โบ๊กเกี้ยศาลเจ้าพ่อหนู ร้านเก่าแก่คู่ชาวบางลำพู

แสงแดดที่แผดเผาร่างกายในช่วงยามบ่ายช่างบั่นทอนความตั้งใจในการเดินชมบ้านชมเมืองในวันหยุดสุดสัปดาห์เสียเหลือเกิน “ไปกินโบ๊กเกี้ยดับร้อนกันเถอะ” คำเชื้อเชิญของเพื่อนร่วมทางในครั้งนั้นที่ชวนกันไปแวะพักข้างทางเพื่อหลบร้อนและเติมความสดชื่นจากขนมหวานแบบชาวจีนโบราณ

โบ๊กเกี้ยขนมหวานในน้ำเชื่อมที่มีน้ำแข็งบดวางอยู่ด้านบน คล้ายๆ น้ำแข็งใสในปัจจุบันที่เราต่างคุ้นเคยกันดี หลายคนอาจเคยทานแต่อาจจะเรียกขานไม่ถูกด้วยความเป็นคนนอกวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นชินกับชื่อขนมในภาษาจีน

ของดีริมคลองบางลำพู

คลองบางลำพูอยู่ที่ไหน? เผื่อไปกันไม่ถูก คลองบางลำพูก็คือชื่อหนึ่งของคลองรอบกรุงที่ขุดมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส. พลายน้อยได้อธิบายถึงการขุดคลองรอบกรุงนี้ว่า หลังจากการสถาปนากรุงเทพฯ โดยรัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่า คลองคูเมืองเดิมครั้งกรุงธนบุรีนั้นอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง ควรทำคูเมืองให้ห่างไกลออกไปอีกชั้นหนึ่ง ตั้งแต่ต้นคลองและปลายคลองออกแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองข้าง เป็นคลองยาวถึง 85 เส้น 13 วา กว้าง 10 วา ลึก 5 ศอก เมื่อขุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พระราชทานชื่อว่า “คลองรอบกรุง”

ด้วยความที่เป็นคลองใหญ่ และมีความยาวรอบกรุง ชาวบ้านจึงได้กำหนดชื่อเรียกใหม่เพื่อเข้าใจกันเองโดยเรียกขานตามย่านที่สำคัญในแบบชาวบ้าน ตั้งแต่ปากคลองวัดบางลำพู หรือวัดสังเวชฯ ไปจนถึงวัดสระเกศเรียกว่า “คลองบางลำพู” และตั้งแต่วัดสระเกศไปออกยังวัดบพิตรภิมุขเรียกว่า “คลองวัดเชิงเลน” หรือคลองวัดตีนเลน

ต่อมาเมื่อสร้างสะพานหันขึ้นเปลี่ยนมาเรียกว่า “คลองสะพานหัน”  แต่ต่อมาบริเวณปากคลองวัดเชิงเลนกลายเป็นตลาดร้านค้า มีคนขายถ้วยชาม และมีชาวมอญนำเครื่องปั้นดินเผาพวกโอ่งอ่างบรรทุกเรือมาจอดขายจึงเรียกว่า “คลองโอ่งอ่าง”

ริมคลองบางลำพู หรือย่านบางลำพูในอดีตเคยเป็นแหล่งการค้าเก่าแก่ของพระนคร ชวนให้นึกหาของอร่อยเก่าแก่ที่จะตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้

ภายใต้เงาของตัวอาคารสูงสองชั้นของศาลเจ้าพ่อหนู เดินเลาะเข้าไปในตรอกซอกซอยเล็กๆ เลียบคลองมีร้านโบ๊กเกี้ยเก่าแก่คู่ย่านบางลำพูมาอย่างยาวนาน เราเองก็ผ่านไปผ่านมาบ่อยๆ แต่ไม่เคยได้แวะ มาครั้งนี้ต้องลองเสียแล้ว

คุณวารุณี ทิพานวกุล เจ้าของร้าน บอกเล่าความเก่าแก่ของร้านให้เราฟังว่า “ร้านน่าจะมีอายุราวๆ เกือบสี่สิบปีแล้ว เป็นกิจการของที่บ้าน ขายมาตั้งแต่รุ่นพี่สาว คือคุณกันทิมา อัครธรรมากุล โบ๊กเกี้ยสูตรไหหลำของเรานี้ขายอยู่ในละแวกนี้ เมื่อก่อนอยู่ข้างหน้า ตอนหลังเข้ามาอยู่ข้างในนี้”

เจ้าของร้านผู้ใจดีก็เล่าพลางตักโบ๊กเกี้ยหอมๆ เย็นๆ มาเสิร์ฟให้ที่โต๊ะ พักความเหนื่อยล้า หลบแดดร้อนมาทานของหวานอร่อยๆ หลบมุมวุ่นวายของรถราบนถนน นั่งชมคลองพูดคุยกันไปเพลินๆ ช่างรื่นรมย์

โบ๊กเกี้ย ของว่างชูกำลังและดับกระหาย

โบ๊กเกี้ยเป็นหนึ่งในมรดกขนมหวานยามร้อนของชาวจีนใต้ โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนไหหลำ ฮ.ศุภวุฒิ จันทสาโร กล่าวในหนังสือเรื่อง หอเจี๊ยะตึ้ง ตำนานอาหารจีนว่า ตำนานการกินโบ๊กเกี้ยที่เป็นของว่างในตอนนี้มาหลังทีหลัง เดิมทีนั้นเป็นอาหารบำรุงยามศึกสงคราม พร้อมยังกล่าวต่อไปอีกว่า “ในไหหลำแท้ไม่มีคำว่าโบ๊กเกี้ย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำย่อ มาจากเช็งโบ๊เหลี่ยว กับบัวะเกี้ย”

นอกจากนี้ยังปรากฏขนมในลักษณะเดียวกันนี้คือธัญพืชแช่ในน้ำเชื่อม ชาวกวางตุ้งเรียกว่า “ถ่องเส๋ย” ส่วนชาวแต้จิ๋วเรียกว่า “ทึงจุ้ย”

“โบ๊กเกี้ยคืออะไรคะ” เราถามเจ้าของร้านไปตรงๆ ด้วยความไม่รู้  “นี่ไง ตัวเส้นขาวๆ” คุณวารุณี เจ้าของร้านตอบให้หายสงสัย อ่อ..เจ้าเส้นขาวๆ เหนียวๆ นุ่มๆ นี่เองคือพระเอกความอร่อยของขนมถ้วยนี้ ที่ต้องถามให้ชัดเพราะในถ้วยนี้ประกอบด้วยหลายสิ่งมากๆ ไล่ไปจากโบ๊กเกี้ยที่เพิ่งเอ่ยถึง ต่อมาคือเส้นเหลืองๆ ใสๆ ที่หลายคนเข้าใจผิดว่านี่หรือป่าวนะคือเส้นโบ๊กเกี้ย แต่ความจริงไม่ใช่นี่คือเหลี่ยงฮุ้นต่างหาก

ส่วนต่อไปคือส่วนประกอบจำพวกธัญพืช ได้แก่ ถั่วแดง เมล็ดบัว แปะก๊วย และเพิ่มเติมความอร่อยด้วยเฉาก๊วย วุ้นมะพร้าว และมัน ที่ร้านนี้มีน้ำเชื่อมสองแบบให้เลือกคือ น้ำลำไย และน้ำตาลทรายแดง รสและกลิ่นก็แตกต่างกันออกไปเล็กน้อยแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน โปะด้วยน้ำแข็งบดละเอียดให้ความเย็นชื่นใจหายเหนื่อยสมคำร่ำลือในราคาถ้วยละ 30 บาท ทั้งกินทั้งห่อตามธรรมเนียม เมื่อพบของอร่อยก็ย่อมถึงคนที่บ้านด้วย หอบหิ้วส่งต่อความอร่อยกันไปตามระเบียบ

ตำราขนมบำรุงเพิ่มกำลังของชาวจีนโบราณถูกส่งทอดมายังคนจีนรุ่นปัจจุบันที่เดินทางเข้ามายังเมืองไทย เป็นขนมหวานคลายร้อนที่ช่างเหมาะเจาะกับการพักจากความเหนื่อยล้าของแดดช่วงกลางวันในกรุงเทพฯ ได้ดียิ่งนัก นั่งรับประทานข้างศาลเจ้าและริมคลองยิ่งได้บรรยากาศเพิ่มอรรถรสความอร่อย

อ้างอิง

ส. พลายน้อย. ชื่อเสียงเรียงนาม แม่น้ำลำคลอง. มติชน: กรุงเทพฯ. 2555.

ฮ. ศุภวุฒิ จันทสาโร. หอเจี๊ยตึ้ง: ตำนานอาหารจีน. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป.2560

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest

Info

โบ๊กเกี้ยศาลเจ้าพ่อหนู

ที่ตั้ง ริมคลองบางลำพูฝั่งเดียวกับศาลเจ้าพ่อหนู

เปิด 10:30 – 16:00 น.

โทร 089-696-4422

Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

Relate Place

Travel

ออกเรือตามหายักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลอ่าวไทย

ในช่วงปลายฤดูฝนที่สายฝนตกพรำๆตลอดวัน เป็นช่วงเดียวกันกับที่น้ำจากแม่น้ำพัดพาแร่ธาตุจากแผ่นดินใหญ่ลงสู่ชายฝั่งทะเล เหล่าลูกปลาทั้งหลายจึงทยอยกันมาพร้อมหน้าบริเวณปากแม่น้ำสำคัญของอ่าวรูปตัว ก บริเวณอ่าวไทย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง หรือปากแม่น้ำเพชรบุรีบริเวณอ่าวบางตะบูน จึงทำให้ยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลไทยอย่างวาฬบรูด้าเข้ามาอวดโฉมนับสิบตัวให้กับนักท่องเที่ยวที่ลงเรือออกมาเยี่ยมชมท้องทะเลไทย

North

กำแพงเพชร

กำแพงเมืองสร้างด้วยศิลาแลง เป็นกำแพงขนาดใหญ่มั่นคงแข็งแกร่งประดุจเพชร เป็นที่มาของชื่อจังหวัดนี้ จ. กำแพงเพชร มีที่เที่ยวธรรมชาติ วัด ของกิน และของฝากมากมาย

Coffee

“กาแฟคุณพ่อ” จากกาแฟโบราณรุ่นพ่อสู่โรงคั่วเมล็ดกาแฟสดรุ่นลูก

“ตอนนี้ไม่ใช่แค่กาแฟคั่วเข้ม คั่วกลาง คั่วอ่อนแล้ว แต่ตอนนี้คนสนใจเรื่องกลิ่นมากขึ้น อุปกรณ์ที่ใช้ก็เริ่มหลากหลาย อุปกรณ์ต้องเริ่มเปลี่ยนพร้อมๆ เมล็ดกาแฟ เพราะลูกค้าไม่อยากกินแบบเดิมๆ แล้ว เมื่อไลฟ์สไตล์คนต่างกัน เราจึงต้องมีเมล็ดกาแฟหลายตัวเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในทุกๆ เจน (gen) ถ้าแบ่งงานกันผมเป็นคนทำธุรกิจ ส่วนแฟนผมทำกาแฟ” วรพล ภัคสุขชัย หรือ ปิง หนุ่มวัย 34 ปี ผู้สนับสนุนภรรยาในการสานต่อความฝันที่อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟต่อจากคุณพ่อ