มองเพลง “ไทบ้าน” อีสานผ่าน “อีเกิ้งเหลือง” คนทำซาวด์ท้องถิ่นร่วมสมัย

ช่วง 5 – 10 ปีมานี้ ในขณะที่เพลงจากท้องถิ่นอื่นๆ ได้เบาบางลงไปในกระแสเพลงหลักทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และในอินเตอร์เน็ต แต่เพลงจากอีสานกลับโด่งดังขึ้นมาเป็นพลุแตก บางคนถือว่าดังได้ข้ามคืนมียอดผู้ชมกว่าล้านครั้ง กลายเป็นศิลปินหน้าใหม่ในวงการเพลงไทยเลยก็ไม่น้อย และก่อกำเนิดค่ายเพลงอีสานทั้งใหญ่น้อยมากมาย มีค่ายเพลงและสตูดิโอที่โด่งดังเป็นที่รู้จัก เช่น  ค่ายเซิ้งมิวสิค ที่โด่งดังจากการทำหนังไทบ้านเดอะซีรี่ย์, คืนถิ่น สตูดิโอ,ภูไทเร็คคอร์ด ฯลฯ

กลุ่มคนทำเพลงเหล่านี้สร้างมิติใหม่แห่งวงการเพลงอีสาน ขยายวงกว้างขึ้นไปสู่ระดับวงการเพลงไทยที่ไม่ใช่แค่ความดังระดับท้องถิ่นเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป ศิลปินบางคนมีงานแทบทุกวันหรือมีงานวันละหลายงานซึ่งงานที่ไปทัวร์คอนเสิร์ตไม่ใช่เพียงแค่ในดินแดนที่ราบสูงอีสานบ้านเฮา แต่เป็นงานที่ไปนอกพื้นที่โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ การทำเพลงอีสานร่วมสมัยจึงไม่ใช่การทำฟังกันเองอีกต่อไป เพลงอีสานสมัยใหม่จึงมีความหลากหลาย ทั้งท่วงทำนอง เนื้อหา โดยเฉพาะเรื่องของดนตรี

เครื่องดนตรีอีสานในมุมมองที่แตกต่าง

มีคนนอกวัฒนธรรมที่สนใจและได้ทำการศึกษาดนตรีอีสานในมุมมองของนักมานุษยวิทยาดนตรีชาติพันธุ์ (ethnomusicology) อย่าง Terry E. Miller (1985) ศึกษาตำนานของแคนในพิธีกรรมผีฟ้า โดยกล่าวว่าแคนในที่นี้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ เสียงแคนสามารถช่วยฟื้นฟูผู้ที่เหนื่อยล้าหรือเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บได้

Anne Greenwood (2016) ได้เชื่อมโยงแคนในฐานะเครื่องดนตรีที่เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่สะท้อนตัวตนคนเจ้าของวัฒนธรรมอีสาน กล่าวคือแคนเป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ ขี้สูด (ชันโรง) ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของคนพื้นถิ่น จากที่เคยใช้สื่อสารกับโลกแห่งวิญญาณในพิธีกรรม ต่อมาได้กลายเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย ผ่านการแสดงที่เป็นอัตลักษณ์ของคนอีสานอย่างหมอลำซิ่ง เพลงลูกทุ่ง ฯลฯ แคนจึงเปรียบเหมือนวิถีคนอีสานซึ่งเกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อมธรรมชาติเป็นคนชนบทที่เรียบง่ายต้องเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ การฟังเสียงแคน ฟังหมอลำของคนอีสานยังเปรียบเสมือนการฟังเพลงที่เชื่อมโยงกับอีสานดินแดนอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด

ในขณะที่มุมมองคนในที่เล่นดนตรี และผู้เขียนเองก็มองว่าเครื่องดนตรีอีสานปัจจุบันสามารถฝึกฝนและเรียนรู้ให้เล่นกับเครื่องดนตรีสากลได้มากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะเครื่องสาย เช่น พิณ ที่ต้องตั้งสายให้เข้ากับคีย์สากล ถึงแม้จะไม่ได้เสียงเท่ากันทุกเสียงแต่ทำนองหลักก็สามารถทำได้ดีในระดับหนึ่ง หรือแม้แต่โหวดและแคนก็มีการผลิตขึ้นเพื่อสนับสนุนการเล่นดนตรีที่กว้าง และหลากหลายมากขึ้นเพื่อให้เชื่อมโยงกับดนตรีในวัฒนธรรมอื่นได้ โดยเฉพาะดนตรีสากลที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย รวมถึงใช้ในงานหลักของการทำเพลงอีสานไทบ้านสมัยใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้ พิณแคนจึงพบได้มากกว่าการใช้ในพิธีกรรมอย่างในอดีตที่ผ่านมา

