สวมบทแม่พลอย มาตามรอยคุณเปรมกัน!

สี่แผ่นดิน วรรณกรรมโด่งดังที่ใครต่างก็รู้จัก ไม่ว่าจะทำออกมาในรูปแบบนวนิยาย ละครโทรทัศน์ หรือละครเวทีมิวสิคอล ก็ไม่เคยทำให้แฟนวรรณกรรมเรื่องนี้ผิดหวังเลยจริงๆ

เรื่องราวของ แม่พลอย หญิงสาวที่ชีวิตพลิกผัน ทำให้ต้องเข้าถวายตัวกับเสด็จในวัง ฉากหลังคือเรื่องราวบ้านเมืองของเราในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 รวมทั้งสิ้น 4 รัชสมัย หรือ “สี่แผ่นดิน” แต่วันนี้เราจะมาตามรอยตัวละสำคัญอีกตัวหนึ่งนั่นก็คือ คุณเปรม สามีของแม่พลอยนั่นเอง

“นายรอบรู้” มีโอกาสไปร่วมทริป เลียบสถล ยลสถานย่าน “บ้านคุณเปรม” รำลึกวันวานผ่านวรรณกรรม “สี่แผ่นดิน” ที่จัดขึ้นในเทศกาล Bangkok Design Week 2019 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีคุณจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา พาเดินชมศิลปวัฒนธรรมและอาคารเก่าแก่ย่านสาทร-เจริญกรุง ที่ผู้ประพันธ์ได้ใช้ผูกเรื่องราวเป็นนิวาสถานของคุณเปรม …มีอะไรน่าสนใจบ้างนั้น ตามเรามาเลย

บ้านซอยสวนพลู จุดกำเนิดของเรื่องราวสี่แผ่นดิน

ก่อนจะไปตามรอยคุณเปรม เราไปสถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด นั่นก็คือบ้านของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดินนั่นเอง

นั่งรถลัดเลาะมาตามถนนสาทรใต้ อึดใจเดียวก็จะพบกับ “บ้านซอยสวนพลู” เรือนไทยภาคกลางแบบไทยแท้ๆ ที่หาดูได้ยาก บรรยากาศข้างในร่มรื่น เย็นสบาย เหมาะมากที่จะนั่งพักผ่อนหย่อนกาย ณ ศาลาโขน ศาลาเรือนไทยที่ตรงกลางจะมีรูปของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และมีหัวโขนจัดแสดงไว้ด้วย ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงชื่อว่าศาลาโขน

พอหายเหนื่อย สายตาก็เหลือบไปเห็นสวนหย่อมที่ร่มรื่นน่าเดินชมนกชมไม้เหลือเกิน สวนนี้ชื่อมีชื่อว่า สวนเขมร ภายในสวนมีตุ๊กตาหินศิลปะเขมรรูปแบบต่างๆ ให้ได้ดูได้ชม เราอดไม่ได้ที่จะต้องยกโทรศัพท์ขึ้นมาเซลฟีกับเจ้าตุ๊กตาหินนี้กันเลยทีเดียว แต่แล้วก็ต้องหยุดเดิน เมื่อมองไปในบ่อน้ำ เห็นปลาแรดสีทองน่ารัก เจ้าของบ้านแอบกระซิบว่า มันชื่อว่า เจ้าวงแหวน ชอบว่ายตามนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปผ่านมาด้วยนะ

รู้ตัวอีกทีเราก็ลอดใต้ถุนบ้านเรือนไทยมาแล้ว ขึ้นมาบนเรือนปุ๊บก็ต้องตะลึงกับความงามของบ้านเรือนไทยที่มีความคลาสสิกของเรือนไทยภาคกลาง ผสมผสานกับความทันสมัยแบบตะวันตกนั่นก็คือ ลิฟต์ไฟฟ้า ที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้ในการขึ้นลงเรือน โดยที่บนเรือนนั้นก็จะมีวัตถุโบราณมากมาย บางอย่างก็หาดูได้ยากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องลายครามสมัยราชวงค์หมิง และราชวงค์ซ้อง ที่เจ้าของบ้านในนั้นยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

บ้านคุณเปรม หนุ่มหล่อแห่งคลองพ่อยม

ต่อกันด้วยบ้านคุณเปรม หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ได้บรรยายว่า คุณเปรมนั้นว่าเป็นลูกท่านเจ้าคุณจรรยา เป็นหลานของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ขุนนางกรมท่าซ้าย ที่มีหน้าตาหล่อเหลาเอาการณ์ ถ้าเป็นในยุคนี้ก็คงต้องได้ ฉายาว่า “รูปหล่อ พ่อรวย สปอร์ต คลองพ่อยม” โดยฉายานี้ไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ที่ได้ฉายานี้ก็เพราะว่าคุณเปรมในวรรณกรรมนั้น ร่ำรวย มีบ้านตึกหลังใหญ่ อยู่ริมคลองพ่อยม ซึ่งในปัจจุบันนั้นก็คือคลองสาทรนั่นเอง

คาดว่าบ้านหลังที่เป็นต้นแบบบ้านคุณเปรม คือ บ้านสาทร หรือ บ้านเจ้าสัวยม อาคารแบบยุโรปบริเวณถนนสาทร ซึ่งปัจจุบันคือ โรงแรม The House on Sathorn  เจ้าสัวยมเป็นลูกของเจ้าสัวยิ้ม เจ้าภาษีฝิ่นในสมัยนั้น เจ้าสัวยมสืบทอดธุรกิจต่อจากพ่อ และบุกเบิกธุรกิจใหม่คือ ทำที่จัดสรร โดยกว้างซื้อที่ดินในละแวกนั้น และขุดคลองสายหนึ่งจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงคลองหัวลำโพง และเอาดินที่ขุดคลองถมเป็นถนนสองข้าง

ชาวบ้านในละแวกนั้นก็เลยเรียกว่า คลองนายยมบ้าง คลองพ่อยมบ้าง ภายหลังได้รับตำแหน่งเป็นหลวงสาทรราชายุกต์ จึงเรียกว่า คลองสาทร และถนนสาทร เป็นที่มาของชื่อถนนจนถึงทุกวันนี้

ไฮไลต์ที่เหล่าแฟนพันธุ์แท้สี่แผ่นดินไม่ควรพลาด คือการได้มาถ่ายรูปกับบ้านคลองพ่อยม ที่แม่พลอยและคุณเปรมเคยอาศัยอยู่ด้วยกันที่นี่ในช่วงหนึ่ง จะทำให้คุณเหมือนหลุดเข้าไปในยุคเดียวกับคุณเปรมเลยทีเดียว                

อดีตกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น สู่ร้านอาหารหรู

เซลฟี่กับบ้านคุณเปรมกันอย่างจุใจแล้ว ไม่ใกล้ไม่ไกลยังมีอีกสถานที่ที่มีความเชื่อมโยงกับสี่แผ่นดินนั่นก็คือ ตึกเหลืองที่ปัจจุบันนี้เป็นร้านอาหาร blue elephant ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นอาคารหลังนี้เคยเป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น ทำให้ในละแวกนี้ก็ต่างถูกทิ้งระเบิด ซึ่งในเรื่องราวสี่แผ่นดิน ก็มีฉากตอนหนึ่งที่มีการทิ้งระเบิด และบ้านของคุณเปรมก็โดนระเบิดจนพังยับเยิน จนทำให้แม่พลอยนั้นต้องย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านคลองบางหลวง

บางคนอาจจะเลือกถ่ายเซลฟี่ เพื่อเก็บภาพความทรงจำดีๆ ไว้ แต่พี่ Vanont Ruksiriphong ที่ร่วมทริปไปกับเราเลือกที่จะวาดรูปเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ ก็เก๋ไปอีกแบบนะ

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ภาพสะท้อนบ้านคนชั้นกลางยุคสงครามโลก

ปิดท้ายทริปตามรอยคุณเปรมกันที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก บ้านของ รองศาตราจารย์วราพร สุรวดี ที่เปลี่ยนบ้านของตนให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลางในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราจะได้รู้ว่าคนในสมัยที่คุณเปรมและแม่พลอยอยู่นั้นมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไร บ้านเรือนคนสมัยนั้นเป็นแบบไหน ทำให้การตามรอยคุณเปรมในสี่แผ่นดินนั้นยิ่งเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

การตามรอยคุณเปรมในสี่แผ่นดินนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้รู้สึกเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวของคุณเปรมแต่อย่างเดียว ยังทำให้รู้สึก รักชาติ รักแผ่นดิน รักสถาบันพระมหากษัตริย์ และอยากรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามากขึ้นไปอีกด้วย

Info

สวมบทแม่พลอย มาตามรอยคุณเปรมกัน!

– บ้านซอยสวยพลู

เปิดทุกวัน 10.00-16.00 น.

โทร. 02 286 8185

– พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

เปิดให้เข้าชมวันอังคาร–วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)

เวลา 10.00 น.-16.00 น.

ไม่เสียค่าผ่านประตู/มีเจ้าหน้าที่นำชม

ติดต่อสอบถาม โทร. 02-233-7027

Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

พชรธรณ์ ศรีสุวรรณ

พชรธรณ์ ศรีสุวรรณ

หนุ่มหล่อ สายโซเชียล ที่จะพาคุณเที่ยวแบบหลุดโลก

Relate Place

News

ททท. เปิดตัว “โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน”

ททท. เปิดตัวกิจกรรมสุดว้าว ภายใต้ “โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน” ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ตรงใจนักท่องเที่ยว

เริ่มแล้ว! ททท. จัดเต็มแสง เสียง กับงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร” ดึงเทคโนโลยีล้ำสมัย สะท้อนศิลปะและความเชื่อคนไทย ใน 3 พื้นที่แลนด์มาร์ก กรุงเทพมหานคร
News

ททท. จัดงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร”

เริ่มแล้ว! ททท. จัดเต็มแสง เสียง กับงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร” ดึงเทคโนโลยีล้ำสมัย
สะท้อนศิลปะและความเชื่อคนไทย ใน 3 พื้นที่แลนด์มาร์ก กรุงเทพมหานคร

News

เปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ กรุงเทพมหานครถึงพระนครศรีอยุธยา

ททท. ร่วมกับหอการค้าไทย เดินหน้าเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ กรุงเทพมหานครถึงพระนครศรีอยุธยา หวังกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ สู่การท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน