ชวนล่องลงใต้..หอบผ้าไปนอนริมเล ที่ ‘บ่อหินฟาร์มสเตย์’ ณ ตรัง

หากคุณได้มีโอกาสล่องลงใต้ “นายรอบรู้”อยากชวนให้ลองหยุดเท้าที่จังหวัดตรัง ปล่อยให้เราจับมือคุณพาไปสร้างความทรงจำใหม่ๆ ที่จะทำให้ทริปวันหยุดของคุณไม่เหมือนทุกครั้ง ที่นี่ ‘บ่อหินฟาร์มสเตย์’ ….ไกลออกไปจากท่าอากาศยานตรังประมาณ 40 นาที ที่ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา

ที่ตั้งของบ่อหินฟาร์มสเตย์ โฮมสเตย์ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังพัฒนาพื้นที่จากภายหลังการประสบภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กลายเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ต่อมาจึงพัฒนาส่วนบ้านพักให้เป็นรูปแบบโฮมสเตย์ริมชายทะเล บริการอาหารทะเลสดปรุงรสชาติท้องถิ่นแท้ๆ พ่วงด้วยกิจกรรมที่จะได้สัมผัสกับธรรมชาติ และวิถีประมงพื้นบ้านอย่างใกล้ชิด 

เมื่อก้าวเท้าเข้าไปพบรอยยิ้มต้อนรับอย่างเป็นมิตรและเชื้อเชิญให้เข้าบ้าน พื้นที่บ้านไม้ยกสูงเนื้อที่ส่วนใหญ่ของตัวบ้านยืนตัวอยู่บนลำคลองสิเกา ส่วนที่พักอาศัยแบ่งเป็นโฮมสเตย์จำนวนสามหลัง มีระเบียงไม้เปิดโล่งขนาดกว้างป็นทั้งที่นั่งเล่นพักผ่อนและท่าเรือเคียงข้างด้วยกระชังเลี้ยงปลาของชุมชน

เจ้าบ้านต้อนรับด้วยขนมท้องถิ่นคู่กับน้ำกระเจี๊ยบรสหวานเย็นชุ่มคอ เมื่อนั่งพักจนหายเหนื่อย เจ้าบ้านเรียกลงเรือหางยาวขนาดบรรทุกไม่เกินเจ็ดคนออกเรือมุ่งหน้าไปตามลำคลองสิเกา ทิวทัศน์สองฝั่งซ้ายขวาเป็นภาพกำแพงสีเขียวสบายตาของป่าชายเลนเบียดตัวแน่น จากคำบอกเล่าของพี่ ‘บรรจง นฤพรเมธี’ ประธานกลุ่มโฮมสเตย์เล่าว่าในจำนวนต้นไม้ในป่าชายเลยรอบๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากฝีมือลงกล้าของนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาหลากหลายกลุ่ม

เรือจอดเทียบฝั่งดินเลนของป่าด้านหนึ่ง ดินเลนมีพลังดูดมหาศาลทำให้การเดินเป็นไปด้วยความลำบากเล็กน้อย พี่บรรจงจัดแจงลำเลียงกล้าโกงกางที่นำติดมาด้วยออกจากเรือสำหรับกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เริ่มต้นด้วยการสาธิตขั้นตอนการลงกล้า ตั้งแต่การกำจัดพสาติกห่อหุ้มส่วนราก

จากนั้นใช้ท่อนไม้ยาวหนึ่งเมตรโดยประมาณปักลงไปบนดินเลนหมุนเป็นวงกลมเพื่อให้เกิดโพรงความยาวประมาณหนึ่งฟุตสำหรับปักกล้าลงดิน และจบด้วยกลบดินรอบโคนต้นให้แน่นเสริมความแข็งแรงให้ต้นกล้าเติบโตเป็นโกงกางรุ่นใหญ่ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าชายเลนผืนใหญ่ในอนาคต

จุดต่อมาเรือเข้าเทียบบนฝั่งป่าชายเลนอีกครั้ง มีสะพานไม้เล็กๆ เส้นทางมุ่งเข้าไปในกลุ่มต้นโกงกางใช้เวลาเดินไม่ถึงสิบนาทีพบบ่อน้ำร้อนธรรมชาติที่ผุดขึ้นเองกลางป่าชายเลน คำถามลักษณะเดียวกันถูกเอ่ยออกมาจากหลายๆ คนถึงความร้อนของน้ำ ไม่รอช้าพี่บรรจงผู้นำทาง วิ่งย้อนกลับไปที่เรือลำหนึ่ง กลับมาในมือมีกระบอกพลาสติก และเดินลงไปวิดน้ำขึ้นมาเต็มภาชะยื่นมาให้พิสูจน์ ความร้อนของน้ำร้อนพอที่จะลวกไข่ให้สุกได้สบายๆ 