อีเกิ้งเหลืองสตูดิโอน้องใหม่แห่งเมืองสะดืออีสาน

เพลงดีๆ บางทีอาจจะได้มาจากคอมฮ่างๆ เครื่องนึง

อภิสิทธิ์ ราตรี หรือ ป็อปปี้นักดนตรีหนุ่มอีสานรุ่นใหม่วัย 26 ปี ผู้ก่อตั้ง อีเกิ้งเหลือง สตูดิโอ ผู้ผลิตเสียงเพลงอีสานสมัยใหม่ และได้ฝากผลงานซาวด์พิณ ซาวด์แคนไว้ในหลายบทเพลงที่มียอดผู้ชมกว่าร้อยล้านวิวในยูทูบ โดยเฉพาะเพลงของครูเต้ย หรือ อภิวัฒน์ บุญเอนก เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่เริ่มนับหนึ่งในการทำเพลงมาด้วยกัน

ปัจจุบันป็อปปี้เป็นครูสอนวิชาดนตรี โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคาม เขาเรียนจบคณะครุศาสตร์ เอกดนตรี เมื่อยามว่างเว้นจากภาระหน้าที่หลักก็ทำเพลงส่งศิลปินตามค่ายต่างๆ โดยจัดทำห้องอัดขึ้นในพื้นที่บ้านตัวเองเป็นห้องเล็กๆ หน้าบ้านในอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

ป็อปปี้อยู่ในวงการเพลงอีสานตั้งแต่เด็ก เขาเล่นดนตรีส่งตัวเองเรียนตั้งแต่เรียนมัธยมโดยรับทั้งงานนักดนตรีเล่นสดในคณะหมอลำซิ่ง เล่นรถแห่ เล่นคอนเสิร์ต จนกระทั่งรับทำซาวด์เสียงเครื่องดนตรีอีสานสำหรับประกอบภาพยนตร์ หรือ ทำเพลงให้กับศิลปินอีสานสมัยใหม่ เป็นที่รู้จักในวงกว้างสำหรับคนทำเพลงอีสาน

ผมตั้งขึ้นมาเอง เมื่อนึกถึงสมัยที่ผมเล่นดนตรี ผมสะพายกีตาร์ เอฟเฟค พอไปถึงสำนักงานหมอลำก็ขึ้นรถไปออกงานกับเขา พอขากลับบ้านขับรถมอเตอร์ไซค์คนเดียวมันเป็นบรรยากาศที่เงียบเหงา มืดไม่มีอะไรเลย ผมมองเห็นแต่อีเกิ้งสีเหลืองๆ อยู่เป็นเพื่อนผมตลอด เลยตั้งชื่อว่าอีเกิ้งเหลือง

ตอนนี้ป็อปปี้และคณะได้ก่อตั้งช่องทางยูทูบชื่อ P.B.P. Studio ในนามอีเกิ้งเหลือง สำหรับปล่อยผลงาน โดยการนำน้องๆ และลูกศิษย์มาปั้นเพื่อเป็นศิลปินรุ่นใหม่อีเกิ้งเหลืองยังถือว่าเป็นค่ายเพลงที่เพิ่งคลอดมาไม่นาน แต่สำหรับป็อปปี้เองแล้วไม่ใช่นักดนตรีอีสานที่เพิ่งเข้าวงการ เขาเองมีความพยายามที่จะนำเครื่องดนตรีอีสานมาปรับเข้ากับดนตรีสากลมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว

เมื่อก่อนคนเรียกเพลงพวกนี้ว่าใต้ดินแต่เขากลับมองว่าการทำเพลงมันสามารถทำได้อย่างอิสระ พอเพลงเกิดดังขึ้นมาเป็นที่รู้จักแล้วก็ไม่ใช่ใต้ดินอีกต่อไป เพียงแต่ทำเองโดยไม่มีค่ายหรือบริษัทมาครอบจึงเรียกกันแบบนี้

ทำเพลงให้รู้สึกว่าเจ้าของม่วน แล้วคนมักเขาสิตามมาฟังเอง

โลกโซเชียลสมัยใหม่ทำให้เพลงดังเร็วขึ้นข้ามคืน และในยุคนี้ที่มีTicTokโอกาสทำให้เพลงอีสานสมัยใหม่เข้าถึงคนเร็วมากขึ้น ซึ่งเขามองว่าแนวโน้มข้างหน้าการทำเพลงจะทั่วถึงกันไปหมด รุ่นน้องเขาเองหลายคนทำเพลง ทำงานเป็นค่ายก็ไม่จำเป็นแล้ว เพราะยังไงเพลงก็สามารถเข้าถึงคนฟังได้อยู่แล้ว เพราะมีเฟซบุ๊ก มียูทูบ มีโซเชียลต่างๆ

