ตามชาวบ้านเข้าป่าไปเก็บเมี่ยง
กิจกรรมสำคัญเมื่อมาเยือนที่นี่คือการเที่ยวป่าเหมี้ยงหรือเมี่ยง ป้าเจ้าของสวนจะนำไปพร้อมอุปกรณ์ครบมือ ไล่ไปตั้งแต่ “ส่า” หรือตะกร้าขนาดพอเหมาะสำหรับใส่ใบเมี่ยงสะพายอยู่บนบ่า มีตอกเส้นเรียวบางเอาไว้มัดเมี่ยง มีดพร้าสำหรับฟันวัชพืช และ “ปอก” (หรือปลอก) ซึ่งทำจากแผ่นสังกะสีม้วนคล้ายแหวนใส่ที่ปลายนิ้ว ที่ปลายติดใบมีดโกนไว้ ใช้เก็บใบเมี่ยง รวมทั้ง “ขอ” ซึ่งเป็นเชือกยาวที่ปลายเชือกติดตะขอไม้ใช้โน้มต้นที่สูงให้ต่ำลงจะได้เก็บง่ายขึ้น
เมี่ยงที่นี่ไม่ใช่เมี่ยงคำ-ของกินเล่นที่เราคุ้นเคย แต่คือชาพันธุ์อัสสัม ซึ่งเติบโตในป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ อากาศหนาวเย็นและความชื้นสูง ชาวบ้านทำเมี่ยงสืบต่อกันมาเกือบ 200 ปี ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ฤดูกาลเก็บเมี่ยงเริ่มตั้งแต่เข้าหน้าฝนไปจนหมดหน้าหนาว ราวเดือนพฤษภาคมจนถึงกุมภาพันธ์
ป้าใช้ “ปอก” ตัดฉับที่ใบอ่อนตามยอดอย่างคล่องแคล่ว การเก็บเหมี้ยงไม่ใช่เด็ดทั้งใบ แต่ให้ตัดโดยเว้นก้านใบเอาไว้ เพื่อให้ใบเมี่ยงได้หายใจ ไม่อย่างนั้นต้นจะไม่แตกยอด เน้นเก็บยอดสามใบแรกเท่านั้น คนตัดเมี่ยงมือสมัครเล่นอย่างพวกเรา จะตัดแต่ละทีจึงต้องเล็งแล้วเล็งอีกจนแน่ใจ
แม้วิถีของเหมี้ยงคือลมหายใจของที่นี่ แต่น่าเสียดายที่ลมหายใจนี้กำลังแผ่วลงไปทุกที ด้วยปัจจุบันเหมี้ยงไม่ค่อยเป็นที่นิยมอย่างที่ผ่านมา ชาวบ้านจึงนำพลับและกาแฟพันธุ์อะราบิกามาปลูกแซมในป่าเมี่ยง ในหน้าหนาวเม็ดกาแฟสุกสีแดงฉานและผลพลับสีเหลืองดกเต็มต้นให้ชิมกันอีก