ในอดีตช่วงยี่เป็ง ล้านนาจะมีงานบุญใหญ่ คือการตั้งธรรมหลวง เป็นหัวใจหลัก ตั้งแต่ 13 ค่ำเทศน์ธรรมวัตร 14 ค่ำเทศน์คาถาพัน พอวันพระใหญ่ 15 ค่ำ จึงเป็นการเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก ตั้งแต่เช้ามืดจนจบครบ 13 กัณฑ์ในวันเดียว
ภายในวัดก็จะแต่งสถานที่ทำรั้วราชวัตร ประตูป่า โดยจำลองมาจากการที่พระเวสสันดรถูกขับให้ไปบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า บางแห่งก็จะทำเป็นเขาวงกตให้เดินเล่นกันโดยตรงกลางมีแท่นบูชาพระพุทธรูปอยู่ มีการแขวนโคมประดับต่างๆ
ส่วนการตั้งธรรมหลวง นิยมใช้วิหาร ตกแต่งไปด้วยดอกไม้ เช่น ดอกบัว ช่อสามเหลี่ยมติดกระดาษฉลุลาย รูปช้าง ม้า วัว ควาย ทาสหญิง ทาสชาย แก้ว แหวน เงิน ทอง ประดับโคม รวมถึงมีการจุดผางปะติ๊ด หรือผางประทีปเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
บริเวณธรรมมาสน์เทศน์ของพระสงฆ์ ก็จะประดับด้วยม่าน ห้อยดอกพันในหับดอก ที่สานโดยไม่ไผ่ประกบกัน “ดอกไม้พันดอก” หรือ สหสสฺปฺปผานี้ ใช้เป็นเครื่องบูชาพระธรรม บูชาพระคาถาจำนวน 1,000 (สหสฺสคาถา) ดอกไม้ที่นิยมมาบูชา ได้แก่ ดอกกาสะลอง (ปีป) ดอกจี๋หุบ (มณฑา) ดอกสารภี เป็นต้น ดอกไม้เหล่านี้เป็นดอกไม้หอม ช่วยทำให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในป่าหิมพานต์
ทว่าในปัจจุบัน การตั้งธรรมหลวงหรือเทศน์มหาชาตินี้ ก็จัดน้อยลงไปทุกขณะ การทำแตะดอกไม้พันดวงก็ยิ่งจะหาดูยากขึ้นทุกที อย่างไรก็ตามก็ยังปรากฏอยู่ในหลายชุมชน เช่น ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดมิ่งเมือง ในอ.เมืองน่าน ซึ่งปีนี้ตั้งธรรมหลวง ปีหน้าอาจจัดเป็นงานตานก๋วยสลากใหญ่ หรืองานสลากภัต ซึ่งต้องใช้การร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของคนในชุมชน
ชาวบ้านร้องแงเดิมเป็นชาวลื้อ ต้นตระกูลอพยพมาจากสิบสองปันนา เมื่อแรกตั้งถิ่นฐานแถบนี้ได้เลือกชัยภูมิใกล้ร่องน้ำที่มีต้นแง (ต้นไม้ที่ให้ผลรสเปรี้ยวคล้ายส้ม) ขึ้นชุกชุม จึงเรียกว่า “บ้านร่องแง” ภายหลังเพี้ยนเป็น “ร้องแง” ดังปัจจุบัน