ดนตรีไทบ้านอีสานกับความเป็นสมัยใหม่

อัตลักษณ์ของเพลงอีสานสำหรับเราคือเสียงพิณ เสียงแคนป็อปปี้กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมหยิบพิณตัวเก่งที่ใช้ทำเพลงดังๆ หลายเพลง และหอบหิ้วกันเข้ากรุงเทพฯ แสดงสดโชว์ในรายการโทรทัศน์ดังๆ มาแล้วหลายหน

กระแสความดังของเพลงอีสานตอนนี้ไม่ได้จำกัดแค่คนอีสานเท่านั้น แต่ความดังในโลกอินเตอร์เน็ตสมัยใหม่ที่ผู้คนทั้งโลกสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ ฟ้องผ่านยอดผู้ชมในยูทูบ ในเฟซบุ๊ก ฯลฯ และคนทำเพลงอีสานเองก็ได้พยายามทำเพลงให้ร่วมสมัย ฟังง่ายมากยิ่งขึ้น ป็อปปี้กล่าวว่าเพลงที่เขาทำนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคำอีสานอย่างเดียว

เพลงฉันยังรักเธอร้องโดยครูเต้ย โด่งดังมียอดผู้ชมกว่าสามร้อยล้านครั้ง เนื้อเพลงเป็นคำไทยภาคกลาง ทำนองก็เป็นเพลงสตริงทั่วไปเพียงแค่เขาได้นำเอาเสียงพิณ เสียงแคนมาใส่เข้าไปเท่านั้นเพลงของเขาก็มีกลิ่นอายของความเป็นลูกอีสานที่ผสมกับความเป็นสมัยใหม่ได้อย่างกลมกล่อมลงตัว นอกจากเพลงนี้แล้วยังมีเพลงเปิดอาดหลาดของครูเต้ย ที่ป็อปปี้มีส่วนร่วมในการทำดนตรี ซึ่งเพลงนี้จะต่างกับเพลงฉันยังรักเธอตรงภาษาที่เล่นจะมีความเป็นท้องถิ่นอยู่มาก แต่ทำนองค่อนข้างจะเป็นทำนองเพลงสมัยนิยม

สิให้อ้ายเฮ็ดจังได๋ ในเมื่อหัวใจของเจ้าลืมสัญญาฮ้างๆ เจ้าเลือกคนใหม่ทิ้งคนเก่าให้อ้างว้าง อ้ายเจ็บหัวใจเพลง กะเข้าใจ ร้องโดย ปู ภูธร เพลงนี้มีคำร้องเป็นคำอีสานพื้นถิ่นเป็นหลัก ดนตรีมีการคลอเสียงแคนบางๆ ไปพร้อมกับดนตรีสากล เรียบง่ายตามสไตล์ชาวบ้านอย่างที่เพลงพยายามนำเสนอ

ตัวอย่างเพลงที่ยกมานี้เป็นผลงานบางส่วนที่ป็อบปี้ได้มีส่วนในการสรรสร้างผลงานในแบบของตนเองขึ้นมาร่วมกับศิลปินคนอื่น เป็นเพลงอีสานป๊อปที่เป็นหนึ่งในกระแสวัฒนธรรมเพลงแบบไทบ้านอีสานที่มาแรงไม่แพ้ค่ายใหญ่ในตอนนี้

เนื้อเพลงเรียบง่ายทั้งเป็นคำอีสานและศัพท์สมัยใหม่มีเนื้อหารักๆ ใคร่ๆ ของวัยรุ่นหนุ่มสาว มากกว่าแสดงออกถึงความแร้นแค้นอย่างเพลงลูกทุ่งอีสานยุคก่อน ประยุกต์ให้เข้ากับความเป็นสมัยใหม่ เห็นถึงการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม เสียงพิณ เสียงแคนในบทเพลงเป็นภาพแทนของความเป็นคนอีสาน คนชนบทห่างไกลที่พยายามปรับตัวสู่ความทันสมัย สามารถพาตัวเองเผชิญหน้ากับเสียงเอฟเฟคกีตาร์ กลองชุดและเสียงเบสหนักๆ ที่เป็นภาพของความเป็นสากลทันสมัย ตอกย้ำความเป็นสมัยนิยมด้วยการผลิตซ้ำผ่านสื่อต่าง ทั้งการเล่นสดโดยรถแห่ และในโลกของดิจิตอลที่พุ่งทะยานความดังขึ้นทุกวัน

