ย่ำเรือนเยือนถิ่นริมคลองบางกอกน้อย

“จนนาวาคลาคล่องเข้าคลองกว้าง

ตำบลบางกอกน้อยละห้อยหวน

ตลาดแพแลตลอดเขาทอดพวน

แลแต่ล้วนเรือตลาดไม่ขาดคราว”

(นิราศพระประธม เมื่อ พ.ศ. 2385 โดย สุนทรภู่)

“บางกอกน้อย” ฝั่งธนบุรีในปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นแหล่งที่ตั้งรกรากเก่าแก่ของผู้คนสืบอย่างน้อยก็ตั้งแต่แต่สมัยอยุธยา คลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ซึ่งเคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม แต่ในสมัยพระไชยราชาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงบริเวณหน้าโรงพยาบาลศิริราชและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน จากเดิมคลองที่เคยคดโค้งถูกน้ำกัดเซาะจนกว้างกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ และแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าแคบจนกลายเป็นคลอง

1
พระประธานในโบถส์วัดสุวรรณาราม

สายน้ำกับชีวิตผู้คนริมแม่น้ำ ลำคลองผสมกลมกลืนอยู่ร่วมกันมาอย่างช้านาน น้ำคือชีวิต น้ำคือที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารและเส้นทางคมนาคม ฯลฯ ผู้คนอยู่อาศัยจนฝังรากลึกกำเนิดศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่หลงเหลือเป็นหลักฐานที่ปรากฏชัดไม่พัดผ่านไปกับกระแสน้ำอันไหลเอื่อยของเจ้าพระยา

ร้านค้าห้องแถวเก่าแก่ในตลาดวัดทอง
ตลาดวัดทอง หรือ วัดสุวรรณาราม ปัจจุบันเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรมชมุชน

ย่ำเท้าเข้าชุมชนริมคลองสายวัฒนธรรม จากปากคลอง “วัดอมรินทร์” สู่ “วัดสุวรรณาราม”

เมื่อเส้นทางคมนาคมทางหลักเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมใช้เรือล่องทางน้ำ เป็นต้องมาเดินตามตรอกออกตามประตูทางบก จากปากคลองบางกอกน้อยหมุดหมายสำคัญของชาวคลองคือวัดอมรินทร์สู่วัดสุวรรณารามหรือชุมชนบ้านบุ ชุมชนช่างฝีมือเก่าแก่แห่งหนึ่งในธนบุรี เป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศให้ความสนใจอย่างมิขาดสาย โดยเฉพาะทัวร์จักรยานของชาวต่างชาติที่เข้าออกชุมชนไม่เว้นแต่ละวัน

วัดอมรินทรารามหรือชื่อเดิม “วัดบางหว้าน้อย” เป็นพระอารามหลวง  ในสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 1 กรมพระราชวังหลังทรงสถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม  และได้ทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอมรินทราราม” มีเรื่องเล่าท้องถิ่นว่าเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการทิ้งระเบิดสถานีรถไฟบางกอกน้อยทำให้วัดอมรินทรารามได้รับผลกระทบ สิ่งก่อสร้างสำคัญหลายอย่างถูกทำลายแทบหมดสิ้น เว้นเสียแต่ “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ที่ได้รับความเสียหายเพียงบางส่วน หลวงพ่อโบสถ์น้อยเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังเดิมของวัดที่มีขนาดเล็กจึงเรียกขานกันแบบชาวบ้านว่า “โบสถ์น้อย”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
โรงซ่อมรถจักรธนบุรี

“ปู๊น ปู๊น” เสียงหวูดรถไฟดังสนั่นสลับเสียงกับรถยนต์ที่วิ่งว่อนเต็มท้องถนน ข้ามฟากจากวัดอมรินทร์ฯ มุ่งเข้าสู่ชุมชนบ้านบุ เต็มไปด้วยหัวรถจักรหรือรถไฟมากมายในระดับสายตา ก้มลงต่ำมาพบคราบน้ำมันเครื่องดำเขรอะเน้นย้ำว่าเรากำลังเดินมาถึง “โรงรถจักรธนบุรี”

