“ใบอ้ม” เครื่องหอมในวัฒนธรรมอีสาน

หอมเอ้ยหอมใบอ้ม หอมลอยลมจนคนส่า

คำผญาอีสานพรรณนาถึงความหอมจนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาของใบอ้มที่ล่องลอยอยู่ในสายลมที่พัดผ่านไปมา

ใบอ้มนี้เป็นชื่อเรียกในภาษาอีสานลักษณะเป็นพืชที่มีใบปกคลุมสีเขียว ใบเรียว ส่งกลิ่นหอมราวกับกลิ่นใบเตยผสมยอดข้าว ตลบอบอวลเมื่อสัมผัสกับความร้อนนอกจากนี้ยังพบว่าอ้มนั้นยังมีชื่อที่หลากหลายเรียกแตกต่างกันในหลายพื้นที่ เช่น เนียมอ้ม เนียมหอม อ้มหอม ฯลฯ

ต้นอ้ม หรือ เนียมอ้ม
ใบอ้มที่ถูกนาบกับหม้อดินเผาไฟ
วิธีอบอ้มกับเสื้อผ้า

ใบอ้มพืชสมุนไพรหลากหลายสรรพคุณ

อ้ม หรือ เนียมอ้ม ชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า Chloranthus spicatus (Thunb.) Makino เป็นพืชในวงศ์ Chloranthaceae เป็นพืชพื้นเมืองของจีน แต่พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากความหอมที่เป็นคุณสมบัติเด่นแล้ว อ้มสามารถนำใบและดอกนำมาชงเป็นน้ำชาแก้ไอ ใบสามารถตำพอกรักษาฝีและแผลที่เกิดจากน้ำร้อนลวก ส่วนรากรับประทานในขนาดที่พอดีตามตำรายาสามารถแก้มาลาเรียได้แต่หากรับประทานเกินขนาดมากไปจะเป็นพิษ

ชาวอีสานในอดีตใช้อ้มกันอย่างหลากหลาย เช่น นำมาผสมกับน้ำทาผมช่วยให้ผมดำเงา และซอยใบให้เป็นชิ้นเล็ก ใส่รวมกับเต้าปูนจะช่วยให้ปากหอม สูตรนี้ผู้สูงวัยนิยมกันเป็นอย่างมาก ส่วนในมุมมองจากกลุ่มผู้ชายใบอ้มลนไฟแช่ไว้ในไหเหล้าของคนสมัยก่อนหอมหวานจนลืมเมากันเลยทีเดียว รวมถึงยังนำไปอบทำยาสูบลดกลิ่นฉุนให้หอมนุ่มนวลขึ้นมาทันที

การห่อหมกอ้มเพื่อจะใส่ลงในเตาขี้เถ้า

เล่าความหลังผ่านใบไม้

คุณย่ากองสี ด้วงคำจันทร์ วัย 81ปี เล่าย้อนถึงวัยเด็กที่ผ่านพ้นมานานแสนนานให้ฟังว่าตัวย่าเองบ่ทันได้ใช้ใบอ้มเป็นเครื่องหอมโดยตรงดอก แต่ว่าตอนน้อยๆ ยายใช้ให้เข้าไปป่าพลูเพื่อเก็บใบพลูมาเคี้ยวหมาก เพราะสมัยก่อนตามบ้านปลูกต้นพลูไม่ได้

ทำไมถึงต้องไปเก็บใบพลูที่อื่น ที่บ้านไม่มีหรือผู้เขียนก็ตั้งคำถามด้วยความสงสัย คุณย่าก็ตอบพลางนั่งขูดขมิ้นเบาๆ ว่าเอ้า..กะสมัยนั้นเพิ่นบ่ให้เคี้ยวหมากเนาะ เลยได้ถางเครือพลูต้นหมากทิ้งไปหมดอ่อ..เล่าที่มาที่ไปของการเก็บพลูก็สะท้อนสภาพการเมืองและสังคมที่ส่งผลมาถึงชีวิตชาวบ้านอีสานที่ห่างไกลได้บ้างเหมือนกัน

