ดึงให้สุดแรง! -‘ชักเย่อเกวียนพระบาท’ สงกรานต์สุดมัน แห่งเมืองจันท์

 “ดึงอีก … ดึงอีก” กองเชียร์ส่งเสียงลั่น ชาวบ้านในทีมชักเย่อก็ออกแรงสุดชีวิต มือดึง เท้าจิกทราย โน้มตัวลงใช้ประโยชน์จากน้ำหนักตัวให้มากที่สุด แต่ละคนหน้าตาเหยเก กัดฟันสู้ไม่ถอย เสียงกลองรัวเร็วขึ้นเมื่อพวกเขากำลังได้เปรียบ

ในที่สุดคู่ต่อสู้ก็ต้านแรงสามัคคีฝ่ายนี้ไม่ไหว ต้องพ่ายแพ้ไป กองเชียร์ส่งเสียงดังลั่นอีกครั้ง… บรรยากาศข้างต้น คือการเล่นชักเย่อที่สนุกสนานในเทศกาลวันสงกรานต์ที่วัดตะปอนใหญ่ ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีประเพณี “ชักเย่อเกวียนพระบาท” สืบทอดกันมายาวนานกว่า 70 ปีแล้ว เป็นการแข่งชักเย่อโดยดึงเชือกที่ผูกกับเกวียนที่ประดิษฐาน “ผ้าพระบาท” ผืนผ้าศักดิ์สิทธิ์ ชุมชนไหนชนะจะได้ผ้าไปทำบุญก่อน

งานนี้ชาวบ้านจึงรวมใจกันสุดชีวิต วัดตะปอนใหญ่เป็นวัดเก่าแก่ เล่ากันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา อายุกว่า 250 ปี ตั้งอยู่บนเส้นทางโบราณสายขลุง-พลิ้ว ซึ่งมีขบวนเกวียนพ่อค้าวิ่งผ่าน คำว่า “ตะปอน” บ้างว่าเพี้ยนมาจาก “ตะโพน” ที่หมายถึงการกระเด้งกระดอนเมื่อวิ่งเกวียนบนเส้นทางที่เป็นหลุมบ่อ จุดเริ่มต้นของประเพณีนั้น คุณกาญจน์ กรณีย์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขลุง เล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อนเกิดโรคระบาด มีคนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก ทำอย่างไรก็ไม่หาย จึงมีพระแนะนำให้นำผ้าพระบาทออกมาแห่ไปตามหมู่บ้าน ผ้าผืนนี้เล่ากันว่ามีผู้นำมาทางเรือ มีการฉลอง 7 วัน 7 คืน และประดิษฐานที่วัดตะปอนน้อย ผืนผ้ากว้าง 5 ศอก ยาว 21 ศอก เชื่อว่าเขียนเป็นรูปรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าซ้อนทับกัน 4 รอย จึงเรียกว่า “ผ้าพระบาท”

เมื่อขบวนแห่ผ้าตีฆ้องร้องผ่านไป ชาวบ้านก็ยกมือสาธุ ขอนำผ้าพระบาทไปทำพิธีให้คนป่วย ความมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นเมื่อโรคร้ายค่อยๆ หายไป คนป่วยอาการดีขึ้น ชาวบ้านจึงเกิดศรัทธา ทำให้เกิดประเพณีแห่ผ้าพระบาทไปตามหมู่บ้านมานับแต่นั้น แต่ด้วยความที่ผ้ามีอยู่ผืนเดียว ในขณะที่ชาวบ้านในตำบลตะปอนมีหลายหมู่บ้าน รวมถึงหมู่บ้านอื่นก็อยากนำผ้าไปทำบุญด้วย จึงเกิดการยื้อแย่งผ้าพระบาท ชาวบ้านจึงมาคุยตกลงกติกากัน กลายเป็นประเพณีแย่งผ้าด้วยการชักเย่อ นั่นคือประเพณีชักเย่อเกวียนพระบาท

ใครชนะจึงได้ผ้าไปทำบุญก่อน ปัจจุบันการเล่นชักเย่อเกวียนพระบาท ที่วัดตะปอนใหญ่ กำหนดจัดทุกวันที่ 17 เมษายนของทุกปี โดยนำผ้าพระบาทออกมาประดิษฐานไว้บนเกวียน ให้สองฝ่ายชักเย่อแข่งกัน แบ่งเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ชาย ผู้หญิง หนุ่มสาว ผู้สูงวัย และเด็ก แต่ละปีมีชาวบ้านมาร่วมเชียร์กันคับคั่ง ด้วยความที่สืบทอดการเล่นมานาน ชาวบ้านจึงมีกลวิธีการดึงที่พิเศษ ทั้งท่าดึงที่ได้เปรียบคู่ต่อสู้ที่สุด การล้มตัวกดเชือกไว้กับทรายเพื่อดึงเกมส์ และการชิงจังหวะดึงเพื่อเอาชนะ

การแข่งขันที่นี่จึงไม่ใช่แค่การเอาชนะด้วยแรงเท่านั้น ตลอดวันนั้นมีประเพณีสงกรานต์ เริ่มตั้งแต่การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในตอนเช้า บ่ายแข่งชักเย่อ เล่นการละเล่น แดดร่มลมตกก็ก่อพระเจดีย์ทราย แยกย้ายไปอาบน้ำอาบท่า ก่อนจะกลับมารวมกันที่วัดอีกครั้งเวลาประมาณ 2 ทุ่ม เพื่อจุดเทียนทำพิธีสมโภชน์พระเจดีย์ทราย มีพระสงฆ์มาสวดให้ศีลให้พรและประกาศรางวัลเจดีย์ทรายสวยงาม นับเป็นประเพณีที่สนุกสนาน และเปี่ยมด้วยบรรยากาศแห่งศรัทธาในตอนท้าย …ใครที่กำลังคิดว่าสงกรานต์นี้จะไปไหน เราอยากให้ลองแวะมาที่วัดตะปอนใหญ่สักครั้ง

ขอขอบคุณ งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

Relate Place

News

Amazing Beach Life Festival

ททท. จัดเต็ม Amazing Beach Life Festival ปักหมุดที่แรกจังหวัดระยอง เสิร์ฟความสนุกปลุกกระแสท่องเที่ยวไทยช่วงกรีนซีซั่น

News

ททท. จัดเต็ม “Amazing Food Festival 2024” ปักหมุดจังหวัดภูเก็ต ชูเสน่ห์อาหารไทย ปลุกกระแสการเดินทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร

ททท. จัดเต็ม “Amazing Food Festival 2024” ปักหมุดจังหวัดภูเก็ต ชูเสน่ห์อาหารไทย ปลุกกระแสการเดินทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร

News

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 : เปิดรายชื่อครั้งที่ 2 กับ 30 ศิลปินชั้นนำผ่านแนวคิด “รักษา กายา (Nurture Gaia)”

เปิดรายชื่อ 30 ศิลปินชั้นนำ
ปลุกกระแสวงการศิลปะไทย ด้วยผลงานภายใต้แนวคิดใหม่ “รักษา กายา (Nurture Gaia)”
24 ตุลาคมนี้ ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2568