เรือพามุ่งต่อไปที่จุดสุดท้ายที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของทริปล่องเรือคือ ‘หาดเก็บตะวัน’ จุดชมพระอาทิตย์ตก เรือเร่งเครื่องยนต์เพื่อไปให้ทันแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับหาย

เรือเทียบท่าริมหาดทรายกว้างร้างผู้คนมีเพียงเสียงลมยามเย็นโบกพัดผ่านกระทบหน้า อาทิตย์ดวงกลมโตกำลังค่อยๆลับหาย แสงที่ส่องสะท้อนผิวน้ำลงมาปรากฎเป็นสีเหลืองส้มเป็นริ้วเส้นขอบฟ้า จนกระทั่งแสงสุดท้ายกำลังค่อยๆ หายลับ ความมืดคลืบคลานเข้ามา เป็นสัญญาณบอกถึงเวลากลับบ้านพัก

หลังอาหารเย็นปิดท้ายด้วยการแสดง ‘ลิเกป่า’ ศิลปะการละเล่นท้องถิ่นของเมืองใต้ ที่ปัจจุบันหาชมดูได้ยากแล้ว โดยคณะ‘กิจจาเกสร สุนทรศิลป์’ ชุมชนบ่อหิน ถึงแม้ว่าตลอดการแสดงจะใช้ภาษาท้องถิ่นของชาวปักษ์ใต้ที่ค่อนข้างฟังเข้าใจยาก แต่อากัปรกิริยาท่าทางการแสดง เสียงร้องเพลงประกอบดนตรีเต็มวง สามารถเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้แก่แขกผู้มาเยือนได้อย่างอิ่มสุข

ก่อนแยกย้ายหอบหิ้วพาร่างกายอันเหนื่อยล้าทิ้งตัวลงบนที่นอนนุ่มๆ ให้เสียงของเหล่าแมลงกลางคืนและลมทะเลขับกล่อม…. และที่นี่จะโปรยเสน่ห์ให้ตกหลุมรักจนถอดตัวไม่ขึ้น.

ติดต่อสอบถามข้อมูลที่พักและกิจกรรม ‘บ่อหินฟาร์มสเตย์’ ที่เบอร์ 081-892-7440 คุณบรรจง นฤพรเมธี (ประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านพรุจูด ตำบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง)

Relate Place

Travel

ชวนล่องลงใต้..หอบผ้าไปนอนริมเล ที่ ‘บ่อหินฟาร์มสเตย์’ ณ ตรัง

หากคุณได้มีโอกาสล่องลงใต้ “นายรอบรู้”อยากชวนให้ลองหยุดเท้าที่จังหวัดตรัง ปล่อยให้เราจับมือคุณพาไปสร้างความทรงจำใหม่ๆ ที่จะทำให้ทริปวันหยุดของคุณไม่เหมือนทุกครั้ง ที่นี่ ‘บ่อหินฟาร์มสเตย์’ ….ไกลออกไปจากท่าอากาศยานตรังประมาณ 40 นาที ที่ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา

Travel

ความสุขแสนเรื่องธรรมดา ที่มหาวิทยาลัยไร้ปริญญา


จุดเริ่มต้นของชื่อ ‘มหาวิทยาลัยบ้านนอก’ นั้นมาจากเรื่องธรรมดา คือ พื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนในชุมชนซึ่งถูกปรับให้ตามทันโลกยุคปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เพียงอยู่รอด แต่ก่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่ดีต่อผู้อื่น และทำให้ชุมชนเล็กๆ อย่าง ‘บ้านจำรุง’ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรธรรมชาติ

tips travelers

แตนทะเล…ทำไงดีล่ะ

เวลาไปดำน้ำ หลายคนมักจะรู้สึกเหมือนโดนเข็มนับพันเล่มตำ  ทำให้เสียบรรยากาศการชมความงามของโลกใต้ทะล  จากนั้นก็เริ่มคันบางคนเริ่มมีตุ่มสีแดงขึ้นมาซึ่งเป็นอาการของพิษแตนทะเล

Travel

สามล้อเชื่อมใจ วิถีชีวิตบนความต่างของวัฒนธรรม

ท่ามกลางกระแสข่าวตามหน้าสื่อต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องราวความรุนแรงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางครั้งก็ดูรุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง ทำให้คนต่างจังหวัดต่างเกิดความหวาดกลัวและไม่กล้าที่จะย่างก้าวเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้