โรงรถจักรธนบุรีหรือ “โรงซ่อมรถไฟ” สร้างขึ้นพร้อมสถานีรถไฟบางกอกน้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ เพื่อให้เป็นสถานีใหญ่ต้นทางสายใต้จากกรุงเทพฯ ถึงเพชรบุรี และจุดเริ่มต้นเส้นทางรถไฟสายตะวันตกจากกรุงเทพฯ ถึงกาญจนบุรี เรียกว่า “รถไฟเพ็ชรบุรี”

ปัจจุบันโรงรถจักรไอน้ำยังเป็นสถานีซ่อมบำรุงรถจักรดีเซลของการรถไฟฯ ที่สำคัญยังเป็นสถานที่เก็บรักษารถจักรไอน้ำที่ยังเหลืออยู่จำนวน 5 คัน ได้แก่ รถจักรไอน้ำยี่ห้อ ซี 56 จำนวน 2 คัน รถจักรไอน้ำแปซิฟิค 2 คัน และรถจักรไอน้ำมิกาโด จำนวน 1 คัน ที่สร้างจากประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นจุดไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวต้องมาชม อีกทั้งรถจักรไอน้ำทั้ง 5 คันนี้จะถูกนำออกมาใช้ในเทศกาลต่างๆ

โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา มรดกช่างที่สืบมาตั้งแต่อยุธยา
โหมไฟให้ร้อนเพื่อตีขัน

ชุมชนบ้านบุขันลงหิน มรดกช่างอยุธยา

“เมื่อก่อนเสียงตีขันดังไปทั้งซอย ตอนนี้เหลือน้อยมากแล้ว ต้องเข้ามาวันธรรมดานะ เสาร์ อาทิตย์ไม่ตีขันกัน” เสียงบอกเล่าของช่างตีขันลงหินที่มาไกลจากดินแดนที่ราบสูงอีสาน ในโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ซึ่งเป็นแหล่งสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ในชุมชน

บ้านบุเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย หรือเข้าทางซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 สันนิษฐานว่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ชาวกรุงเก่าได้อพยพตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนอกกำแพงเมืองธนบุรีด้วยการเดินทางทางเรือ

“ขันลงหิน” เป็นภาชนะที่ทำจากโลหะชนิดหนึ่ง ทำขึ้นเป็นรูปทรงขันที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ต่อมามีการพัฒนาเป็นรูปแบบใหม่ๆ เช่น พานใส่ผลไม้ ถาดเค้ก ฯลฯ แต่ยังคงเรียกว่า “ขันลงหิน” อย่างเดิม ขันลงหินมี 2 ลักษณะ คือภายนอกสีดำแกะลาย ภายในขัดเงาเห็นสีเนื้อทอง และทั้งภายนอกและภายในขัดเงาเห็นสีเนื้อทองทั้งสองด้าน

ด้วยกรรมวิธีการผลิตของขันลงหินเป็นงานฝีมือและลงแรงสูง รวมถึงมีต้นทุนสูงเนื่องด้วยวัตถุดิบที่หายากมากขึ้น ทำให้การทำขันลงหินของบ้านบุค่อยๆ หายไป แต่ภายในชุมชนเองก็มีผู้ประกอบการที่พยายามปรับตัวอย่างเช่น โรงงานบ้านบุคอลเลคชั่น ของคุณอุดม ขันธ์หิรัญ ที่เดิมก็เป็นโรงงานทำขันลงหิน ปัจจุบันหันเหมาทำสแตนเลส เน้นการส่งออกลูกค้าชาวต่างชาติ ทั้งสองโรงงานนอกจากจะทำหัตถกรรมฝีมือขายสินค้า ยังใจดีเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจที่เข้ามาเยี่ยมชมบ้านบุ ดังจะเห็นได้จากทัวร์จักรยานต่างชาติที่หลงใหลในงานช่าง “Made in ThaiLand แดนไทยทำเอง” อย่างในเพลงคาราบาว