การเข้าไปหาพลูตั้งแต่ตอนนั้นของคุณย่าเองเลยทำให้ได้ไปเห็นผู้ใหญ่ในสมัยก่อน (หากเทียบอายุคงเป็นร้อยกว่าปีได้แล้ว) กำลังโฮมกันหรือรวมกลุ่มกันทำหมกอ้ม

การทำหมกอ้มนั้นสามารถทำได้โดยวัสดุง่ายๆ ที่มีตามธรรมชาติและอยู่ในวิถีของคนอีสานโบราณ ว่าแล้วคุณย่าก็จัดเตรียมอุปกรณ์ที่มีอยู่ในครัวพร้อมสาธิตบอกวิธีทำ ขั้นตอนแรกคือนำเอาขมิ้นบดละลายน้ำผสมกับดินสอพอง วางใบอ้ม 3-4 ใบ ห่อใบตองอ่อนตั้งกับขี้เถ้าร้อนๆ จนสุก วิธีการนี้เรียกว่าหมกขี้เถ้าจากนั้นนำแป้งที่ได้มาทาตัวเป็นเครื่องสำอางและเครื่องหอม

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีคือการนำใบอ้มไปนาบกับหม้อดินตั้งไฟจนร้อน จากนั้นนำเอาใบอ้มที่สุกแล้วมาพกตามตัว ใส่เสื้อผ้า ห่อผ้าแพร หรือเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า คนสมัยก่อนจะใช้เมื่อเวลามีงานบุญ งานรื่นเริง หรือพกติดตัวไว้เวลาไปเกี้ยวสาวเหมือนกับคนสมัยนี้ที่ต้องฉีดน้ำหอมเพื่อเพิ่มความมั่นใจและดึงดูดความสนใจจากคนรอบข้าง

หมกอ้มไว้กับเตาไฟจนใบตองยุบ

หอมใบอ้มนั้นหอมขนาดไหน

ใบอ้มนั้นหอมอย่างไรถึงได้เป็นเครื่องหอมติดใจชาวอีสานมาตั้งแต่โบร่ำโบราณขนาดนั้น ผู้เขียนเองลองนำต้นอ้มมาปลูกไว้หน้าบ้านในกระถางขนาดหนึ่งคนโอบ สังเกตเห็นใบสดก็ไม่มีอะไรน่าสนใจมาก พอโดนความร้อนหรือช่วงแดดแรงๆ ยามบ่ายเท่านั้นแหละ กลิ่นหอมที่เข้ามาสัมผัสจมูกนั้นไม่เคยลืมเลือน จะเป็นใบเตยก็ไม่ใช่ หรือจะเป็นกลิ่นหอมของยอดข้าวก็ไม่เชิง

ใบอ้มที่ถูกย่างไฟอ่อนๆ แล้วสามารถส่งกลิ่นหอมได้ 2-3 วัน หากอยู่ในที่อับส่งกลิ่นหอมได้เป็นสัปดาห์เลยทีเดียว บางคนเก็บไว้ในตลับ หรือกระเป๋าสตางค์แล้วแต่ความชอบ

การวางหมกอ้มลงเตาขี้เถ้าร้อนๆ
สาธิตวิธีการทาแป้งอ้มของคนโบราณ

เรื่องของกลิ่นเป็นสิ่งยากแท้ที่จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ ความหอมของใบอ้มนี้ยังสามารถใช้เปรียบเปรยกับความหอมอื่นๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในคำผญาอีสานโบราณ เช่น

ขาขาวมานั่งใกล้เหม็นคาวฮากสิออก ขาลายนั่งใกล้หอมเนียมอ้มกะบ่ปาน

หมายถึง ชายที่ไม่ได้สักลายที่ขามานั่งใกล้เหม็นคาวแทบอ้วกจะแตก แต่หากชายใดมีการสักขาลายนั้นผู้คนจะชื่นชอบราวกับได้ดมกลิ่นหอมของใบเนียมอ้ม

ต้นอ้มนี้ยังพบได้ทั่วไป และยังมีการใช้ประโยชน์อยู่ในหลายวัฒนธรรมแตกต่างกันออกไป แต่อ้มที่เก็บมาเล่านี้เป็นเพียงการเล่าเรื่องจากใบไม้สีเขียวในฐานะเครื่องหอมของชาวอีสานโบราณที่เข้าใจธรรมชาติรอบตัวอย่างถ่องแท้ ถึงแม้จะจางแต่ยังไม่หายไปไหน สืบความรู้ภูมิปัญญาการปรุงแต่งธรรมชาติให้เข้ากับวิถีชีวิตชั่วลูกชั่วหลาน หลงเหลืออยู่ในความทรงจำของบรรพบุรุษที่ถูกเล่ามาเป็นทอดๆ

ใบอ้มหากอยู่เองโดยลำพังแทบไม่มีกลิ่น แต่เมื่อไหร่ที่พบกับความร้อนยิ่งส่งกลิ่นแรงขึ้น เหมือนกับภูมิปัญญาของคนเก่าโบราณยิ่งเล่าต่อยิ่งเสียงดังและมีคุณค่าสืบต่อไป

ขอขอบคุณ คุณย่ากองสี ด้วงคำจันทร์ จังหวัดมหาสารคาม

ภาพชายสักขาลายในวัฒนธรรมอีสาน จากฮูปแต้มบนสิมวัดยางทวงวราราม หรือ วัดบ้านยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

อ้างอิง

พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ.2544.ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 16: พืชให้สารกระตุ้น. พิมพ์ครั้ง

ที่ 2. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. อ้างใน https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B 8%A1%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%99 สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2563

อุษา กลิ่นหอม, ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและประเพณีอีสานที่มีต่อความหลากหลายของพันธุ์

พืช,” ใน รายงานการประชุม การสูญเสียความหลากหลายของพันธุ์พืชกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดมา, วันศุกร์ที่ 28 มกราคม .. 2554, โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ, หน้า 43-53.

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

Relate Place

Travel

ห้องเล็กๆ ในป่าใหญ่ ณ หนองผักชี

เขาใหญ่ บ้านหลังใหญ่มีห้องให้เราได้เลือกมากมายแล้วแต่ความชอบ วันนี้ นายรอบรู้นักเดินทาง จะมาเปิดห้องที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ห้องนี้เป็นเหมือนห้องอาหารสำหรับสัตว์ ที่นั่นก็คือ หอดูสัตว์หนองผักชี

Travel

ล่องเรือเก็บส้มโออินทรีย์ ที่สวนไทยทวี

ร่องสวนขนาดเรือแจวพายได้พอดีลำ วางตัวทอดยาวจนสุดสายตาสลับคันดินที่เต็มไปด้วยต้นส้มโอที่แผ่กิ่งก้านใบ และผลส้มโอห้อยระย้าเต็มพื้นที่กว่า 30 ไร่ ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม


News

วังหาด ย้อนรอยอดีตกาล ค้นหา “บรรพบุรุษ”

สุโขทัย จังหวัดเล็กๆ ที่มีความโดดเด่นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน แต่หากจะจัดโปรแกรมท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ในสถานที่เดิม คงไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าไรนัก พวกเราจึงลองค้นหาสถานที่ใหม่ๆ สุดท้ายก็จบที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในอำเภอบ้านด่านลานหอย ที่มีชื่อว่า “บ้านวังหาด”

News

ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2562

ททท.สำนักงานแพร่ ขอเชิญร่วมงาน ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2562 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว และผู้สนใจเที่ยวงาน “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2562” ในระหว่างวันที่ 14-20 มีนาคม 2562 ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ นางสิรินาถ ฉัตรศุภกุล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ กล่าวว่า