คนรักทุเรียนไม่ควรพลาดกับทุเรียนร้อยสายพันธุ์ ที่ “สวนบ้านเรา”

ทุเรียน เจ้าของสมญา “ราชาผลไม้” น่าจะครองอันดับหนึ่งผลไม้ในดวงใจใครหลายคน 

ฤดูกาลแห่งผลไม้ปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชวน “นายรอบรู้” ไปเที่ยวชมของดีในภาคตะวันออก เราไปพบกับ “สวนบ้านเรา” สวนทุเรียนในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง จึงอยากแนะนำคนรักทุเรียนทุกท่านให้รู้จัก เจ้าของบอกว่าสวนทุเรียนของเขาเป็นสวนระดับพรีเมียม เพราะรวบรวมทุเรียนสายพันธุ์ไทยไว้มากถึง 111 สายพันธุ์ มีทุเรียนพันธุ์ยอดนิยมรสชาติเยี่ยมอย่างหมอนทอง ชะนี ก้านยาว รวมไปถึงทุเรียนอร่อยราคาแพงอย่างหลงลับแล หลินลับแล ก้านยาวเมืองนนท์ นอกจากนี้ยังมีทุเรียนพันธุ์หายาก เช่น พวงมณี นมสด ชมภูบาน กบสุวรรณ และอีกนานาพันธุ์ให้ลองชิม ชนิดที่คุณอาจได้ชิมทุเรียนเหล่านี้แค่ครั้งเดียวในชีวิต!

กิจกรรมแรกที่มาถึงคือการนั่งรถไปชมสวน ทำความรู้จักกับทุเรียนพันธุ์ต่างๆ คณะของเรามีคุณย้ง-ขจร พฤฒิสุขนิรันดิ์ หนึ่งในเจ้าของสวนเป็นผู้ให้ความรู้ สวนบ้านเรามีพื้นที่ราว 100 ไร่ ตลอดทางมีทุเรียนพื้นบ้านที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยๆ เช่น ทุเรียนพันธุ์ห้าลูกไม่ถึงผัว ที่นำพันธุ์มาจากบางขุนนนท์ แค่ชื่อก็การันตีความอร่อยแล้ว ทุเรียนย่ำมะหวาด ทุเรียนกลิ่นอ่อนพันธุ์ที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงโปรด พวงมณี ทุเรียนพื้นถิ่นประจำภาคตะวันออก มีเนื้อสีจำปา รสมัน หวานแหลมลึก ทุเรียนกบซ่อนกลิ่นที่มีกลิ่นอ่อนมาก แต่รสชาติหวานอร่อย ฯลฯ คุณย้งบอกอีกว่าแต่ละพันธุ์มีวิธีการดูแลที่ต่างกัน ดังนั้นกว่าจะมาเป็นสวนแห่งนี้ได้ไม่ง่ายเลย 

สวนบ้านเราเกิดขึ้นจากความคิดร่วมกันของพี่น้องที่อยากอนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์ที่กำลังจะล้มหายตายจากไป  และต้องการให้คนรักทุเรียนได้ลิ้มลองรสชาติที่แท้จริงของทุเรียนพันธุ์หายากเหล่านั้น พวกเขาใช้เวลา 2 ปี รวบรวมพันธุ์ทุเรียนจากที่ต่างๆ เช่น ไปขอพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชจันทบุรี บางทีก็ไปขอจากเพื่อนบ้าน หรือตามหาพันธุ์แท้ถึงที่เช่นเมืองนนท์ ลับแล ปัจจุบันมีทุเรียนที่ปลูกอยู่ 111 สายพันธุ์ ซึ่งน่าจะเป็นสวนของเอกชนที่มีความหลากหลายของพันธุ์ทุเรียนมากที่สุดในประเทศไทย