7
ร้านยาสงวนโอสถ ร้านยาแผนโบราณเก่าแก่กว่า 75 ปี

ตลาดวัดทอง หรือตลาดวัดสุวรรณาราม

ตลาดวัดทองหรืออีกชื่อที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวคือ “ตลาดไร้คาน” เป็นศูนย์กลางการค้าของชุมชนบ้านบุ หรือ ชุมชนวัดสุวรรณารามที่เคยรุ่งเรืองในอดีต พ่อค้าแม่ค้าที่มาค้าขายมีเรือนแพร้านค้าและลานสำหรับค้าขาย ทั้งในคลองบางกอกน้อยและคลองวัดทอง ปัจจุบันหลงเหลือความรุ่งเรืองของตลาด โดยมีเรือนไม้ห้องแถวร้านค้าอยู่หลายร้าน

บริเวณด้านหลังตลาดมีร้านยา “สงวนโอสถ” เป็นร้านขายยาแผนโบราณมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 โดยนายสงวน เหล่าตระกูล หรือ หมอหงวน ตำรายาของร้านสงวนโอสถมีทั้งรูปแบบของการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยลายมือของนายสงวน และแบบที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรถ่ายทอดโดยการเรียนรู้จดจำและฝึกฝนด้วยตนเองของทายาทภายในครอบครัว

9
นิทรรศการจำลองเหตุการเล่าเรื่องราวชุมชนในเขตบางกอกน้อย

วัดสุวรรณาราม หรือ วัดทอง

ศูนย์กลางชุมชนของชาวบ้านบุและหมุดหมายสำคัญริมคลองบางกอกน้อยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชดำรัสให้นำเชลยศึกพม่าจากค่ายนางแก้วไปประหารชีวิตที่นี่ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดให้รื้อ แล้วสถาปนาใหม่ทั่วทั้งพระอาราม พร้อมทั้งพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสุวรรณาราม” นอกจากนี้วัดทองยังเป็นที่พระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่

ครั้งในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้ าฯ ให้ช่างเขียนหลวงเขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถ เป็นการประชันฝีมือกันระหว่างจิตรกรฝีมือชั้นครูสมัยนั้น โดยเรื่องเนมีราชชาดก เขียนโดยหลวงวิจิตรเจษฎา (อาจารย์ทองอยู่) ส่วนเรื่องมโหสถชาดกเขียนโดยหลวงเสนีย์บริรักษ์ (อาจารย์คงแป๊ะ)

ต่อในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งบูรณะพระอุโบสถ เปลี่ยนช่อฟ้า ใบระกา เปลี่ยนกระเบื้องและตัวไม้อื่นๆ ที่ชำรุด และปูพื้นภายในพระอุโบสถ ซึ่งภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ ได้แก่ พระอุโบสถ วิหาร เจดีย์ เก๋งหน้าพระอุโบสถ และโบราณวัตถุต่างๆ ภายในบริเวณวัด

ผู้คนรอบๆ วัดทองหรือวัดสุวรรณารามมีหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มคนดั้งเดิม ผู้คนที่อพยพมาจากอยุธยา รวมถึงพ่อค้าคนจีน เมื่อครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างทางรถไฟสายใต้ทำให้ตลาดวัดทองเติบโตมาก จึงมีชาวจีนมาอยู่อาศัย ค้าขาย ตั้งรกราก และรวมกลุ่มกันสร้างศาลเจ้าเล่าปึงเถ้ากง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลเจ้าโรงหมู” เพราะเดิมคนจีนเลี้ยงหมูอยู่บริเวณนี้ ศาลเจ้าอยู่บริเวณริมคลองบางกอกน้อยถัดจากวัดทองไปจนถึงวัดใหม่ยายแป้น

8
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ มหานครเขตบางกอกน้อย ในบ้านบุ

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย

ภายในชุมชนยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม สร้างขึ้นเมื่อปี 2494 เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ 4 แห่ง นำร่องโดยกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีอาสาพิพิธภัณฑ์ดูแลอยู่ ภายในมีนิทรรศการเล่าเรื่องราวในอดีตและสภาพปัจจุบันของบางกอกน้อย รวมถึงประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ และธนบุรี นอกจากนี้ยังมีภาพเก่าเล่าเรื่องราวผู้คนและสถานที่ของชาวคลองบางกอกน้อย

พิพิธภัณฑ์เปิดวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. โดยที่ไม่เสียค่าเข้าชมใดๆ

จากความรุ่งเรืองของชุมชนทางน้ำที่อุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรม สืบสายเล่าเรื่องมาได้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สู่ธนบุรี รัตนโกสินทร์อย่างไม่เคยร้างผู้คน ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปมาก เส้นทางสัญจรทางน้ำไม่ได้หนาแน่นอย่างก่อน แต่เราก็ยังสามารถนั่งรับลมเย็นๆ ริมคลองชมเรือแจวหาปลา การค้าขายของผู้คนอยู่บ้าง จะมากหน่อยก็เรือท่องเที่ยวที่ผ่านและแวะเวียนเข้ามา

ช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติปั่นจักรยานมาเป็นสาย แวะพูดคุยกับผู้คน เสาะหาที่สำคัญต่างๆ ในชุมชนประหนึ่งว่ารู้จักที่นี่โดยการทำการบ้านศึกษามาเป็นอย่างดี บ้านเมืองน่าชม ผู้คนน่ารักพร้อมให้เราเข้าไปสัมผัสอดีตอันรุ่งเรืองของชุมชนทางน้ำ และทางรถไฟ แหล่งกำเนิดงานช่างฝีมือทองที่พร้อมแบ่งปันรอยยิ้มให้ผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร สมดังคำ “สยามเมืองยิ้ม”

10
เรือนักท่องเที่ยวในคลองบางกอกน้อย

อ้างอิง

– กรมศิลปากร กองโบราณคดี โครงการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีของชาติ. ทะเบียนโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. กรุงเทพฯ. 2535

– กรุงเทพมหานคร. เอกสารโครงการชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืน ในชุมชนบ้านบุและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง พิมพ์เนื่องใน กิจกรรมแนะนำโครงการฯ ณ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2550 โดย กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

– วันวิสข์ เนียมปาน. “ประวัติศาสตร์รถไฟไทย”. ใน 120 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย a day ปีที่ 17 ฉบับ 199 มีนาคม 2560, หน้า 30-35.

– ศิรดา เฑียรเดช.2555.ภูมิปัญญายาแผนโบราณของร้านสงวนโอสถ.วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

– ส. พลายน้อย. แม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555, หน้า 93-95.

– สุดารา สุจฉายา.2560.ประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี

– แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย บรรณาธิการ. 2525.วัดสุวรรณาราม ชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest

Info

ชุมชนริมคลองบางกอกน้อย

ที่ตั้ง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

Relate Place

Sleep

Beat Hotel Bangkok : Arts Hotel สุดเก๋กลางกรุง

อาร์ตโฮเทลที่มีคอนเซปต์คือ ผสานงานศิลปะเข้ากับที่พัก โดยศิลปินแนวสตรีตอาร์ตชื่อดังของไทยได้ฝากผลงานไว้บนผนังห้องทุกห้อง

Eat

ขับรถเที่ยวเลี้ยวหาของกิน..ริมถนนชล-จันท์

ใครที่ชื่นชอบอาหารอินเดียคงไม่พลาด Rang Mahal Rooftop Indian Restaurant ห้องอาหารอินเดียในรูปแบบ fine dining บนชั้น 26 ของโรงแรมแรมแบรนดท์ ย่านสุขุมวิท ที่ได้รับรางวัล Thailand’s BestRestaurants จากนิตยสาร Thailand Tatler ถึง 13 ปีซ้อน

บรรยากาศร้าน โป่งแยงแอ่งดอย
Eat

โป่งแยงแอ่งดอย กินข้าวเคล้าเสียงลำธาร

จะดีแค่ไหนถ้าได้กินอาหารอร่อย ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี “นายรอบรู้” ขอแนะนำร้านโป่งแยงแอ่งดอย ร้านอาหารที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขาลำเนาไพรและมองเห็นวิวน้ำตกแม่สาที่ไหลผ่านตลอดปี