เพลงจะดังต้องมีคนเอามาร้องป็อบปี้เน้นย้ำหนักแน่น

เพลงที่ดังได้ทุกวันนี้เกิดจากการที่คนนำมาร้อง เล่นซ้ำๆ กลุ่มคนทำเพลงอีสานสมัยใหม่โดยส่วนมากไม่หวงเพลงตัวเอง นักร้องรถแห่ หมอลำ หรือร้านอาหารสามารถนำเพลงพวกเขาไปเล่นได้โดยไม่ติดลิขสิทธิ์ เพราะพวกเขาเชื่อเสมอว่าที่เพลงอีสานดังได้ทุกวันนี้เพราะมีมือที่สอง สาม สี่ นำมาร้องเล่นซ้ำๆ นี่แหละ

ปัจจัยสำคัญอย่างมากที่ทำให้เพลงอีสานร่วมสมัยโด่งดังได้ขนาดนี้ เพราะคนอีสานเองมีสื่อในมือค่อนข้างหลากหลาย ทั้งวงหมอลำ รถแห่ วงดนตรี รวมถึงสมัยนี้ที่มีอินเตอร์เน็ตที่เป็นสื่อหลักในการสื่อสาร เมื่อเพลงอีสานดังมากขึ้นส่งผลให้ร้านอาหาร ผับ บาร์ ต่างๆ ต้องปรับตัวในทางดนตรีมากขึ้น

ป็อบปี้กล่าวกับเราในฐานะคนเล่นดนตรีกลางคืนมาก่อนว่าเมื่อก่อนไม่ได้เปิดเพลงพวกนี้นะครับ แต่พอศิลปินหมอลำ ศิลปินรถแห่นำเอามาเล่นกันเลยติดหู คนไปเที่ยวผับก็เริ่มขอ ผับก็เริ่มเปลี่ยนแนวดนตรีไปตามคนฟัง

ความเป็นดนตรีอีสานบ้านนาจึงรุกล้ำเข้ามาในเมืองกรุงมากขึ้นทุกที ปัจจัยหลักเพราะดนตรีอีสาน คนอีสานสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวเองเข้าหาความเป็นสมัยนิยมอยู่ตลอดเวลา รับสิ่งใหม่เข้ามาแต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นตัวเองอยู่ข้างในที่ไม่สามารถสลัดออกไปได้

ขอขอบคุณ

อภิสิทธิ์ ราตรี และอีเกิ้งเหลืองสตูดิโอ

อ้างอิง

Anne Greenwood. 2016. The Khaen: Place, Power, Permission, and Performance. Master of Arts in

The Faculty of Graduate and Postdoctoral Studies (Ethnomusicology). The University of British Columbia, Vancouver.

Miller, Terry. 1985. Traditional Music of the Lao: Kaen Playing and Mawlum Singing in Northeast

Thailand. Westport, Connecticut: Greenwood Press.

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

Relate Place

News

กราฟฟิตี้สุดคูล @ Los Atico

ใครที่ชื่นชอบผลงานศิลปะหรือภาพกราฟฟิตี้เท่ ๆ ต้องไม่พลาดมาถ่ายรูปเช็คอินกันที่ Los Atico บาร์สไตล์เม็กซิกันแห่งใหม่ย่านสุขุมวิท ที่พร้อมเสิร์ฟอาหารเม็กซิกันคู่กับค็อกเทลและเตกีล่าหลากสไตล์ ภายใต้บรรยากาศการตกแต่งร้านที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยผลงานศิลปะกราฟฟิตี้สุดคูลจากสามศิลปินชื่อดังในไมอามี่

Travel

เฉลิมหล้ากราฟฟิตี้

กราฟฟิตี้ ภาพวาดตามกำแพง ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไร้ระเบียบ ทำลายของสาธารณะ และสกปรกรุงรังในสายตาคนไทยมานาน จนทำให้มีเราอคติกับศิลปะรูปแบบนี้ แต่มีชุมชนหนึ่งใกล้ๆ สยามล้มความคิดนี้และเปิดให้นักเขียนกราฟฟิตี้เข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน

Travel

นอนกางเต็นท์ดูดาว ชมอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่ เขาตะเคียนโง๊ะ

วิวหลักล้านขนาดนี้ จะพลาดได้ไง!!!
มาถึงเขาค้อ “นายรอบรู้” มีหนึ่งที่เที่ยวเก๋ๆ สำหรับคนรักธรรมชาติมาฝาก ถ้าหากคุณเป็นคนชอบชมวิว ดูดาว จิบกาแฟชมทะเลหมอก เราบอกเลยว่าที่นี่แหละที่คุณต้องหลงรัก และที่นี่คือ จุดชมวิวเขาตะเคียนโง๊ะ