เดินดงตั้งวงคุยงานศิลป์อีสาน ณ โฮงสินไซ จังหวัดขอนแก่น

“วรรณคดีเป็นที่อยู่ของวัฒนธรรม” อาจารย์ทรงวิทย์​ พิมพะกรรณ์​ยกคำกล่าวของท่านศิลา วีรวงษ์ขึ้นมาก่อนจะชวนเราคุยเรื่องวรรณกรรมและงานศิลป์อีสาน ณ โฮงสินไซ แหล่งสะสมและรวบรวมวรรณกรรมเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย หรือ สินไซ กลางบ้านสวนป่าที่โอบล้อมไปด้วยไม้ใหญ่ที่สงบร่มรื่นในเมืองขอนแก่น

ช่วงเทศกาลออกพรรษาที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปเยือนจังหวัดขอนแก่นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อพบปะผู้คนและสำรวจแหล่งโบราณสถานตามตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ พี่สอญอเจ้าถิ่นชวนผู้เขียนให้มาตั้งวงคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้รู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมอีสาน ถือเป็นเรื่องดีๆ ในทริปนี้เป็นอย่างมาก

ค่ำลงเย็นวันศุกร์ที่ฝนปรอยๆ เราชาวคณะมาถึงบ้านสวนที่แสนจะอบอุ่นและเงียบสงบ กลิ่นคั่วเมล็ดกาแฟเข้มๆ ลอยออกมาจนถึงลานจอดรถหน้าบ้านสวน คลอเคลียไปด้วยเสียงเพลงกบจำศีล ของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่าอันทรงพลังของเจ้าบ้าน ช่างเข้ากับฤดูปลายฝนที่กำลังจะร้างราเสียจริง

“ตามสบายเลยนะครับ คนกันเอง” ชายใจดีที่กำลังคั่วเมล็ดกาแฟอยู่ที่มุมดื่มกาแฟยิ้มหวานกล่าวต้อนรับพวกเราด้วยมิตรไมตรีอันดีผู้นี้คืออาจารย์ทรงวิทย์เจ้าของอาณาจักรศิลป์อีสานกลางป่าผู้ที่เราเดินทางไกลจากกรุงเทพฯ เพื่อมาพบในเย็นวันนี้ พร้อมเสิร์ฟขนมหวานต้อนรับก่อนพาชมบ้านและเล่าเรื่องราวของสินไซสู่ชาวเราฟัง

โฮงสินไซ7

สินไซวรรณกรรมแห่งอุษาคเนย์

สินไซเป็นวรรณกรรมร่วมในอุษาคเนย์ไม่ใช่มีแต่เพียงในอีสานเท่านั้น มีทั้งฉบับลาว ฉบับไทย ฉบับมหาสารคาม ขอนแก่น ล้านนา ฯลฯ อาจารย์ทรงวิทย์เปิดตู้คัมภีร์ที่เก็บรวมรวมเรื่องราวของสินไซให้เราดูซึ่งมีเป็นสิบๆ เวอร์ชั่น พวกเราชาวคณะยืนฟังใจจดจ่อด้วยความตื่นเต้น “เล่มนี้ฉบับภาคเหนือมีสังข์สิงห์ธนูชัยเป็นตัวหนังสือไทยวน ผมได้มาจากเชียงใหม่และให้คนแปลมาอีกที” พร้อมหยิบแต่ละเล่มมาอธิบายให้เราฟังอย่างละเอียด 

สังข์สินไชยที่เป็นฉบับภาคกลางนั้นเคยถูกบรรจุเข้าไปในแบบเรียนอยู่ช่วงหนึ่ง จากเรื่องเล่าของฉบับภาคกลางนั้นโดยมากเป็นกลอนสวดฉบับที่เราเห็นอยู่ต่อหน้านี้อ้างว่าเป็นนิยายมอญแต่ก่อนมา ตามข้อมูลบอกว่าสมัยอยุธยามีแบบฉบับนิทานกลอนแบบมุขปาฐะ พอมาอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีการบันทึกขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษร 

โฮงสินไซ10

เสน่ห์ของวรรณกรรมเก่าแก่อย่างสินไซคือแต่ละวัฒนธรรมก็มีการนำไปใช้ที่แตกต่างกัน เช่น พระอีสานนิยมนำไปเทศน์เพราะเชื่อว่าเป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า และนิยมนำไปเขียนบนผนังสิม ในพื้นที่อีสานกลาง มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ดถือเป็นที่ชุกชุมทางวัฒนธรรมมากจึงเกิดงานฮูปแต้มอยู่เป็นจำนวนมาก คนอีสานปัจจุบันที่มีการอพยพกันหลายระลอกจากฝั่งลาวมีการนำวัฒนธรรมและความรู้เข้ามาด้วยโดยเฉพาะพระที่นำตำราคัมภีร์ต่างๆ เข้ามา สินไซก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย 

“แต่ก่อนเราเข้าใจแค่ว่าเป็นแค่นิทานพื้นบ้าน แต่ฉบับนี้ไม่ใช่แค่ฉบับพื้นบ้านแน่นอนเพราะเขียนโดยคนมีความรู้ เขียนโดยมีนัยสำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องการปกครอง เดิมทีอีสานเขียนเป็นภาษาลาวและภาษาธรรม วรรณกรรมเรื่องที่เป็นที่นิยมมักจะมีการเขียนต่อเรื่อยๆ” อาจารย์ทรงวิทย์กล่าวพร้อมยกสินไซฉบับที่ว่าขึ้นมาให้เราดูกัน

ตามรอยวัดที่เล่าเรื่องสินไซในขอนแก่น

“ในบรรดาวรรณกรรมอีสานนอกเหนือจากพระเวสสันดรผมว่าเรื่องสินไซมีการปริวัตร หรือถ่ายทอดออกมามากที่สุด ในด้านวรรณศิลป์ยกย่องสินไซฉบับสองฝั่งโขงเพราะมีความงามในด้านวรรณศิลป์สูง เรื่องทางธรรมก็มี ความสนุกสนานในทางโลกก็ครบรส”

อาจารย์ทรงวิทย์กล่าวถึงความสำคัญจนเป็นที่นิยมของนิทานเรื่องนี้ นอกจากการเป็นนิทานพื้นบ้านอีสานแล้ว พระยังนิยมนำเรื่องสินไซมาเทศนาให้ญาติโยมฟังเพราะมีการบรรจุเรื่องพระธรรมคำสอนอยู่มาก นอกจากนี้ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มหมอลำเพราะมีการผจญภัยโดยเฉพาะฉากเดินดงทำให้ในบทกลอนลำสามารถปล่อยให้ศิลปินพื้นบ้านได้อวดฝีมือการเล่นภาษาจากฉากที่มีการบรรยายสภาพป่าไม้ สิงห์สาราสัตว์หลากหลายชนิด ในทางศิลปะพื้นบ้านสินไซถือเป็นเรื่องหนึ่งที่นิยมนำมาวาดฮูปแต้มมากรองลงมาจากเรื่องพระเวสสันดรชาดก 

ในภาคอีสานปรากฏภาพวาดสินไซอยู่ 13 วัด และในลาว 3 วัด ในพื้นที่อีสานกลาง มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์พบ 8 วัด แต่วัดที่ได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดคือที่วัดไชยศรี บ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น เนื่องด้วยมีเนื้อหาที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องโดยวาดทั้งในและนอกสิมอย่างสวยงาม

ปิดท้ายการพูดคุยด้วยอาหารค่ำสุดพิเศษ ในวงอาหารค่ำที่แสนอบอุ่น สนุกสนานไปด้วยเพื่อนพ้อง น้องพี่และเด็กๆ ที่พ่อแม่พาแวะชมโฮงสินไซหลังเลิกเรียน วาดรูปและหยอกล้อกันจนไม่ค่อยมีเวลามาสนใจอาหารบนโต๊ะกันเลยทีเดียว ส่วนวงผู้ใหญ่ฟังเพลงเพราะๆ ชวนกันคุยเรื่องชากาแฟ งานทางวัฒนธรรมอีสานไปจนถึงหมอลำที่มีเรื่องสินไซที่เราคุยกันไว้เมื่อหัวค่ำมาเป็นจุดเชื่อมโยง 

สำหรับบ้านสวนโฮงสินไซนอกจากจะมีนิทรรศการ ของสะสมและเรื่องราวของฮูปแต้มสินไซอีสานแล้ว ยังมีของที่ระลึกและมีพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลายอีกด้วย

ขอขอบคุณ

ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพกรรณ์ เจ้าของบ้านสวนโฮงสินไซ

พี่สอยอ คุณครูสัญญา มัครินทร์ ผู้นำทางเราครั้งนี้

พี่เป้ จิราพร แซ่เตียว กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ เพื่อนร่วมทริป

อ้างอิง

ทรงวิทย์ พิมพกรรณ์ บรรณาธิการ. ถิ่นฐานบ้านสาวะถึ หนังสือที่ระลึกในงานกฐินมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2563. ขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2563.

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest

Info

โฮงสินไซ

เวลา เปิดอังคาร-ศุกร์ เวลา 13.00-16.00

เสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00

ปิดทำการทุกวันจันทร์

สามารถติดตามได้ที่ https://web.facebook.com/SinxayHeritageHouse

Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

Relate Place

Coffeestand & Design
Coffee

COFFEESTAND & DESIGN : AMPERSAND COFFEE&CHOCOLATE

ครั้งแรกที่จิบมอคค่าคุณรู้สึกอย่างไร หอมกาแฟ นุ่มเนียนในอุ้งปากด้วยฟองนมอุ่น และหวานปนขมจากช็อกโกแลต ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกเมื่อได้จิบ “มอคค่า” ของ COFFEESTAND & DESIGN อาจเป็นเพราะกาแฟเอสเพรสโซ่ที่เบลนด์เมล็ดจากสี่แหล่ง ไทย อินโดนีเซีย กัวเตมาลา และบราซิล ช่วยชูรสให้นุ่มลึก

Travel

เฉลิมหล้ากราฟฟิตี้

กราฟฟิตี้ ภาพวาดตามกำแพง ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไร้ระเบียบ ทำลายของสาธารณะ และสกปรกรุงรังในสายตาคนไทยมานาน จนทำให้มีเราอคติกับศิลปะรูปแบบนี้ แต่มีชุมชนหนึ่งใกล้ๆ สยามล้มความคิดนี้และเปิดให้นักเขียนกราฟฟิตี้เข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน

Eat

Jones’ Salad สลัดลุงโจนส์โดนใจสายออร์แกนิก

“สลัด” เมนูรวมสารพัดผัก เป็นหนึ่งในอาหารที่มีคุณประโยชน์ แถมหากินได้ง่าย มีขายมากมายหลายร้าน และวันนี้เราก็จะพาไปยังร้านที่ทำให้คุณอยากกินสลัดทุกมื้อ กินอย่างอร่อยโดนใจแบบไม่มีวันเบื่ออีกด้วย