เที่ยวงานวัดบางยี่ขัน ชมจิตรกรรมงานชั้นครูในพื้นที่บ้านสวนฝั่งธนฯ

“เพลิดเพลินเคยเดินด้วยกัน แทะไหมฝันดูรถไต่ถัง หยอกเย้าบนชิงช้าสวรรค์ ถ่ายรูปคู่กันกินขนมจีนข้างทาง..” (เพลงงานวัด โดยวงเพื่อน)

เพลงงานวัดนี้อาจจะสะท้อนวัยเด็กของหลายคน ชวนให้นึกถึงความรื่นเริงของผู้คนในอดีตที่สัมพันธ์กับวัดในฐานะของศูนย์กลางชุมชน งานวัดเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจผู้คนด้วยมหรสพต่างๆ และอาหารการกินมากมาย รวมถึงเป็นที่พบปะสังสรรค์ของวัยรุ่นหนุ่มสาวได้ใช้เวลาพูดคุยหยอกเย้ากัน

สำหรับงานวัดบางยี่ขันจัดขึ้นทุกปีในช่วงวันมาฆบูชา เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ภายในคึกคักไปด้วยเครื่องเล่น อาหารการกิน เด็กในชุมชนวิ่งเล่นกันสนุกสนาน มีทั้งเสียงหัวเราะและคราบน้ำตาของเด็กที่งอแงจะเอาของเล่น เป็นสีสันของงานวัดกับเด็กน้อยที่ไม่เคยเลือนหายไปไหน

1
บรรยากาศงานวัดบางยี่ขัน
ผู้คนในชุมชนได้มีการเที่ยวเล่น จับจ่ายใช้สอยที่งานวัดบางยี่ขัน
หลวงพ่อนาคที่อัญเชิญลงมาจากโบสถ์เพื่อให้ญาติโยมได้กราบไหว้ ปิดทอง

เสียงโหมโรงดังสนั่นจากเวทีมหรสพลิเกที่เชิญชวนชาวบ้านใกล้ไกลมาเตรียมตัวรอนักแสดงแต่งตัว ปะแป้งก่อนออกมาแสดงโชว์ อีกฟากของวัดเป็นมุมของหนังกลางแปลงจอใหญ่เด่นอยู่ในมุมมืด ถึงคนดูจะไม่มากแต่คนฉายหนังก็ไม่อิดออดที่จะฉายหนังต่อไป

เราเดินไปตามมุมต่างๆ ของวัด งานวัดอาจจะเรียบง่ายและไม่คึกคักมากมายอย่างในอดีตที่ผู้ใหญ่มักเล่าถึง เพราะทุกวันนี้แหล่งรวมความบันเทิงหาง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น หนังกลางแปลงและลิเกมีคนดูน้อยลง แต่วัดก็พยายามที่จะยังคงรักษาบรรยากาศงานวัดไว้ให้ชาวบ้านละแวกวัดได้มีกิจกรรมร่วมกัน

จุดไฮไลท์นอกจากความสนุกสนานแล้ว ยังมีส่วนให้ชาวบ้านทำบุญ โดยทางวัดมีการอัญเชิญหลวงพ่อนาค พระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ปกติประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถลงไปให้ชาวบ้านปิดทองและกราบสักการะอย่างใกล้ชิดอยู่บริเวณศาลาวัด และโชคดีของเราที่มาช่วงวัดมีงานเลยได้เข้ามาในโบสถ์กราบพระประธาน ชมจิตรกรรมของครูช่างที่มีชื่อเสียงในย่านฝั่งธน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
พระทําวัตรเย็นภายในโบสถ์วัดบางยี่ขัน

วัดบางยี่ขัน ศูนย์กลางชุมชนที่เก่าแก่ในพื้นที่บ้านสวน

ตามประวัติเล่าถึงความเก่าแก่ของวัดนี้ที่มีมาประมาณราวปี พ.ศ.2172 เดิมชื่อ “วัดมุธราชาราม” บางเอกสารระบุชื่อว่า “วัดมุขธราชธาราม” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาและมีการบูรณะในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงรัชกาลที่ 2-3 พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีหน้าบันและคันทวยเป็นไม้สลัก ใบเสมาทำด้วยศิลาทรายสีแดง อยู่ในเขตพุทธาวาสที่ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านกลางวัด แยกพระอุโบสถออกจากส่วนอื่นๆ ของวัด ว่ากันว่าเคยเป็นถนนที่ใช้ลำเลียงสุราของโรงสุราบางยี่ขัน จึงไม่แปลกใจที่พบว่าทำไมมีถนนอยู่กลางวัดได้ ปัจจุบันเป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนละแวกนี้

ในอดีตคลองบางยี่ขันเป็นพื้นที่ที่รุ่งเรือง มีชื่อเสียงจากความเป็นสวนเงาะ ทำให้เจ้าของสวนในแถบนั้นมีฐานะดี มั่งคั่งรำรวย มีเรื่องเล่าว่ารสชาติดีถึงขั้นที่เจ้าของสวนแห่งหนึ่งได้รับพระราชทานสิทธิ์พิเศษไม่ต้องเสียค่าอากรสวน และของขึ้นชื่อบางยี่ขันที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยคือโรงสุราบางยี่ขันซึ่งสุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองตอนหนึ่งว่า

“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา

โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
ภาพจิตรกรรมเบื้องหน้าพระประธานภายในโบสถ์วัดบางยี่ขัน
OLYMPUS DIGITAL CAMERA
ภาพพระพุทธเจ้ายืนเหนือมหาสมุทร จิตรกรรมเบื้องหลังพระประธานภายในโบสถ์วัดบางยี่ขัน
ภาพเทพชุมนุมเบื้องขวาของพระประธานภายในโบสถ์วัดบางยี่ขัน
ยักษ์ผู้หญิง หรือ “ยักษ์บางยี่ขัน”

ชมจิตรกรรมเลื่องชื่อในวัดบางยี่ขัน

จิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของครูคงแป๊ะ จิตรกรเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ฝีมือการเขียนภาพของท่านจะสอดแทรกอัตลักษณ์ความเป็นจีนอยู่เสมอ พระท่านชี้ให้เราดูภาพเทวดาจีนองค์น้อยๆ ที่ปะปนอยู่กับเทวดาแบบไทย “นั่นไงเทวดาแปะ มองเห็นกันไหม” เราต่างพากันร้อง “อ๋อ..” มองเห็นเทวดาจีนในมุมมืดๆ สูงกว่าระดับศีรษะขึ้นไปอีก

ผนังระหว่างช่องหน้าต่างและประตูเป็นภาพเขียนเรื่องทศชาติชาดก ผนังเหนือขอบหน้าต่างเขียนเป็นภาพเทพชุมนุม  บริเวณด้านหลังพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนเหนือมหาสมุทรมีปูและปลาพอให้เห็นว่าเป็นผืนน้ำ มีสาวกขนาบซ้ายและขวาในท่าประคองอัญชลี  อาจารย์สันติ เล็กสุขุม ให้ความเห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในวัฒนธรรมมอญและอาจเป็นฝีมือการซ่อมในระยะหลัง

ส่วนด้านหน้าพระประธานเป็นชุดภาพทศชาติเรื่องมโหสถ เหนือขึ้นไปคือภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ และพระแม่ธรณีบีบมวยผม ภาพจิตรกรรมยังมีความสวยงามอยู่หลายจุด ความเฉพาะของผนังด้านหน้าพระประธานคือยักษ์ผู้หญิง พระท่านบอกพร้อมติดตลกกับเราว่า “นี่แหละยักษ์บางยี่ขัน ไม่เป็นยักษ์ผู้ชายเหมือนที่อื่น” แต่น่าเสียดายที่จิตรกรรมฝาผนังฝั่งทางซ้ายของพระประธานยังมีความชำรุดเลือนหายอยู่มากรอการซ่อมแซมปรับปรุง

ภาพจิตรกรรมภายในโบสถ์วัดบางยี่ขัน ที่สะท้อนถึงความเป็นสวนเงาะ สวนผลไม้ของชาวบ้าน
เทวดาจีนในวัดบางยี่ขัน

นอกจากนี้ยังเห็นว่าภาพเขียนในพระอุโบสถวัดบางยี่ขันสะท้อนให้เห็นถึงภาพวิถีชีวิตของผู้คนในฝั่งธนบุรีที่มีการทำสวนผลไม้ต่างๆ อย่างละเอียดและสวยงาม มีเงาะบางยี่ขันในภาพเขียนที่เล่าลือกันหนักหนาว่าสุดแสนจะอร่อย หากเข้าไปชมแล้วต้องใช้สายตาและจินตนาการสอดส่องดูเพราะภาพอาจจะเล็ก และด้วยสีสันที่เป็นธรรมชาติดูกลมกลืนสวยงามจึงไม่โดดเด่นสะดุดตามาก ผู้ชมจำเป็นต้องพกความตั้งใจนั้นไปด้วย

อ้างอิง

การศาสนา,กรม.ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม2.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา(2526)

สันติ เล็กสุขุม, “จิตรกรรมฝาผนังของวัดฝั่งธนบุรี : วัดบางยี่ขัน,” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 30 ฉบับที่ 3

กรกฎาคมกันยายน 2547, หน้า 132-134

.พลายน้อย.แม่น้ำลำคลอง.กรุงเทพฯ : มติชน.2555
Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest

Info

วัดบางยี่ขัน

ที่อยู่: 376 ถนน จรัญสนิทวงศ์ แขวง บางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700
 
 
โทรศัพท์: 02 883 1152
Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

Relate Place

Travel

สัมผัสวีถีคนสองน้ำ ที่บ้านบานา

อ่าวปัตตานีนั้นเป็นขุมทรัพย์ทางธรรมชาติของทุกคน มีทรัพยากรณ์ทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ มีเรืองราวประวัติศาสตร์ยาวนาน ทำให้ชุมชนชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานีมีเรื่องราววิถีชีวิต ภูมิปัญญาที่น่าค้นหาอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือ ชุมชนบ้านบานา

News

“สะเร็นน่า” น่าดู วิถีชาวกูย หมู่ บ้านช้าง งานช้างสุรินทร์

กลุ่มชาวกวยที่เรียกตนเองว่า “กวยตำแร็ย” (กวยช้าง) นับถือผีปะกำ ต้องแสดงความเคารพและถือปฏิบัติเหมือนถือปฏิบัติศีล ๕ แต่มีข้อห้ามและข้อปฏิบัติหลายข้อมากกว่า โดยเฉพาะตอนเข้าปะกำต้องถือโดยเคร่งครัด ทั้งผู้ออกจับช้างป่า และคนในครอบครัวที่อยู่ทางบ้านก็ต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดเช่นกัน

Travel

หอชมทุ่งบ้านต้นตาล @ สุพรรณบุรี

ที่เที่ยวใหม่ที่อยากพาทุกคนมาชมบรรยากาศท้องทุ่งนาแบบสุดลูกหูลูกตาจากมุมสูง นั่นคือ หอชมทุ่งต้นตาล ตั้งอยู่ที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

บ้านห้าง ร.5
tips travelers

เมื่อ “ชั่วฟ้าดินสลาย” กลายเป็นเรื่องจริง บ้านห้าง ร . 5

พะโป้ จากตัวละครในนวนิยายชื่อดัง กลายมาเป็นเรื่องราวที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เหมือนว่า พะโป้ ในนิยาย นั้นอาจจะมีตัวตนอยู่จริงๆ ก็เป็นได้