกอยู่หลายจุด
“ผมว่าคงต้องเดินแล้วครับ ขับต่อไม่ได้แล้ว” พี่ถมจำเป็นต้องพาเราลงเดินตรงนี้ ก่อนถึงถ้ำประมาณหนึ่งกิโลเมตรเป็นหนทางลาดชันที่รถยนต์ไม่สามารถพาเราเข้าไปได้จึงจำเป็นต้องใช้ร่างกายที่สุขสบายในเมืองนานจนเคยตัวมาสัมผัสกับธรรมชาติในป่าจริงๆ สักที เดินมาสักพักเริ่มเห็นป้ายที่ถูกโอบกอดอย่างแน่นหนาของเหล่าพืชไม้เลื้อยที่เติบโตเป็นอย่างดีในหน้าฝนที่ผ่านมา
“นี่กลุ่มแรกเลยนะคะหลังจากหน้าฝน” หนึ่งบอกพลางดูพี่ถมกำลังแผ้วถางทางสำหรับฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นให้ผู้คนเข้ามาเที่ยว
เดินทางลาดชันและปีนผาหินขึ้นไปอีกหน่อยไม่ได้ถือว่าลำบากจนเกินไป แต่ก็อันตรายพอสมควรหากพลัดตกลงมา “นั่นไงภาพเขียนสี” ใครสักพูดขึ้นมา ภาพเขียนสีแดงคล้ำคล้ายสีน้ำหมาก และปะปนด้วยภาพสีแดงอมส้ม ประมาณ 74 ภาพ ศิลปะของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่เราดั้นด้นเดินทางไกลเข้ามา ได้พบสมใจแล้ว สวยงามสมคำร่ำลือจริงๆ
ข้อมูลจากรายงานการสำรวจโดยโครงการโบราณคดีประเทศไทยพบว่าชุดภาพเขียนสีบนผนังถ้ำนี้หากเปรียบเทียบกับภาพเขียนสีที่พบในภาคอีสานสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ราว 6,000 – 5,000 ปีมาแล้ว และมีการทำต่อเนื่องมาจนถึงราว 3,000 – 2,000 ปีมาแล้ว ทางกรมศิลปากรตีความวิธีการเขียนเป็น 2 วิธีการ คือ อย่างแรกเป็นการนำมือทาสีแล้วทาบลงบนผนัง และอย่างที่สองคือการใช้สีเขียนเป็นเส้นรอบฝ่ามือและนิ้ว
ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำสะท้อนถึงความเชื่อพื้นฐานของผู้คนก่อนประวัติศาสตร์ที่นับได้ว่าเป็นพัฒนาการแห่งศาสนาและความเชื่อของมนุษย์ในยุคแรกเริ่มที่เรียกว่า “Animism” ที่มนุษย์มีความสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ จึงเชื่อว่าเป็นที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญของผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนความเชื่อจากตำนานท้องถิ่น จากการพูดคุยกับชาวบ้านใกล้เคียงพบว่าคนท้องถิ่นเชื่อว่าภาพเขียนฝาผนังถ้ำลายแทงนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการบ่งบอกลายแทงสมบัติของคนยุคโบราณจึงเรียกขานกันว่า “ถ้ำลายแทง”