ว่ากันว่าทานทุเรียนให้อร่อยต้องถูกจังหวะ ช่วงเดือนเมษายนทุเรียนพวงมณีออกเยอะทางสวนจึงจัดบุฟเฟ่ต์พวงมณี ราคาหัวละ 300 บาท ส่วนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงมิถุนายน กลางถึงท้ายฤดูกาลผลไม้นี้ คือเวลาของทุเรียนหมอนทอง หมอนทองครองใจคนรักทุเรียนส่วนใหย่มายาวนาน เพราะเนื้อละเอียด รสหวานพอดี กินแล้วไม่เรอ ที่สวนบ้านเรามีกว่า 100 ต้น จึงจัดบุฟเฟต์หมอนทองให้กินได้ไม่อั้น ในราคาเบาๆ แค่คนละ 200 บาท ที่นี่เน้นหมอนแก่จัดเพราะรสชาติดี ว่ากันว่ายิ่งท้ายฤดูกาลหมอนทองยิ่งอร่อย จริงหรือเปล่าต้องมาลองชิม ทุเรียนกวนของที่นี่ก็อร่อย ไม่หวานเกินไปและไม่ใส่สารกันบูด ชาวบ้านลงแรงกวนเองจึงกล้ารับประกันคุณภาพ นอกจากนั้นยังมีทุเรียนระดับ “ซุปตาร์” ที่อร่อยไม่แพ้ต้นฉบับ เช่น ก้านยาวเมืองนนท์ หลงลับแล หลินลับแล

ยิ่งไปกว่านั้น หากมีทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านหายากออกพอดี ก็จะมีให้นักท่องเที่ยวได้ลองชิม ซึ่งทั้งความหอม ความมัน ความหวาน ไปจนถึงรสสัมผัสของเนื้อจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ เรียกว่าชิมทุเรียนกันเหมือนชิมไวน์เลยทีเดียว พวกเราลองชิมหลายพันธุ์แล้วติดใจทุเรียนชมภูบานมากกว่าเพื่อน

ถ้าเกิดถูกใจทุเรียนต้นไหนสามารถจองล่วงหน้าข้ามปีไว้ได้ ที่สำคัญสวนนี้เขากล้ารับประกันคุณภาพทุกลูก หากแกะออกมาแล้วอ่อนหรือแก่เกินไปรีบส่งภาพหลักฐานมา ชาวสวนจะส่งลูกใหม่ไปให้โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม รู้อย่างนี้แล้วต้องลองหาโอกาสแวะมาลอ้มลองรสชาติของราชาผลไม้ ที่สวนบ้านเราสักครั้ง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

สวนบ้านเรา โทร. 08-1804-4169, 08-1864-6533 www.facebook.com/suanbanrao, www.suanbanrao.com

การเดินทาง : ใช้เส้นทางสายบ้านบึง-แกลง สาย 344 ถึงหลัก กม.93 ให้ชิดขวาแล้วกลับรถ จากนั้นชิดซ้ายเข้าซอยบ้านน้ำโจน 1 ประมาณ 800 ม. จะถึงสวน

Relate Place

News

ททท. เปิดตัว “โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน”

ททท. เปิดตัวกิจกรรมสุดว้าว ภายใต้ “โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน” ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ตรงใจนักท่องเที่ยว

เริ่มแล้ว! ททท. จัดเต็มแสง เสียง กับงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร” ดึงเทคโนโลยีล้ำสมัย สะท้อนศิลปะและความเชื่อคนไทย ใน 3 พื้นที่แลนด์มาร์ก กรุงเทพมหานคร
News

ททท. จัดงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร”

เริ่มแล้ว! ททท. จัดเต็มแสง เสียง กับงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร” ดึงเทคโนโลยีล้ำสมัย
สะท้อนศิลปะและความเชื่อคนไทย ใน 3 พื้นที่แลนด์มาร์ก กรุงเทพมหานคร

News

เปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ กรุงเทพมหานครถึงพระนครศรีอยุธยา

ททท. ร่วมกับหอการค้าไทย เดินหน้าเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ กรุงเทพมหานครถึงพระนครศรีอยุธยา หวังกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ สู่การท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน