“ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป” เป็นความหมายของคำว่า “สงกรานต์” สมัยที่ยังเชื่อกันว่าโลกเป็นแกนตั้งของจักรวาล มนุษย์กลุ่มหนึ่งสังเกตหมู่ดาว ๑๒ ราศีบนท้องฟ้าที่หมุนเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา พวกเขาพบว่าการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่ราศีหนึ่งนั้นกินเวลา ๑ เดือน และเรียกช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มเคลื่อนเข้าสู่หมู่ดาวว่าเป็นช่วง “สงกรานต์เดือน”ตามปรกติ กลางวัน-กลางคืนของทุกวันกินเวลาไม่เท่ากัน หน้าร้อนกลางวันยาว หน้าหนาวกลางวันสั้น  แต่มีอยู่วันหนึ่งช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ความมืดและความสว่างมีเวลาเท่ากัน วันนั้นก็คือ “วันมหาสงกรานต์” วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนสู่กลุ่มดาวแกะหรือราศีเมษ

 เป็นช่วงที่พื้นที่ที่อยู่เหนือเขตร้อนของโลก รวมทั้งตอนเหนือของอินเดีย กำลังเปลี่ยนจากฤดูหนาวไปสู่ฤดูใบไม้ผลิ ดอกไม้ใบหญ้าและสัตว์ต่างๆ ที่เคยจำศีลก็กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ชาวอินเดียจึงถือเอาช่วงเวลานี้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ดินแดนอุษาคเนย์รวมทั้งประเทศไทยก็ยึดถือตามในอดีตประเทศไทยมีการคำนวณกันปีต่อปีว่าวันมหาสงกรานต์จะตกในวันใด แต่ใน พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้มีการกำหนดให้ วันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปีเป็นวันมหาสงกรานต์ ทั้งนี้ให้เป็นวันหยุดราชการ และ “วันครอบครัว” ด้วยทุกภาคของไทยยกเว้นภาคใต้ 

ช่วงมหาสงกรานต์จะตรงกับช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว เหมาะเป็นช่วงทำบุญใหญ่ในรอบ ๑ ปี นับเป็นเวลาที่จะได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ดีๆ  แต่ละท้องถิ่นจึงมีการทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นสิริมงคล การละเล่นสนุกสนานเฉลิมฉลองศักราชใหม่ปัจจุบันแม้วันเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษจะเป็นหลังวันที่ ๑๓ เมษายน และวันขึ้นปีใหม่ของไทยปรับเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ มกราคมตามสากล ทว่าคนไทยก็ยังคงจดจำว่าวันมหาสงกรานต์กลางเดือนเมษาเป็นวันปีใหม่ของไทย

ร่วมงานแห่สลุงหลวง เมืองลำปาง

มาเที่ยวงานสงกรานต์ที่เมืองลำปาง ได้ทั้งนมัสการพระแก้วดอนเต้าอันศักดิ์สิทธิ์ และได้ร่วมในงานแห่สลุงหลวงพระแก้วดอนเต้าเป็นพระพุทธรูปหินสีเขียวมรกตปางสมาธิ ศิลปะแบบเชียงแสน ขนาดหน้าตักกว้าง ๖.๕ นิ้ว สูงจากฐานแก้วถึงเศียร ๘.๕ นิ้ว  พระพุทธรูปที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวลำปางองค์นี้มีตำนานเกี่ยวเนื่องกับแตงโม จึงเป็นที่มาของนาม “พระแก้วดอนเต้า” (เต้า เป็นภาษาเหนือ แปลว่าแตงโม)ส่วนสลุงหลวงก็คือขันใบใหญ่ (สลุง แปลว่าขัน  หลวง แปลว่าใหญ่) ทำด้วยเงินแท้ หนัก ๓๘ กิโลกรัม หรือ ๒,๕๓๓ บาท มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๘๙ เซนติเมตร สูง ๔๙ เซนติเมตร  ชาวลำปางร่วมกันสร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๓๓ จากเงินบริจาคจำนวน ๔๓๒,๓๙๘ บาท  

ในงานแห่นี้สลุงหลวงจะบรรจุน้ำขมิ้น น้ำส้มป่อย สำหรับสรงน้ำพระพุทธรูปไว้เต็มเปี่ยมงานสงกรานต์ที่นี่เริ่มวันที่ ๑๒ เมษายน โดยจะมีการอัญเชิญพระแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ประดิษฐาน ณ หอพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง อ. เกาะคา ออกร่วมในขบวนแห่สลุงหลวงขบวนแห่จะเคลื่อนผ่านสองฝั่งฟากถนนที่ประดับประดาด้วยตุงและดอกไม้หลากสีดูตระการตา  

ชาวลำปางทั้งชายหญิงที่เฝ้ารอสรงน้ำพระพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองล้านนา  เสียงดนตรีพื้นเมืองทั้งเครื่องสายและเครื่องเป่าบรรเลงอย่างไพเราะ  จุดหมายของขบวนคือบริเวณเทศบาลเมืองลำปาง สถานที่ที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองขึ้นประดิษฐานชั่วคราวให้ชาวบ้านได้สักการบูชาและนำน้ำจากสลุงหลวงรดสู่ลำรางไหลเนื่องลงสรงองค์พระอันศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณงานยังมีการแข่งขันตีก๋องปู่จาด้วย  ก๋องปู่จา หรือกลองบูชา ประกอบด้วยกลอง ๔ ใบ  กลองใบใหญ่เรียกว่ากลองหลวง มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑ เมตร ยาว ๑.๕ เมตร  นอกนั้นเป็นกลองใบเล็กอีก ๓ ใบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๖๐-๘๐ เซนติเมตร  การตีก๋องปู่จานี้ตีเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยสมกับการเฉลิมฉลองรับปีใหม่ที่จะมาถึง

ขอบคุณภาพจากงานประชาสัมพันธ์ เทศบาลนครลำปาง 

ชมขบวนแห่นกแห่ปลาคนมอญพระประแดง

ใครที่พลาดจากงานสงกรานต์ที่อื่น ก็มาเที่ยวงานสงกรานต์ของชาวมอญ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ กันได้เป็นที่รับรู้กันว่า พระประแดง อำเภอหนึ่งของ จ. สมุทร-ปราการนั้น เป็นถิ่นฐานของชาวมอญกลุ่มใหญ่ที่บรรพบุรุษมาตั้งรกรากกันตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ โดยตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้ตลาดสดเทศบาลพระประแดงในปัจจุบันช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขนบประเพณีอันเข้มแข็งของชาวมอญพระประแดงเริ่มขึ้น ๑ วันก่อนวันมหาสงกรานต์  ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อต้อนรับศักราชใหม่  

หนุ่มสาวแต่ละบ้านจะพากันทำกะละแมและข้าวเหนียวแดงซึ่งเป็นของกินคู่ชุมชนคนมอญมานมนาน ตระเตรียมไว้ต้อนรับญาติมิตรที่เวียนกันมาเยี่ยมเยียน ทั้งนี้ช่วงเวลาการทำขนมนับหลายชั่วโมงถือเป็นช่วงที่หนุ่มสาวจะได้พูดคุยสนุกสนานรื่นเริงด้วยเมื่อถึงวันมหาสงกรานต์ ๑๓ เมษายน ชาวมอญจะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อทำพิธีส่งข้าวแช่ หรือ “ข้าวสงกรานต์” ซึ่งทำเตรียมไว้แล้วตั้งแต่เมื่อคืน  ข้าวแช่ส่วนหนึ่งจะนำมายังศาลเพียงตาที่สร้างขึ้นในบริเวณบ้านเพื่อบูชาท้าวมหาสงกรานต์ จากนั้นจะรีบนำข้าวแช่อีกส่วนไปที่วัดโปรดเกศเชษฐารามเพื่อถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ก่อนออกบิณฑบาตในวันเดียวกันนี้จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐาน ณ มณฑปวัดโปรดเกศฯ  หลังจากนั้นจึงเป็นการสรงน้ำพระภิกษุ  ชาวมอญสรงน้ำพระโดยรินน้ำสรงให้ไหลไปตามรางไม้ที่เรียกว่ารางรด  รางรดนี้ต่อยาวลงไปยังพระภิกษุที่นั่งอยู่ในห้องปะรำกั้นสี่ด้านอย่างมิดชิด

หลังเสร็จสิ้นงานพิธีจึงเข้าสู่งานรื่นเริง  จะเล่นน้ำหรือจะเดินเที่ยวชมการละเล่นของชาวมอญอย่างการเล่นสะบ้าที่จัดกันตามวัดในหมู่บ้านก็ได้ ทั้งยังมีการขับร้องทะแยมอญให้ชมด้วยแต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่พลาดงานสงกรานต์ซึ่งจัดตามที่ต่างๆ ในช่วงวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ถัดมาอีกราว ๑ สัปดาห์หลังวันมหาสงกรานต์ ที่ อ. พระประแดงแห่งนี้ยังมีงานสงกรานต์ชาวมอญให้เที่ยวชมในงานจะมีขบวนอัญเชิญหงส์ สัญลักษณ์สำคัญของชาวมอญ ออกแห่แหน พร้อมพรั่งด้วยริ้วขบวนธงตะขาบ มีนางสงกรานต์ และขบวนสาวมอญนับสิบนับร้อยแห่นกแห่ปลามาพร้อมกัน  ในริ้วขบวนมีแตรวงและการขับร้องทะแยมอญสร้างความครื้นเครงทุกปีมีผู้คนเข้าร่วมอย่างล้นหลาม ทาง อ. พระประแดงจึงปิดเส้นทางจราจร อำนวยความสะดวกให้ผู้มาร่วมงานเดินเล่นเดินชมได้อย่างเพลิดเพลินแม้งานนี้จะจัดเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานบันเทิงและเพื่อการท่องเที่ยว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงกลิ่นอายวัฒนธรรมชาวมอญให้คนต่างถิ่นผู้ไปเยือนได้สัมผัสอยู่

ขอบคุณภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

งานบุญแห่งการรวมใจก่อพระทรายใน “วันไหล” บางแสน

การก่อพระทรายหรือเจดีย์ทราย ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติคู่กับวันสงกรานต์มาช้านานในอดีตผู้คนมีกิจที่จะต้องเข้าออกวัดอยู่เสมอ จึงเชื่อกันว่าปีหนึ่งๆ ตนได้เหยียบทรายติดออกไปจากวัดเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ก็ถือเป็นวาระอันดีที่จะขนทรายกลับมาคืนวัด โดยนำกลับมาในรูปของการก่อเจดีย์ทรายตกแต่งด้วยธงหลากสีสันถวายเป็นพุทธบูชา  บางท้องถิ่นเชื่อว่า ถ้าก่อเจดีย์ทรายครบ ๘๔,๐๐๐ กองตามจำนวนพระธรรมขันธ์ จะยิ่งได้บุญมาก  บางแห่งก็เชื่อว่ายิ่งก่อมาก ทรัพย์สินเงินทองจะยิ่งไหลมาเทมาและสำหรับคนตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี หรือชาว “บางแสน” นั้น 

ประเพณีขนทรายเข้าวัดของพวกเขานับเนื่องมาจากช่วงวันสงกรานต์กลางเดือนเมษายนอันเป็นช่วงปลายฤดูร้อนย่างเข้าฤดูฝน ในอดีตผู้คนจะชักชวนกันไปขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน โดยขุดทรายที่ถูกซัดมาติดตามห้วยหนองคลองบึงเมื่อฝนฤดูก่อน ก่อเป็นกองทรายและถวายเป็นพุทธบูชาการร่วมแรงร่วมใจนี้ก่อให้เกิดประโยชน์สองทาง กล่าวคือ กองทรายเมื่อถวายวัด ทางวัดก็มีทรายสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ จะบูรณะซ่อมแซมสิ่งใดก็ไม่ต้องไปซื้อหา  ขณะเดียวกันเมื่อชาวบ้านขุดลอกให้ทางน้ำไม่ตื้นเขิน พอเข้าสู่ฤดูฝนน้ำท่าก็จะไหลสะดวกไม่ท่วมเจิ่งนองจนพืชผักที่ปลูกไว้เสียหาย  ชาวตำบลแสนสุขปฏิบัติเช่นนี้ต่อเนื่องมาจนเกิดเป็นประเพณี “งานก่อพระทรายวันน้ำไหล” ในช่วงสงกรานต์ แล้วเลยเรียกวันสงกรานต์ว่า “วันไหล”

ปัจจุบันแม้ความจำเป็นของการขนทรายเข้าวัดจะมีน้อยลง แต่ชาวบางแสนยังต้องการรักษาแนวคิดของการร่วมมือร่วมใจไว้ จึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการชักชวนให้ประชาชนร่วมกันก่อเจดีย์ทรายเข้าประกวดทุกปีเมื่อถึงเย็นวันที่ ๑๖ เมษายน ชายหาดบางแสนจะคึกคักเป็นพิเศษ  ผู้เข้าร่วมประกวดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือก่อกองทรายและหาของมาประดับตกแต่งให้สวยงาม  

การประกวดแบ่งเป็นประเภทต่างๆ เช่น ประเภทประชาชนทั่วไป โรงเรียน หรือหน่วยงาน โดยให้เวลาก่อเจดีย์ทรายข้ามคืนไปถึงเจ็ดโมงเช้าของวันรุ่งขึ้น  ในระหว่างนั้นบนเวทีก็จะมีคอนเสิร์ตเพลงลูกทุ่งให้ความบันเทิงตลอดคืน บรรยากาศจึงสนุกสนานเพลิดเพลินสำหรับทั้งคนก่อเจดีย์ทรายและคนมาเที่ยวชมเช้าวันรุ่งขึ้นจะมีการทำบุญตักบาตรและพิธีสรงน้ำพระบริเวณชายหาด จากนั้นจะฟื้นความทรงจำครั้งอดีตด้วยการละเล่นพื้นบ้านสมัยคุณตาคุณยายยังเยาว์ อย่างมอญซ่อนผ้า วิ่งกระสอบ รวมถึงมวยทะเลแล้วก็มาถึงช่วงที่กรรมการเริ่มตัดสินการประกวดก่อเจดีย์ทราย  มีเจดีย์ทรายนับร้อยเรียงรายไปตามชายหาดจนสุดสายตา เป็นรูปสัตว์บ้าง รูปทรงอันพิสดารบ้าง รวมทั้งรูปที่งามอย่างคลาสสิก พาให้ต้องชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์และความเพียร

ส่วนรางวัลที่มอบให้ผู้ประกวดก็พิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์และความสวยงามนอกจากการก่อพระทราย อีกหนึ่งมรดกความร่วมแรงร่วมใจที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันก็คือการช่วยกันกวน “ข้าวเปียก” หรือกะละแม ซึ่งต้องอาศัยแรงคนนับสิบกว่าจะได้กะละแมเนื้อเหนียวนุ่มอร่อยสำหรับแจกจ่ายให้ผู้ร่วมงานได้ชิมถ้วนหน้ามาเที่ยวสงกรานต์วันไหลบางแสน จะได้ทั้งอิ่มท้อง อิ่มบุญ และอิ่มใจกับแก่นแท้ของงานก่อพระทรายวันน้ำไหลไปเก็บเกี่ยวความสุขเติมใจตัวเอง แล้วอย่าลืมกลับมาหาโอกาสรวมใจแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้สังคมส่วนรวม ความตั้งใจดีๆ ของคนโบราณจะได้ไม่สูญหายไปกับกาลเวลา

ขอบคุณจากวิชาการ เทศบาลเมืองแสนสุข

ถนนข้าวสาร ต้นฉบับความมันวันสงกรานต์

ถนนข้าวสาร ย่านบางลำพู กรุงเทพฯ เลื่องชื่อในความสนุกสนานของวันสงกรานต์ จนขอยกให้เป็น “ตัวแม่” แห่งความสนุกสุดๆ ของขาโจ๋

ในวันสงกรานต์กิจกรรมที่ ถ. ข้าวสารเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ ๑๒ เมษายน ด้วยการทำบุญตักบาตร หลังจากนั้นเป็นการสรงน้ำพระหลวงปู่ข้าวสารซึ่งอัญเชิญมาในช่วงวันสงกรานต์เท่านั้น ต่อด้วยการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่  ช่วงค่ำมีการประกวดเทพีสงกรานต์นานาชาติ  ขอบอกว่ากิจกรรมนี้เหมือนเวทีประกวดนางงามจักรวาลเลยทีเดียว เพราะเต็มไปด้วยสาวต่างชาติกว่า ๒๐ ประเทศเข้าร่วมประกวด 

ส่วนวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายนจะเป็นการเล่นน้ำกันแบบชุ่มฉ่ำกายใจ พร้อมกิจกรรมเล่นเกมแจกของรางวัลและการแสดงคอนเสิร์ตจากเหล่าศิลปินมีชื่อระดับประเทศปัจจุบันความสนุกสนานในวันสงกรานต์ไม่จำกัดอยู่เฉพาะบนถนนข้าวสารซึ่งมีความยาวเพียง ๔๐๐ ม. เท่านั้น เพราะมีผู้คนมาร่วมงานเนืองแน่นมากขึ้นทุกปีๆ พื้นที่การเล่นน้ำจึงขยายไปถึงบริเวณสี่แยกคอกวัว ถ. ราชดำเนิน ย่านบางลำพู ย่าน ถ. วิสุทธิกษัตริย์ และย่านสวนสันติชัยปราการ ถ. พระอาทิตย์ด้วยจาก ถ. ข้าวสาร ก่อนแพร่กระจายไปทั้งประเทศ !เมื่อถนนรุ่นพี่อย่าง ถ. ข้าวสารในกรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จในการจัดงานสงกรานต์ ถนนรุ่นน้องในหลายจังหวัดจึงถืออุบัติขึ้นเป็นการเฉพาะกิจสำหรับช่วงสงกรานต์ โดยใช้ “ข้าว” มาตั้งเป็นชื่อถนนเช่นกัน

ถนนข้าวเหนียวสุดยอดวันสงกรานต์เมืองหมอแคน

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ “ถนนข้าวเหนียว” ก็อุบัติขึ้นใน จ. ขอนแก่น ตามรอย ถ. ข้าวสารในกรุงเทพฯ  ถ. ข้าวเหนียวนี้คือ ถ. ศรีจันทร์ มีความยาวประมาณ ๑ กม. เริ่มจากศาลหลักเมืองไปจนถึงสี่แยกเตียวฮง หรือบริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  งานสงกรานต์บนถนนสายนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๘ จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายนงานพิธีเริ่มด้วยการสรงน้ำพระพุทธพระลับจำลอง พระคู่เมืองขอนแก่นการทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่  ส่วนงานรื่นเริงก็มีการแสดงต่างๆ ทั้งดนตรี หมอลำ รำวงย้อนยุค มีศิลปินดารานักร้องจากค่ายต่างๆ มาร่วมแสดงด้วย  ด้านอาหารการกินนั้น มีซุ้มอาหารพื้นบ้านอีสานให้เปิบฟรีแซบฟรี  และสุดยอดของงานสงกรานต์ก็คือการเล่นน้ำที่หนุ่มสาวชาวขอนแก่นต่างพากันหอบขัน กะละมัง ถังน้ำ มาร่วมเล่นกันอย่างครึกครื้น แล้วถ. ข้าวเหนียวก็มีชื่อดังเปรี้ยงปร้างติดลมบน ด้วยคลื่นมหาชนล้นหลามจนกลายเป็น “คลื่นมนุษย์” (human wave) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กระทั่งได้รับการบันทึกจาก “พิพิธภัณฑ์ริบลี่ส์ เชื่อหรือไม่”ในประเทศไทยเมื่อสงกรานต์ปีที่ผ่านมา 

ขอบคุณภาพจากทีมงานเครือข่ายประชาสัมพันธ์ เทศบาลนครขอนแก่น

สงกรานต์เจียงใหม่ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจ้า”

สงกรานต์ จ. เชียงใหม่ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวมาร่วมงานอย่างล้นหลาม  ช่วงการจัดงานนั้นอยู่ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน  ศูนย์กลางของงานอยู่ที่ประตูท่าแพ  มีการทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หลังจากนั้นก็เป็นการเคลื่อนขบวนแห่พระพุทธรูปและขบวนแห่นางสงกรานต์ที่มีการประดับตกแต่งขบวนรถอย่างสวยงามขบวนแห่พระพุทธรูปนี้

ชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวต่างเฝ้ารอคอย เพราะจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากวัดต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่มาให้ประชาชนได้สักการะ หนึ่งในนั้นคือพระพุทธสิหิงค์จากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ที่ชาวเชียงใหม่ให้ความเคารพนับถือมาแต่โบราณการเล่นน้ำสงกรานต์จะกระจายอยู่ตามถนนรอบคูเมืองเชียงใหม่ รวมถึงย่านเศรษฐกิจการค้า  บรรยากาศสนุกสนานครื้นเครงทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ

Relate Place