ร่วมงานบุญจุลกฐิน@แม่แจ่ม

ถ้ามาแม่แจ่มตรงงานบุญจุลกฐิน ราวเดือนพฤศจิกายน จะสัมผัสถึงพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ งานจุลกฐินของแม่แจ่มจะเรียกว่า “กฐินแล่น” หรือ “กฐินละเอียด” มีประเพณีว่าต้องรีบทอผ้ากฐินสำหรับใช้ทอดให้เสร็จในวันเดียว จึงต้องใช้ผู้คนชำนาญในการทอผ้าจำนวนมาก

ย้อนไปตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษาชาวบ้านได้เริ่มทำแปลงปลูกฝ้ายที่ลานข้างโบสถ์กะเวลาให้ต้นฝ้ายแตกปุยขาวพอดีเมื่อถึงวันงาน โดยก่อนหน้าวันงานหนึ่งวัน เรียกว่า “วันดา” ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัด เพื่อจัดเตรียมงาน ตกแต่งแปลงฝ้าย สร้างรั้ว ซุ้มประตูทางเข้าให้สวยงาม  บรรดาแม่ญิงทั้งเด็กสาวและแม่อุ๊ยก็มาช่วยกันเก็บดอกฝ้ายเพื่อนำมาปั่นเป็นด้ายสำหรับทอผ้า โดยร่วมกันทำผ้ากฐินในเต็นท์ใหญ่ที่ตั้งในบริเวณวัด เริ่มตั้งแต่การ “อีด” เอาเมล็ดฝ้ายออก แล้วนำมา “ก๋ง” หรือ “ดีด” ด้วยกงดีดฝ้ายให้แตกตัวฟูสวย จากนั้นนำปุยฝ้ายไป “ล้อ”  โดยวางปุยฝ้ายเป็นแผ่นบนกระดานใช้ไม้ล้อคลึงเป็นแท่งกลมยาว “เข็น” ให้เป็นเส้นใย ด้วยอุปกรณ์คล้ายกงล้อที่ เรียกว่า หลา ปั่นหมุนฝ้ายเป็นเส้นใย จึงนำเส้นฝ้ายเข้าไม้เปียทำเป็นไจหรือปอย จากนั้นนำไปใส่กงเพื่อกวักเส้นด้ายแล้วปั่นหลอด เพื่อจัดใส่กี่ทอเป็นผืนผ้า ทุกขั้นตอนแม่ญิงเมืองแจ่มจะช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผลัดเวียนกันไปตามกำลังที่ตนมี พอใครเหนื่อยก็มีคนมารับช่วงต่อ ทำกันตั้งแต่สายจนเกือบรุ่งสาง

ในช่วงเย็นหลังจากอาทิตย์ลับขอบฟ้าบริเวณวัดก็เต็มไปด้วยแสงไฟและความครึกครื้น หลายครอบครัวออกมาร่วมงานที่วัด ชมการฟ้อนรำและฟังสะล้อซอซึงที่ขับกล่อมภายในงาน หนุ่มสาวพากันลอยโคม เด็ก ๆ สนุกกับการเล่นดอกไม้ไฟ ส่วนพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยบางคนก็เข้าวิหารร่วมพิธีสวดมนต์ บางคนร่วมกวน “ข้าวมธุปายาส” หรือ “ข้าวทิพย์” เพื่อถวายในวันรุ่ง พอได้เวลาก็มีการเลี้ยงขันโตกทั้งชาวบ้านและแขกผู้มาเยือนต่างล้อมวงกิ๋นข้าวแลงกันอย่างอบอุ่น  กระทั่งผืนผ้าฝ้ายแต่ละกี่เสร็จก็นำมารวมกัน บรรดาแม่ญิงช่วยกันตัดเย็บเป็นไตรจีวร ก่อนนำไปย้อมเป็นจีวรสีฝาด แล้วนำไปทอดในวันรุ่งขึ้น

ก่อนถึงเวลาฤกษ์ในรุ่งเช้าชาวบ้านที่อยู่ที่วัดมาทั้งคืนต่างทยอยกลับบ้านไปอาบน้ำแต่งองค์ทรงเครื่องมาร่วมขบวนแห่ที่บ้านท้องฝาย พ่ออุ๊ยพากันสวมเสื้อผ้าฝ้ายสไตล์ล้านนา ส่วนแม่ญิงเมืองแจ่มต่างพากันสวมผ้าซิ่นตีนจกเอกลักษณ์ของแม่แจ่ม เกล้ามวยผมปักปิ่นทองเหลืองโบราณ แทรมดอกไม้สด บ้างเป็นดอกกล้วยไม้ ดอกเอื้อง ดอกบัวตอง ดอกลีลาวดี ตามแต่จะหยิบฉวยได้จากริมรั้วบ้านเข้าร่วมขบวน

เสียงฆ้อง กลอง ฉาบ กรับ โหม่ง ดังขึ้นพร้อมลีลาการฟ้อนของนางรำ ตามด้วยขบวนองค์กฐิน และแม่ญิงในชุดผ้าซิ่นตีนจกร่วมฟ้อนรำมาในขบวนแห่อย่างสนุกสนาน เมื่อขบวนเข้าสู่บริเวณวัด ก็เดินแห่รอบวิหาร 3 รอบก่อนเข้าสู่ตัววิหารเพื่อทอดผ้ากฐินต่อพระสงฆ์เป็นเสร็จพิธี  งานจุลกฐินถือเป็นงานบุญที่ต้องใช้ความสมัครสมานสามัคคีที่แฝงไว้ด้วยพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ที่ชาวแม่แจ่มยังคงดำรงรักษาขนบประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามไว้จวบจนปัจจุบัน

หลังงานบุญจบลง แม่แจ่มกลับสู่โลกที่แสนสงบเงียบเรียบง่าย ผู้คนยังคงดำเนินวิถีชีวิตไปตามจังหวะเวลา เมืองลับแลที่เคยซ่อนเร้น ได้เผยโฉมให้ใครหลายคนได้มาทำความรู้จักเมืองงามท่ามกลางหุบเขา ณ เมืองแม่แจ่ม

Info

จุลกฐิน แม่แจ่ม

“กฐิน” และ “จุลกฐิน” “กฐิน” แปลตามศัพท์ว่า  ไม้สะดึง คือกรอบไม้หรือไม้แบบสำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร และผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน เมื่อสิ้นเทศกาลออกพรรษาตามวัดต่างๆ จะเตรียมงานรับกฐินจากพุทธศาสนิกชน ที่ต้องทำบุญกฐินให้เสร็จภายใน ๑ เดือน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ เรียกว่าเทศกาลกฐินหรือกฐินกาล ส่วนจุลกฐิน ต้องใช้ผู้คนจำนวนมากและต้องชำนาญในการทอผ้ากฐินให้เสร็จสำหรับทอดผ้าในวันเดียว คนโบราณจึงเรียกกฐินรีบด่วนนี้ว่า “กฐินแล่น” หรือ “กฐินละเอียด”

Previous
Next

Guide ใกล้ : Application คู่ใจคนชอบท่องเที่ยวตัวจริง

Guide ใกล้ เหมือนมีไกด์ไว้ใกล้ตัว
Application นี้จะช่วยแนะนำว่า ตำแหน่งรอบตัวเรามีที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของ ที่พัก หรือสถานที่จุดใดน่าแวะไปสัมผัส ชิม ช็อป แชะ แชร์ พร้อมกิจกรรมเด่นประจำเดือน แผนที่ลงจุดใช้งานง่าย ดูสนุกและสะดวก แค่ดูภาพสวยๆ ก็อยากไปแล้ว

Writer/ Photographer

พรเพ็ญ วงศ์ศุภชัยนิมิต

พรเพ็ญ วงศ์ศุภชัยนิมิต

Relate Place

News

ททท. เปิดตัว “โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน”

ททท. เปิดตัวกิจกรรมสุดว้าว ภายใต้ “โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน” ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ตรงใจนักท่องเที่ยว

เริ่มแล้ว! ททท. จัดเต็มแสง เสียง กับงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร” ดึงเทคโนโลยีล้ำสมัย สะท้อนศิลปะและความเชื่อคนไทย ใน 3 พื้นที่แลนด์มาร์ก กรุงเทพมหานคร
News

ททท. จัดงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร”

เริ่มแล้ว! ททท. จัดเต็มแสง เสียง กับงาน “วิจิตร 5 ภาค @กรุงเทพมหานคร” ดึงเทคโนโลยีล้ำสมัย
สะท้อนศิลปะและความเชื่อคนไทย ใน 3 พื้นที่แลนด์มาร์ก กรุงเทพมหานคร

News

เปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ กรุงเทพมหานครถึงพระนครศรีอยุธยา

ททท. ร่วมกับหอการค้าไทย เดินหน้าเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ กรุงเทพมหานครถึงพระนครศรีอยุธยา หวังกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ สู่การท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน