บ้านหนองบัวน้อย ชุมชนผ้าไหมมัดหมี่ ของดีเมืองขอนแก่น

ขอนแก่น ขึ้นชื่อเรื่องผ้าไหมมานาน โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ที่มีวิธีการทำไม่เหมือนใคร ถ้าอยากชมกระบวนการทำอย่างครบวงจร “นายรอบรู้” แนะนำให้ไปที่ “บ้านหนองบัวน้อย” หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัติวิถี ตั้งอยู่ที่ ต.โสกนกเต็น อ.พล จ.ขอนแก่น

เดิมที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของบ้านหนองบัว จนเมื่อปี พ.ศ. 2530 จึงแยกตัวออกมาเป็น “บ้านหนองบัวน้อย” อย่างเช่นในปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ไถนา แต่เมื่อว้างเว้นจากการทำนาชาวบ้านจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมดังจะเห็นได้จากบ้านเรือนหลายหลังที่มีกี่ทอผ้าไว้ใช้เอง ทำให้ชุมชนแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องผ้าไหม

สำหรับใครที่มาเที่ยวที่นี่ คุณจะได้เข้าชมฐานการเรียนรู้ต่างๆ ของบ้านหนองบัวน้อย โดยจะมีไกด์นำเที่ยวเป็นคนในชุมชนเองด้วย เรียกได้ว่ารู้ลึก รู้จริง รู้ทุกแง่มุมเลยละ

กี่โบราณ และผ้าไหมมัดหมี่ฮีตสิบสอง

สำหรับฐานแรกของคือการชมกี่ทอผ้าที่มีอายุกว่า 100 ปี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2431 โดยสร้างจากไม้จิกทั้งต้น กี่โบราณตัวนี้มีการใช้ลิ่มไม้สอดแทนตะปู ทำให้เราเห็นถึงภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนที่ประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือจากสิ่งที่มีอยู่ได้อย่างประณีตสวยงาม

เราได้เจอกับแม่ศรี ทายาทรุ่นที่ 3 ในการสืบทอดการทอผ้าแห่งบ้านกี่ 100 ปี เห็นอายุเยอะแบบนี้ บอกเลยว่าแรงเยอะกว่าเราๆ มากเลยละ แถมยังโชว์การทอผ้าให้เราดูอีกด้วย ไม่รอช้าเราก็แชะภาพความประทับใจเก็บไว้ซะเลย

ไกด์ของเราเล่าว่าที่นี่จะมีการย้อมสีผ้าโดยการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิม คือ การแยกเส้นไหมลงทีละสีด้วยการมัด เป็นที่มาของชื่อ “มัดหมี่” อาจจะดูว่ายาก เพราะต้องใช้ความพยายาม และต้องใจเย็น จึงทำให้หลงเหลือเพียงคนแก่คนเฒ่าที่ทำกันอยู่เท่านั้น  แต่ก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ไหมมัดหมี่โดดเด่นไม่เหมือนใคร

นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชม กี่ 100 ปี และการทอผ้าโสร่งแล้ว ฐานนี้คุณยังได้ชมผ้าลายฮีต 12 ของชุมชนอีกด้วย ซึ่งแต่ละฮีต (“ฮีต” คือ จารีต ประเพณี) จะแบ่งเป็นประเพณี หรือโอกาสงานบุญสำคัญต่างๆ ของแต่ละเดือน ซึ่งมีความสำคัญกับวิถีชีวิตคนอีสาน จนไปถึง 12 เดือน ได้แก่ ลายข้าวหลามตัดคืองานบุญเข้ากรรม, ลายขันบักเบ็งน้อยคืองานบุญคูนลาน, ลายนกกะยางขาวคืองานบุญข้าวจี่, ลายขันบักเบ็งใหญ่คืองานบุญผะเหวด, ลายขาเปียคืองานบุญสงกรานต์, ลายดอกแก้วคืองานบุญบั้งไฟ, ลายฟังหวีคืองานบุญซำฮะ, ลายบักจับหยุมคืองานบุญเข้าพรรษา, ลายกาหลงคืองานบุญข้าวประดับดิน, ลายขอก่องข้าวคืองานบุญข้าวสาก, ลายหมี่ลายคืองาน บุญออกพรรษา และลายโซ่ตาข่ายคืองานบุญกฐิน นั่นเอง เห็นชื่อมากมายแบบนี้ แต่ลวดลายสวยมากเลยทีเดียว และใช้งานได้จริงในช่วงงานบุญต่างๆ อีกด้วย แสดงให้เห็นว่าผ้าไหมมัดหมี่ผูกโยงกับวิถีชีวิตของคนที่นี่อย่างแท้จริง 

อีกหนึ่งในลายผ้าทอที่กำลังมาแรง และมีชื่อเสียงในขณะนี้ คือ ผ้าทอลายแคนแก่นคูน เป็นการนำเอาเอกลักษณ์ความเป็นขอนแก่นสร้างสรรค์ลวดลายให้ออกมาอย่างประณีตงดงาม ได้แก่ ลายแคน ดอกคูน พานบายศรี ลายขอ ลายโคม ลายกง และหมากจับ นั่นเอง

ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า งานจักสาน

มาต่อกันที่ฐานที่สอง คือ ฐานของกลุ่มแม่บ้าน คุณจะได้ชมกระบวนการผลิตผ้าไหม ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมสี และทอผ้าขึ้นลาย เรียกว่ามาฐานเดียวได้ดูครบทุกกระบวนการเลยก็ว่าได้

กลุ่มแม่บ้านจะใช้รังไหมพันธุ์นางน้อย เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชน เพื่อผลิตใยไหม โดยเมื่อหนอนที่โตเต็มที่ หรือเรียกว่า ไหมสุก แล้ว ก็จะนำไปเก็บในจ่อ เพื่อให้ชักใยทำรังไหมต่อไป

“จ่อ” มีลักษณะคล้ายกระด้ง แต่จะมีการสานไม้ไผ่เข้าในจ่อ วางขดเป็นวงกลมก้นหอย ทิ้งระยะห่างไว้ เพื่อใส่หนอนไหมนั่นเอง ทำให้เวลาเก็บรังไหมได้สะดวก

ฐานที่สามคือ “ช่างสาน” หากใครคิดว่างานจักสานแบบแม่ศรีเรือนจะพบเห็นเฉพาะผู้หญิงนั่งทำแล้วละก็ ขอบอกว่าคิดผิด เพราะเมื่อคุณเข้ามาจะเห็นชาย(ไม่)หนุ่มทั้งหลายกำลังนั่งทำงานจักสานกันอย่างขะมักเขม้น

แถมที่นี่ยังเปิดขายผลิตภัณฑ์งานจักสานให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นหมวกสานใบลานทรงท่านเจ้าคุณ กระด้ง ตะกร้า และอื่นๆ อีกมากมาย

เดินลัดเลาะเข้าตรอกออกซอยเพียง 5 นาที เราก็มาอยู่กันที่บ้านโบราณ เป็นบ้านไม้ยกสูงใต้ถุนสูงที่มีอายุกว่า 100 ปี ภายในบ้านมีข้าวของเครื่องใช้เก่าที่ชาวบ้านและคนในชุมชนช่วยกันสะสมเก็บรักษาไว้ให้นักท่องเที่ยว และคนรุ่นหลังได้ชมกัน อาทิ หม้อดินเผา และเตาก่อฟืนเก่า ส่วนชั้นล่างของบ้าน มีการสาธิตการปั่นไหมให้ได้ชมกัน

ถัดไปไม่ไกลมีครกมอญโบราณที่ใช้ตำข้าวตั้งโชว์ ใครที่อยากรู้ว่าคนสมัยก่อนเขาตำข้าวกันอย่างไร ก็สามารถขึ้นเหยียบได้ แต่ขอบอกเลยว่าต้องใช้พละกำลังและแรงกายอย่างมากเลยละ

โสกผีดิบ ความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ

 

นอกจากคุณจะได้ชมฐานการเรียนรู้ของชุมชนแล้ว บ้านหนองบัวน้อยยังมีจุดท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกแห่งที่เป็นไฮไลท์ คือ โสกผีดิบ

ตำนานเล่าขานกันว่า เมื่อปี พ.ศ.2047 ที่แห่งนี้เป็นโสกใหญ่ที่ลึกมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน (โรคฝีดาษ) ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านทำพิธีไม่ทัน จึงพากันนำศพมาทิ้งยังโสกลึกแห่งนี้ แล้วจึงอพยพไปสร้างบ้านเรือนที่อื่นใหม่ จึงเป็นที่มาของชื่อโสกผีดิบนั่นเอง

ฟังชื่อแล้วอาจจะดูหลอนๆ หน่อย แต่เมื่อเข้ามาคุณจะเห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ นั่นคือ หินรูปร่างแปลกตามากมาย ลักษณะคล้ายลานหินตะปุ่มตะป่ำกระจ่ายอยู่โดยทั่วของโสกผีดิบ

 

ใครที่อยากเห็นภูมิปัญญาการทอผ้า และหินแปลกตาของโสกผีดิบแล้วละก็ ต้องไม่พลาดมาเยือนบ้านหนองบัวน้อยกันสักครั้ง แล้วคุณจะประทับใจธรรมชาติ หัตถกรรม และผู้คนที่นี่ไม่รู้ลืม

ขอขอบคุณงานสื่อมวลชนสัมพันธ์ในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

 

Info

บ้านหนองบัวน้อย

ที่ตั้ง : บ้านหนองบัวน้อย ต.โสกนกเต็น อ.พล จ.ขอนแก่น

สอบถามเพิ่มเติม : คุณธวัชชัย คำแก้ว (ผู้ใหญ่บ้าน) 08-5646-3008 หรือคุณสวรรยา ลาแพงศรี (เลขาฯ) 06-4709-3657

GPS : 16.498751, 102.948901 / https://goo.gl/maps/D6aTgead1NP2

Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

วิราพร คงนวล

วิราพร คงนวล

สาวใต้ตาคม พร้อมลุยทุกการท่องเที่ยว ชอบสัมผัสวัฒนธรรมต่างถิ่น กินของอร่อยรสแซ่บ

Relate Place

News

ททท. เปิดตัว “โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน”

ททท. เปิดตัวกิจกรรมสุดว้าว ภายใต้ “โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน” ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ตรงใจนักท่องเที่ยว

เริ่มแล้ว! ททท. จัดเต็มแสง เสียง กับงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร” ดึงเทคโนโลยีล้ำสมัย สะท้อนศิลปะและความเชื่อคนไทย ใน 3 พื้นที่แลนด์มาร์ก กรุงเทพมหานคร
News

ททท. จัดงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร”

เริ่มแล้ว! ททท. จัดเต็มแสง เสียง กับงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร” ดึงเทคโนโลยีล้ำสมัย
สะท้อนศิลปะและความเชื่อคนไทย ใน 3 พื้นที่แลนด์มาร์ก กรุงเทพมหานคร

News

เปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ กรุงเทพมหานครถึงพระนครศรีอยุธยา

ททท. ร่วมกับหอการค้าไทย เดินหน้าเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ กรุงเทพมหานครถึงพระนครศรีอยุธยา หวังกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ สู่การท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน