เที่ยวง่ายๆ สบายๆที่ห้วยขาแข้ง

หลายคนคิดว่าเที่ยวป่าไม่สนุก มีแต่ต้นไม้กับต้นไม้ ยิ่งในฤดูแล้งเช่นนี้กลัวพบแต่แดดจ้ากับใบไม้แห้ง  ถ้าไม่ได้มาห้วยขาแข้งคงไม่รู้ว่าป่าหน้าแล้งก็มีเสน่ห์ ทั้งดอกไม้ป่าบานสะพรั่ง เส้นทางศึกษาธรรมชาติเดินสะดวก  การมาเยือนห้วยขาแข้งครั้งนี้จึงเหมือนได้เปิดประตูความรู้ไปสู่ป่าอีกขั้นหนึ่ง ด้วยมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายสิ่งซุกซ่อนอยู่…

ง่ายๆ เพราะระยะทางแค่ 276 กม. 

จากเมืองหลวงสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ. ลานสัก จ. อุทัยธานี ถือว่าไม่ไกล ขับรถเพียง 3-4 ชั่วโมงก็เข้าเขตป่า… เปิดกระจกสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด แล้วสัมผัสความยิ่งใหญ่ของผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้ได้เลยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจากองค์การยูเนสโก(UNESCO) เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยการผลักดันของหัวหน้าเขตฯ สืบ นาคะเสถียร ก่อนจะเสียชีวิต  พื้นที่มรดกโลก 3.9 ล้านไร่นี้เรียกกันว่า “ผืนป่าตะวันตก” เพราะอยู่ด้านตะวันตกของประเทศ ในเขต จ. กาญจนบุรี ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี

สบายๆในพื้นป่าระดับขนาดใหญ่

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นับเป็นป่าผืนใหญ่ที่สุดของไทย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์กว่า 750 ชนิด รวมถึงสัตว์ป่าสงวนอย่างควายป่า สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ แมวลายหินอ่อน และสัตว์หายากอย่างเสือโคร่งและนกเงือก  ด้วยระบบนิเวศที่สมบูรณ์ระดับต้นๆ ของประเทศ 

ทำให้ทางเขตฯ เปิดพื้นที่บางส่วนให้คนภายนอกที่สนใจได้เข้าไปศึกษา โดยมีกติกาว่าต้องรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุดหลังผ่านประตูเข้ามา เราสังเกตว่าต้นไม้เริ่มหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับสัญญาณโทรศัพท์ขาดหาย เหมือนเตือนว่าได้ก้าวเข้าสู่โลกของสัตว์ป่าเรียบร้อยแล้ว  ถนนเล็กๆ ที่นำเราเข้ามาสู่สำนักงานเขตฯ โอบล้อมด้วยป่าเต็งรัง  ช่วงหน้าแล้งเช่นนี้ต้นไม้จะทิ้งใบลดการใช้น้ำ เหลือเพียงลำต้นยืนเรียงรายเป็นเส้นสายถี่ๆ ราวภาพสเกตช์ ขณะที่ดอกไม้ป่าแข่งกันบานสะพรั่งเติมสีสันให้ป่า ทั้งดอกติ้วสีชมพูอ่อน ดอกฝ้ายคำสีเหลืองสด หรือดอกต้นแดงส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ เป็นความงดงามของผืนป่าฤดูร้อนที่น่าสัมผัส

ง่ายๆกับเข้าถึงธรรมชาติ

จากประตูทางเข้าราว 14 กม. จะถึงใจกลางพื้นที่ศึกษาธรรมชาติ คือบริเวณลานกางเต็นท์ที่มีบ้านพัก ห้องน้ำ และร้านอาหาร บริการอย่างครบครัน  ช่วงเช้าและเย็นของวันที่เงียบสงบ บรรดาเก้ง เนื้อทราย ละมั่ง จะแวะเวียนมาเล็มหญ้าให้เราได้ชมใกล้ๆ  ขณะที่เหล่านก เช่น หัวขวาน จาบคาเล็ก ขมิ้นหัวดำใหญ่ แขกเต้า โพระดก ฯลฯ ต่างบินมาโชว์ตัวส่งเสียงก้องป่า

สบายๆกับการศึกษาธรรมชาติ

จุดแรกที่แนะนำให้ชมคืออาคารนิทรรศการมรดกโลก ที่เกิดจากความร่วมมือของเขตฯ กับ ปตท.สผ. จัดแสดงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวรไวอย่างน่าสนใจ ดูแล้วถึงเข้าใจคำว่า “สายธารชีวิตจากป่าสู่เมือง” ด้วยป่าห้วยขาแข้งเป็นต้นน้ำของเขื่อนใหญ่ 4 เขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนเมืองได้ใช้ รวมถึงผลิตออกซิเจนให้มากกว่า 5 ล้านตันต่อปี ศึกษาภาคทฤษฎีแล้ว ต้องเข้าห้องเรียนภาคปฏิบัติด้วยการเดินเทรล (trail) หรือทางเดินศึกษาธรรมชาติ ไปสัมผัสชีวิตสัตว์ป่าถึงถิ่น  สัตว์ป่ามีประสาทสัมผัสเร็วกว่าเราหลายเท่า 

เตรียมตัวกันแบบชิลล์ๆ

ก่อนออกเดินทางเราจึงต้องเลือกสวมเสื้อสีกลมกลืนกับธรรมชาติ  และขณะเดินไปบนเทรลที่แห้งด้วยเป็นฤดูแล้ง แม้จะเดินสะดวกแต่ก็เต็มไปด้วยใบไม้แห้ง เราจึงต้องพยายามเดินให้เกิดเสียงกรอบแกรบน้อยที่สุดหนึ่งในเทรลระยะสั้นที่น่าเดินคือเทรลโป่งช้างเผือก ซึ่งมักพบวัวแดง ช้าง นกยูง หมูป่า มาหากินบนหาดทรายริมห้วยทับเสลา

พี่สมชาย อ่อนฉ่ำ เจ้าหน้าที่นำทาง บอกเคล็ดลับว่า การเดินเทรลให้สนุกต้องใช้สมองทั้งซีกซ้ายและขวา สมองซีกซ้ายใช้ประสาทสัมผัสตา-สังเกต จมูก-ดมกลิ่น หู-ฟังเสียงผิดปรกติ มือ-คุ้ยเขี่ยตรวจสอบสิ่งที่พบ  ส่วนสมองซีกขวาใช้จินตนาการต่อยอด เช่นเห็นรอยตีนเสือให้นึกต่อไปว่าเสือตัวใหญ่เดินผ่านมาแล้วกระโจนหายไปในพงไพร ช่วยให้เดินป่าสนุกขึ้นน่าเสียดายที่เราไปถึงเทรลเมื่อวัวแดงฝูงใหญ่ผ่านไปเสียแล้ว มีเพียงนกกระแตแต้แว้ดส่งเสียงร้องดังทั่วราวป่า  ซุ่มบนหอส่องสัตว์อยู่นาน ก็ใจชื้นว่าไม่ได้เสียเที่ยวเมื่อกวาดกล้องสองตาไปพบนกยูงตัวผู้กำลังต่อสู้กัน  ฤดูแล้งคือฤดูกาลแห่งความรักของสัตว์หนุ่มสาว นกยูงตัวผู้จึงต่อสู้แย่งอาณาเขตสำหรับใช้รำแพนหางเกี้ยวตัวเมีย ผู้ใดชนะก็กรีดแววมยุราให้งามจับตาจับใจสาว

หลังกลับมานอนพักท่ามกลางความมืดและเงียบสงัดของป่า เช้าวันรุ่งขึ้นเราออกเดินท่ามกลางอากาศแสนบริสุทธิ์เพื่อไปเคารพอนุสาวรีย์ สืบ นาคะเสถียร แล้วไปเดินเทรลบ้านของเสือส่งท้าย ก่อนกลับสู่ป่าคอนกรีตแม้ล่วงผ่านไปหลายวัน แต่ความทรงจำอันเกี่ยวเนื่องกับราวป่ายังแจ่มชัดในใจ–ภาพใบไม้ร่วง สรรพเสียงของป่า และบรรดาสัตว์ที่ดูมีชีวิตชีวามากกว่าที่เคยเห็นในสวนสัตว์พอหวนคิดถึงแล้วอยากหาโอกาสไปอีกครั้ง…นี่กระมังอาการหลงเสน่ห์ป่า

หัวใจเต้นๆตุ๊บ ในรอยตีน “เสือ”

จุดไฮไลท์ของของการเที่ยวผืนป่าห้วยขาแข้งคือ “เสือ”  ความที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เสือจึงเหมือนเป็นพี่ใหญ่ของบรรดาสัตว์ป่า ทั้งมีรูปร่างสง่างาม ท่วงท่าน่าเกรงขาม เสือเป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า  ถ้ามีผู้ล่าจำนวนมาก ผู้ถูกล่าย่อมมากตามไปด้วย  เฉพาะในผืนป่าตะวันตกมีเสือถึง 7 ชนิด คือ เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ แมวลายหินอ่อน เสือปลา เสือไฟ และแมวดาว  

ที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดก็คือเสือโคร่ง ซึ่งมีอยู่ในป่าห้วยขาแข้งราว 100 ตัว เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของที่เหลืออยู่ในประเทศการศึกษาชีวิตเสือนั้น  พี่อมรรัตน์ ว่องไว นักวิชาการป่าไม้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พาเราเดิน “ทางเดินศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ” ตามหารอยตะกุยดิน กลิ่นฉี่ และรอยตีน 

แล้วเรียนรู้ชีวิตยอดนักล่าผ่านร่องรอยเหล่านี้  ถ้าโชคดีอาจพบเหยื่อของเสืออย่างวัวแดง เก้ง กวาง บนเส้นทางด้วย แต่กับพี่เสือ- -ไม่เจอตัวเป็นๆ เห็นจะดีที่สุด !

เสือๆจ๋าอยู่ไหน

ทางเข้าเทรลบ้านของเสืออยู่ใกล้กับอาคารนิทรรศการมรดกโลก  เทรลเป็นทางดินแคบๆ ตัดผ่านป่าเต็งรังระยะทาง 800 ม.  ปรกติบริเวณนี้เป็นที่หากินของเสืออยู่แล้ว เขตฯ จึงทำเป็นเส้นทาง  เวลาเดินที่เหมาะคือช่วงเช้าๆ แดดไม่ร้อน ทั้งรอยตีนเสือก็ยังใหม่จากเมื่อคืน แถมเป็นช่วงนกออกหากิน ถือเป็นโบนัสสำหรับคนชอบดูนกจุดแรกที่ต้องแวะคือปากเทรล  มีแท่นตัวอย่างตีนสัตว์หลายชนิด เช่น เสือ กระทิง อีเห็น 

หากจำขึ้นใจเราจะตามหารอยตีนสนุกยิ่งขึ้น  พี่อมรรัตน์ชี้ให้เราดูรอยตีนเสือ  เสือสามารถเก็บเล็บเพื่อตามเหยื่อได้อย่างเงียบเชียบ พอได้จังหวะจึงค่อยกระโจนเข้าประชิดแล้วกางเล็บตะปบได้ทันท่วงที นับเป็นวิวัฒนาการขั้นสูงของสัตว์ผู้ล่าดูคล้ายจะโหดร้าย แต่นี่คือหน้าที่ที่ธรรมชาติมอบให้–การจัดการสัตว์กินพืชตัวที่อ่อนแอ เพื่อคัดเลือกตัวแข็งแรงไปสืบทอดเผ่าพันธุ์  การล่าแต่ละครั้ง เสือจะใช้ซากอย่างคุ้มค่า โดยย้อนกลับมากินอีกหลายครั้งจนซากเน่าเปื่อยหรือเหลือแต่กระดูกถึงจะออกล่าตัวใหม่ จากนั้นสัตว์อื่นอย่างเม่น ตะกวด จะมาจัดการซากต่อ เรียกว่าล่าครั้งเดียวคุ้ม  

ในทางกลับกันถ้ามีเหยื่อเหลือน้อย เสือก็ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้  พี่อมรรัตน์จึงบอกว่า ถ้าจะอนุรักษ์เสือ ก็ต้องอนุรักษ์ป่าทั้งป่าเอาไว้ให้ได้เดินไปอีกนิดเราพบกรงดักเสือดาว และจุดวางกล้องดักถ่าย หรือ “คาเมราแทร็ป” อุปกรณ์ใช้ติดตามเสือ ทำให้รู้อาณาเขตหากินทั้งหมด  นักวิจัยจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำจะใช้กรงดักเสือเพื่อยิงยาสลบ ติดปลอกคอวิทยุ ซึ่งในปลอกคอฝังอุปกรณ์เก็บข้อมูล ขณะเดียวกันก็จะติดกล้องอินฟราเรดดักถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอไว้ตามจุดในห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรกว่า 180 จุด เพื่อเก็บภาพและข้อมูลไปวิเคราะห์  การวิจัยพบว่า เสือโคร่งใช้ชีวิตอย่างสันโดษ ตัวผู้แต่ละตัวจะหากินในอาณาเขตซึ่งกินพื้นที่ราว 300 ตร.กม. 

ขณะที่ตัวเมียใช้พื้นที่น้อยกว่าประมาณ 4 เท่าผ่านมาครึ่งทาง เราพบรอยฉี่บนต้นไม้ บนดินใกล้กันมีรอยตีนเสือโคร่ง  เสือตัวผู้จะกระดก “อวัยวะ” กลับหลังก่อนฉี่ และรอยฉี่ก็คือการประกาศอาณาเขต บอกความเป็นเจ้าของเหยื่อไม่ให้สัตว์อื่นยุ่มย่าม  ส่วนขนาดรอยตีนก็บอกชนิดของเสือได้ ทั้งระยะห่างระหว่างตีนหน้ากับตีนหลังยังใช้คำนวณขนาดลำตัวได้อีกด้วย 

จุดต่อมาคือโป่ง หรือแอ่งดินที่อุดมด้วยแร่ธาตุ  บริเวณโป่งเหมือนลานตลาดนัดของสัตว์ป่า สัตว์กินพืชต่างมาชุมนุมกินแร่ธาตุในดินที่หาไม่ได้จากพืช สังเกตได้จากรอยกีบมีมากรอยแถวๆ โป่ง แถมด้วยรอยตีนเสือโคร่ง  ก็ถ้าหากเหยื่อมารวมตัวหนาแน่นขนาดนี้ เสือย่อมไม่พลาดที่จะมาร่วมวง แต่สัตว์กินพืชก็มีประสาทสัมผัสไวพอที่จะชิงหนีไปก่อนจะถูกล่า  นี่คงเป็นการออกแบบของธรรมชาติให้ชดเชยกัน  

ดังนั้นแม้จะเป็นนักล่าหมายเลข 1 แต่งานของเสือก็ไม่เคยสำเร็จได้ง่ายๆช่วงสุดท้ายของเส้นทางนี้เป็นจุดชมวิวห้วยทับเสลา อันเป็นเสมือนรางวัลเล็กๆ ของนักเดินทาง  จากจุดนี้มองเห็นลำธารใสไหลคดโค้ง ได้ยินเสียงน้ำไหลเซาะหินช่วยให้จิตใจสงบ  พี่นพรัตน์ นาคสถิตย์ อดีตหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เคยบอกว่าลงเล่นน้ำได้ แต่อย่าทำให้เกิดเสียงดัง เพียงหย่อนตัวลงช้าๆ ปล่อยให้น้ำเย็นไหลผ่านกายจนเป็นหนึ่งเดียวกับน้ำ เมื่อนั้นเราจะได้ยินเสียงนกร้อง เสียงน้ำ และเสียงใบไม้ไหวตามแรงลม  บางคนบอกว่า นี่คือ “เสียงของป่า”แม้เดินออกจากเทรลโดยไม่พบเสือสักตัว แต่ความรู้ที่ได้นั้นประหนึ่งเราไปตามติดเสือเป็นวันๆ แทบไม่น่าเชื่อว่า เสือที่ใครๆ ล้วนหวาดกลัวและเกรงขาม นอกจากจะสง่างามแล้ว ยังสมถะถึงเพียงนี้

สอบถามรายละเอียดได้ที่  

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โทร. 08-5725-8433, 08-7840-0316, 

http://www.huaikhakhaeng.net

Relate Place

News

ททท. เปิดตัวโครงการ STAR ยกระดับผู้ประกอบการ “มาร่วมสร้างท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน”
เตรียมพร้อมรับตลาดนักท่องเที่ยวมูลค่าสูง ผ่าน 17 เป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating ณ ห้องโถงธนะรัชต์ อาคาร ททท. เพื่อเดินหน้า Shape Supply ยกระดับห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “มาร่วมสร้างท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน”สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Tourism Goals : STGs พร้อมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสมดุลทุกมิติก้าวสู่การเป็น High Value and Sustainable Tourism โดยเตรียมเปิดรับสมัครผู้ประกอบการตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.TATstar.org

News

ททท. เปิดตัว “โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน”

ททท. เปิดตัวกิจกรรมสุดว้าว ภายใต้ “โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน” ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ตรงใจนักท่องเที่ยว

เริ่มแล้ว! ททท. จัดเต็มแสง เสียง กับงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร” ดึงเทคโนโลยีล้ำสมัย สะท้อนศิลปะและความเชื่อคนไทย ใน 3 พื้นที่แลนด์มาร์ก กรุงเทพมหานคร
News

ททท. จัดงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร”

เริ่มแล้ว! ททท. จัดเต็มแสง เสียง กับงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร” ดึงเทคโนโลยีล้ำสมัย
สะท้อนศิลปะและความเชื่อคนไทย ใน 3 พื้นที่แลนด์มาร์ก กรุงเทพมหานคร

News

เปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ กรุงเทพมหานครถึงพระนครศรีอยุธยา

ททท. ร่วมกับหอการค้าไทย เดินหน้าเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ กรุงเทพมหานครถึงพระนครศรีอยุธยา หวังกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ สู่การท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน